ยิ่งจน ยิ่งติด: อย่าให้เหลื่อมล้ำเป็นโรคเรื้อรัง
ช่วงแรกๆของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า โควิดไม่เลือกคนจนคนรวย เพราะทุกคนมีโอกาสติดเท่ากัน
บทความโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล
แต่เมื่อโควิด-19 ยิ่งอยู่นาน คำพูดที่ว่าข้างต้นก็เริ่มจะไม่จริงขึ้นทุกที เพราะวันนี้ข้อมูลของประเทศต่างๆทั่วโลกกลับเริ่มทำให้เห็นว่า คนจนกับคนรวยนั้นมีโอกาสการติดเชื้อไม่เท่ากัน และโอกาสการตายก็ไม่เท่ากันด้วย
คนบางคนนั้นอาศัยอยู่ในบ้านหรือห้องเล็กๆ ที่ต้องอยู่รวมกันหลายคน การเว้นระยะห่างนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ภาพมุมสูงจากโดรนที่ถ่ายทำในหลายประเทศเผยแพร่ในโลกโซเชียลทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างพื้นที่ติดกันระหว่างคฤหาสน์ของมหาเศรษฐีคนหนึ่งกับชุมชนแออัดที่มีชาวเมืองมากมายอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ ทางเดินแคบๆเหล่านั้น ภาพเส้นแบ่งความเป็นความตาย เส้นแบ่งของคนมีเงินกับคนไม่มีเงิน แบ่งกันที่ถนนบางสาย แม่น้ำบางสาย เป็นภาพที่สะท้อนใจยิ่งนัก
ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีจำนวนคนจนมากก็มีข้อสังเกตว่า ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิตมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การป้องกันการแพร่ระบาดทำได้ยาก ทั้งนี้เพราะประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมักมีการอยู่อาศัยของกลุ่มคนรายได้น้อยอยู่รวมกันในชุมชนแออัด และความแออัดของพื้นที่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การระบาดของโควิด-19 แตกต่างกับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ประเทศที่มีคนจนน้อย อาทิ สวีเดน เริ่มมีคนตั้งข้อสังเกตถึงการเสียชีวิตของคนที่ลดลง กับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตรวมถึงระบบสวัสดิการที่ดี
กลุ่มคนเปราะบางในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบ และต้องเผชิญความเสี่ยงสูงเช่นกัน ความพยายามในการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นเป็นมาตรการที่ทำได้ยากยิ่งสำหรับคนที่มีรายได้น้อย เพราะบางครอบครัวอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆร่วมกัน แม้แต่โอกาสในการจองฉีดวัคซีนที่ดูเหมือนจะเท่าเทียมแต่หากมองลึกๆแล้ว คนที่รายได้น้อยไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือการสื่อสาร โอกาสในการลงทะเบียนจองวัคซีนแบบออนไลน์นั้นไม่มี
นอกจากนี้การล็อกดาวน์ การจำกัดเวลาการเปิดกิจการ ทำให้ธุรกิจกิจการสภาพเศรษฐกิจซบเซา ครอบครัวกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมของรัฐ การเดินทางเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ยากขึ้น คนหาเช้ากินค่ำตกงาน ขาดรายได้ การแบ่งเงินเพื่อหาซื้อหน้ากากอนามัยป้องกันตนเองลดความเสี่ยงในการติดเชื้อก็ทำได้ยากเช่นกัน
กลุ่มเด็กเปราะบาง หรือเด็กที่มีฐานะยากจนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาก เด็กฐานะยากจน เด็กชายขอบจะไม่สามารถเข้าถึงได้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ เพราะการเรียนออนไลน์นั้นมีต้นทุน และต้นทุนชีวิตของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เด็กบางคนจะมีมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือไอแพดเรียนออนไลน์ได้อย่างไรในเมื่อครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้นหาเช้ากินค่ำ ในยามปกติเด็กกลุ่มนี้ยังต้องพึ่งพานมและอาหารกลางวันจากโรงเรียนเพื่อให้มีระดับโภชนาการที่ดีเสียด้วยซ้ำ
ผลกระทบดังกล่าวหลายๆ ประเด็นมีความสอดคล้องและเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากกับดักความเหลื่อมล้ำ วงจรที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสังคมไทย ความเหลื่อมล้ำในสังคมทำให้คนบางกลุ่มที่เข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น บริการสาธารณสุขและการศึกษาได้ยากกว่าคนกลุ่มอื่น ในบางประเด็นไม่ได้เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้นหากแต่เป็นประเด็นปัญหาเดิมที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติม ยิ่งทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ชัดเจนขึ้น ทำให้เห็นว่าความแตกต่างของโอกาสในชีวิตของคนที่เริ่มต้นต่างกัน และความพร้อมความสามารถในการรับมือวิกฤติก็ต่างกันด้วยเช่นกัน
การออกแบบระบบตาข่ายทางสังคม (Social Safety Net) เพื่อช่วยประคอง รองรับคนในยามทุกข์ยาก ตกที่นั่งลำบาก ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากทั้งในยามสถานการณ์ปกติทั่วไประบบตาข่ายทางสังคมนี้ก็มีความสำคัญ ยิ่งภายในสถานการณ์วิกฤติยิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะอนาคตข้างหน้าประเทศไทยยังจะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการคลัง ความท้าทายจากสังคมผู้สูงอายุที่ทวีความเข้มข้นขึ้น และวิกฤติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะเป็นวิกฤติที่มาเร็วและรุนแรงกว่าโควิด-19 ก็ได้
Social Safety Net ที่จะช่วยรองรับแรงกระแทก บรรเทาแรงกระทบจากความรุนแรงของโควิด-19 ปัญหาที่มีต่อประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน และผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านการเงิน การศึกษา
โควิด-19 กำลังยิ่งทำให้กลุ่มคนเปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งเปราะบางมากขึ้นไปอีก ซึ่งผลกระทบอาจรุนแรงหรือต่อเนื่องไปอีก เช่น คนที่ตกงานแล้วยากที่จะกลับมาหางานได้ เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาแล้วก็ยากที่จะกลับเข้ามาเรียนรู้ได้ใหม่ ทำให้โอกาสในชีวิตเปลี่ยนไป เรื่องนี้เองจึงทำให้ประเทศไทยต้องถือโอกาสนี้สร้างจุดเปลี่ยน สร้างตาข่ายทางสังคมที่คอยช่วยรองรับ
การแก้ปัญหาวางรากฐานเชิงระบบ สร้างระบบตาข่ายทางสังคมที่แข็งแกร่งแน่นหนา และร่วมสร้างอนาคตประเทศไทยให้เดินต่อไปได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสถานการณ์ในวันนี้ทำให้คนรู้สึกถึงโรคระบาดที่มาตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ และรู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำกำลังซ้ำเติมโรคระบาด คนยิ่งจนกลับยิ่งติดเชื้อ อย่าให้ความเหลื่อมล้ำเป็นโรคเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยแบบไม่มีวันรักษาหาย.