ปรัชญาสโตอิกเพื่อชีวิตอยู่ดีมีสุข

ปรัชญาสโตอิกเพื่อชีวิตอยู่ดีมีสุข

ปรัชญาสโตอิก ปรัชญากรีกยุคโบราณสำนักหนึ่ง เหมาะสำหรับเป็นแนวทางการใช้ชีวิตในยุคโรคระบาดโควิด และช่วยให้ชีวิตคลายทุกข์ และมีความสุขเพิ่มขึ้น

ปรัชญาสโตอิกเสนอว่ามนุษย์เราควรพัฒนาภูมิปัญญา ความสามารถในเรื่องเหตุผลของมนุษย์ให้ดีที่สุด ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและมีเกียรติสำหรับตนเองและคนอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะภูมิปัญญาที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี (Practical Wisdom) ความรู้ว่าอะไรคือดี อะไรคือเลว อะไรคืออยู่กลางๆ อะไรที่จะนำเราไปสู่ชีวิตที่ดีมีความสุข มีความหมาย

ภูมิปัญญาหรือความดีเลิศ/คุณธรรม (Virtue) ที่สำคัญที่สุด มี 4 ด้าน คือ ภูมิปัญญา ความยุติธรรม ความกล้าหาญ และความมีวินัยในตนเอง

อิปิคเตตัส (ค.ศ. 55-135)  ครูสอนปรัชญาสโตอิกผู้เคยเป็นทาสมาก่อน เสนอหลักการเชิงปฏิบัติ 3 ข้อ เพื่ออธิบายวิธีการที่ชาวสโตอิกจะบรรลุเป้าหมายที่จะใช้ชีวิตที่ดี มีความสุข มีความหมาย

  1. หลักการเรื่องการปรารถนาสิ่งที่ดีและรังเกียจ หลีกเลี่ยงสิ่งที่เลว และวางเฉยต่อสิ่งที่เป็นกลาง ไม่ดีหรือเลวโดยตัวมันเอง (Indifferent)

ปรารถนาในความรู้สึก/อารมณ์ที่ดี ยินดีในสิ่งที่มีเหตุผล ไตร่ตรองอย่างสุขุม รักปรารถนาดีต่อผู้อื่น  สิ่งที่เราควบคุมพัฒนาได้ เราเป็นผู้เลือกกระทำได้ มุ่งแสวงหาปัญญาและความดีเลิศ/คุณธรรมอื่นๆ ได้

หลีกเลี่ยงความรู้สึก/อารมณ์ที่เลว คือหลีกเลี่ยงการกลัวและความปรารถนาที่ไร้เหตุผลมากเกินไป ไม่เป็นธรรมชาติหรือไม่เกิดสุขภาวะ(Unhealthy) เช่น ความโง่เขลา การไม่รู้จักอดกลั้น ความไม่ยุติธรรม ขี้ขลาด

วางเฉยต่อสิ่งที่เป็นกลาง (Indifferent) คือสิ่งที่เป็นเรื่องภายนอก เช่น ชีวิต ตำแหน่ง สถานภาพ ชื่อเสียง ความรวย ความจน ความสำราญและความเจ็บปวด สุขภาพและความป่วยไข้ ที่โดยทั่วไปแล้วตัวเราเองควบคุมไม่ได้

  1. หลักการการทำตามหน้าที่หรือสิ่งที่ถูกต้องในแง่ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในการให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ เท่าที่ชะตากรรมหรือธรรมชาติสภาพภายนอกเปิดโอกาสให้เราทำได้
  2. หลักการเกี่ยวกับการคิดและการยอมรับการพิจารณาและประเมินค่าสิ่งต่างๆ ว่าอะไรดีหรือเลว หรือเป็นกลาง และอะไรที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตดีมีสุขตามหลักคิดของสโตอิก ก่อนที่จะยอมรับว่ามันเป็นเรื่องจริงและมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยเจตจำนงของเราในสิ่งที่เราสามารถที่จะควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ หลีกเลี่ยงที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี และยอมรับสิ่งที่เกิดจากสภาพภายนอก (ชะตากรรม) ที่เราไม่สามารถควบคุมเปลี่ยนแปลงมันได้ ด้วยความสงบนิ่งไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้าย

ปรัชญาสโตอิกมองว่าการที่คนส่วนใหญ่มองว่าเรื่องภายนอกที่โดยทั่วไปแล้วเราควบคุมไม่ได้ เช่น เรื่องความมั่งคั่ง อำนาจ ชื่อเสียง และความมุ่งมาดปรารถนาที่จะให้ได้สิ่งเหล่านี้มา คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่คิด/เชื่อแบบนั้นเกิดความข้องใจและความทุกข์ เมื่อเขาไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการหรือได้สิ่งเหล่านั้นมาน้อยกว่าที่ตนอยากได้

 

การตระหนักยอมรับว่าบางเรื่องเกิดจากปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา

สิ่งที่ชาวสโตอิกถือว่าเป็นกลาง ไม่ใช่ดีหรือเลว ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อความสุข ความทุกข์ของเรา เป็นเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่น่าสนใจ (Inditferent) คือเรื่องที่เกิดมาจากปัจจัยภายนอก ที่ความคิด จิตใจของคนเรา ไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมได้ เช่น เรื่องชีวิตและความตาย ชื่อเสียงในทางที่ดีและในทางที่เลว ความสุขสำราญและความเจ็บปวด ความร่ำรวยและความยากจน สุขภาพและการเจ็บป่วย

เราควรมีท่าทีเฉยๆ เป็นกลางต่อสิ่งเหล่านี้ คือถ้าเราได้มาในเรื่องที่เป็นบวก น่าเลือกมากกว่า เช่น ความร่ำรวย ชื่อเสียงที่ดี เราก็ยอมรับ แต่ไม่ลิงโลด หรือถ้าเราได้มาในเรื่องที่เป็นลบ เช่น ความยากจน การเจ็บป่วย เราก็ไม่จำเป็นต้องเสียใจหรือเป็นทุกข์จนเกินเหตุ เพราะเรื่องเหล่านี้ที่เกิดมาจากปัจจัยภายนอกที่ตัวเราเองควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้ คือความคิดจิตใจของเรา ว่าจะตีความและตอบรับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

ปัจจัยภายนอกนั้นไม่สำคัญในแง่ที่ว่า ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อความสุขหรือทุกข์ของเรา ในเชิงหลักเหตุผล ปรัชญาสโตอิกไม่ได้ปฏิเสธชีวิตสะดวกสบายทางวัตถุหรือสุขภาพที่ดี ชาวสโตอิกมองเห็นว่าสุขภาพที่ดี ความมั่งคั่ง ย่อมน่าเลือกมากกว่าสุขภาพที่ไม่ดี และความยากจน โดยเฉพาะคนที่ฉลาดก็ย่อมใช้สิ่งที่น่าเลือกมากกว่าให้เป็นประโยชน์ได้ เพียงแต่พวกเขามองแบบไม่ยึดติดกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่ตัวเราเองไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ และไม่ให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้ถึงขั้นต้องใช้ชีวิตเพื่อให้ได้สิ่งที่น่าเลือกมากกว่าเหล่านั้นมา โดยแลกกับภูมิปัญญาและคุณธรรมของตัวเราเอง นั่นก็คือ เราต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้อย่างมีวิจารณญาณ มีเหตุผล มีขอบเขตที่เหมาะสม

เราควรทำตามหน้าที่หรือแสดงพฤติกรรมอย่างมีเหตุผลเหมาะสม ตามสมควรในแต่ละสถานการณ์ อิปิคเตตัสอธิบายว่า การกระทำที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์คือ 1. ดื่มและกินเท่าที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ 2. แต่งกายเท่าที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ 3. มีคู่ครองและมีลูก 4. ดำเนินชีวิตเยี่ยงพลเมืองที่รับผิดชอบในสังคม 5. อดกลั้นต่อคำคูหมิ่นและพฤติกรรมโง่เขลาอย่างที่คนที่มีความดีเลิศ/คุณธรรม แม้ว่าสิ่งที่คนอื่นทำต่อเรานั้นจะไม่ฉลาดและไม่มีคุณธรรมก็ตาม

จะเยียวยาความทุกข์ได้อย่างไร

ปัญหาความทุกข์ ความเครียด วิตกกังวลของมนุษย์มาจากความกลัวและความมุ่งมาดปรารถนา (กิเลสตัณหา) ที่ไร้เหตุผล ขาดสุขภาวะ และมากเกินพอดี ตัวอย่างเช่น มนุษย์มีกิเลสตัณหาอยากได้ความสุขสำราญ ความมั่งคั่ง อำนาจ ชื่อเสียง ฯลฯ เพราะพวกเขาคิด/ตัดสินใจอย่างผิดพลาดว่า สิ่งที่ฉาบฉวยเหล่านี้มีเป็นสิ่งที่ดี ช่วยเหลือ หรือเป็นที่ต้องการ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปัจจัยภายนอกที่ไม่มีผลโดยตรงที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขได้อย่างแท้จริง การที่คนคนหนึ่งไปลุ่มหลงอยากได้สิ่งเหล่านี้มากแล้วไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าที่อยากได้ กลับมีผลทำให้คนคนนั้นเกิดมีความทุกข์ขึ้นได้

การที่คนส่วนใหญ่ขาดความสำเร็จในชีวิตและจิตใจที่สงบ ก็เพราะว่าพวกเขามีความคิดที่สับสนและขัดแย้งกันภายในตัวเอง มนุษย์เราวิ่งไล่ตามภาพลวงตาของความสุข ที่ประกอบด้วยส่วนผสมของลัทธิหาความสำราญจากการเสพการบริโภค การนิยมหลงใหลวัดถุสิ่งของ การหลงตัวเอง มีคำนิยมหลายอย่างที่บ้าๆ บอๆ ทำลายตนเอง อันเป็นผลมาจากการหลงมองโลกแห่งความโง่เขลาที่อยู่รอบตัวเรา

มนุษย์เราสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน ที่จะควบคุมกระบวนการคิด/เลือกตัดสินใจเพื่อส่งเสริมชีวิตที่มีสุขภาวะ มีความหมายได้ นักจิตวิทยาแนวบวกในยุคใหม่ช่วยยืนยันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่ามนุษย์ เราสามารถฝึกฝนกระบวนการคิด/การเลือกตัดสินใจ เพื่อสร้างชีวิตแบบอยู่ดีมีสุขได้

(จากหนังสือ วิทยากร เชียงกูล. ปรัชญาชีวิต แง่คิดและคำปลอบโยน. แสงดาว, 2562)