ทำได้
หลายท่านเริ่มเหนื่อยล้าจากการปรับตัวและต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่โควิดนำมา และถ้าปล่อยให้จมอยู่กับความรู้สึกนี้นานๆ
จะทำให้ท่านกลับไปทำงาน ใช้ชีวิต หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ยากขึ้น
ในวันนี้ขอเสนอทัศนคติที่ท่านจำเป็นต้องมี เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของตัวท่านเอง ของครอบครัว ขององค์กร หรือของประเทศค่ะ
ทัศนคตินั้นคือ “ทำได้” (Can do)
เมื่อเราทำอะไรซ้ำซากจำเจไปนานๆ จนกลายเป็นกิจวัตร เราอาจจะเกิดความคุ้นชินกับสิ่งเดิมๆ รู้สึกสบายใจ จนอาจจะกลายเป็นความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากความคุ้นชินตรงนั้น สิ่งนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
กิจการเก่าแก่หลายกิจการในโลก ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใด ต้องมีอันล้มหายตายจากไปมากมาย ก็เพราะความคุ้นชินกับความสำเร็จ หรือการดำเนินการแบบเดิมๆ และไม่ยอมรับที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะยาก หรือแปลก หรือไม่เคยทำ
ชีวิตก็เหมือนกันค่ะ หากเราเริ่มต้นด้วยการคิดว่า “ทำไม่ได้” ก็เป็นอันว่าไม่ต้องทำกัน
การมีทัศนคติ “ทำได้” จึงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นหัวใจของการได้ทำและปรับปรุงชีวิต หรือการงาน หรือธุรกิจ หรือแม้แต่ การเมือง ให้ดีขึ้นได้
ดิฉันฟังคำสัมภาษณ์น้องเทนนิส พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดเหรียญทองโอลิมปิกของเรา ที่พูดว่า “อย่าเอาแต่ฝัน ต้องลงมือทำด้วย” แล้วชอบใจมาก เรามีความฝันได้ และควรจะต้องมีด้วย แต่จะนั่งรอนอนรอให้ฝันเป็นจริง คงเป็นไปไม่ได้ เราต้อง “ลงมือทำ” และต้องทำด้วยทัศนคติ “ทำได้”
ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นมาจากซากปรักหักพังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองในยุค 1980 โดยใช้เวลาเพียง 35 ปี
เราเองไม่ได้ถูกระเบิดลง ตึกรามบ้านช่อง อาคารสำนักงานก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่หายไปคืองาน ซึ่งถูกกระทบมากจากการที่ภาคการท่องเที่ยวและเดินทางต้องหยุดชะงักเป็นเวลานาน และช่วงหลังก็กระทบมายังภาคการผลิต และบริการอื่น
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จิตวิญญาณของเราต้องคงอยู่ ต้องเข้มแข็ง ต้องสดชื่น ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับความท้าทายใหม่ๆ และเตรียมที่จะเอาชนะกับความท้าทายนั้น
รัฐต้องลงทุนค่ะ ลงทุนทั้งทางกายภาพ และจ้างคนให้ทำงาน ตั้งเป้าไปเลยค่ะ ว่าสำหรับการท่องเที่ยวนั้น เราจะเป็นศูนย์กลางของ Health and Wellness อันดับหนึ่งของโลก ภายใน10 ปี และเดินหน้าไปในทางนั้น ทุกๆ จุดต้องเน้นมาตรฐานความสะอาด ห้องพัก แหล่งท่องเที่ยว สปา นวดแผนไทย สตูดิโอถ่ายภาพ ร้านอาหาร ศูนย์บันเทิง โรงหนัง โรงละคร สวนสนุก แม้แต่ห้องน้ำสาธารณะ ฯลฯ เน้นสะอาด สว่าง สงบ สดชื่น สวยงาม และพยายามลดการสัมผัสทางกายภาพ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เน้นการกลับสู่ธรรมชาติ เลิกสารปรุงแต่งที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นในอาหาร เช่น สารกันบูด ผงชูรส กรดมะนาว สารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูก เน้นใช้วัสดุหีบห่อที่เป็นธรรมชาติ เน้นการไม่ทำลายทรัพยากร ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ไม่ใช่เตรียมรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างเดียวนะคะ เราต้องเตรียมรับสังคมสูงวัยของเราด้วย ควรสำรวจและนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในจุดที่ช่วยได้ และจ้างคนเป็นผู้ตรวจการ ตรวจทุกอย่างเลยค่ะ มาตรฐานความสะอาด มาตรฐานคุณภาพ และให้การรับรองด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง อาหารการกิน ที่พักอาศัย ที่ทำงาน รถโดยสาร เรือโดยสาร หรือเครื่องบินโดยสาร เรียกได้ว่า ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา จนถึงกลับไปล้มตัวลงนอนในยามค่ำคืน ประเทศไทยจะสะอาดทุกซอกทุกมุม
ดิฉันเชื่อว่า อย่างไรก็ต้องคงมาตรฐานความสะอาดและอนามัยส่วนบุคคลเหมือนที่เราใช้ในช่วงโควิด-19ระบาดไปตลอด เราทำคู่มือมาเยอะแยะ ใช้คู่มือประกอบการอย่างนั้นต่อไป ถือเป็นมาตรฐานใหม่
ในขณะที่เราปรับปรุงและพัฒนาทางกายภาพ เพื่อให้กลายเป็นประเทศที่น่าอยู่นั้น ในด้านคุณธรรม ต้องชำระล้างจิตใจของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทำเมืองไทยให้น่าอยู่ ให้เป็นสวรรค์บนดิน ตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นดินแดนแห่งคุณธรรมจริงๆ สอนให้ทุกคนมีจิตสำนึกที่ดี รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ รู้จักละอายและเกรงกลัวต่อบาป และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ปรับปรุงขบวนการยุติธรรมให้ยุติธรรมจริงๆ การหลอกลวงผู้อื่น การทำร้ายผู้อื่น หรือประสงค์ต่อชีวิตของผู้อื่น ต้องได้รับโทษหนัก ไม่ว่าผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ จะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ และประกาศให้โลกรู้ด้วยว่า เราไม่ต้องการแก้งค์ต่างๆ อยากทำมาหากินพวกนี้ ให้ไปหาประเทศอื่นอยู่
เราสร้างแนวร่วมได้ค่ะ และทำให้แนวคิดกระจายในชุมชน นอกจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแล้ว สังคมที่ดี และผู้คนที่ช่วยเป็นหูเป็นตา จะช่วยให้สิ่งที่วางแผนไว้เป็นจริงได้ง่ายขึ้น
ในขณะเดียวกันก็เปิดรับคนต่างชาติที่เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ ที่อยากมาอยู่ อยากมาทำงาน ให้เข้ามาอยู่ และทำงานได้อย่างสะดวกขึ้น
เรื่องการกวาดล้างคอร์รัปชั่นและปฏิรูประบบยุติธรรมนี้ ให้ดูตัวอย่างจากฮ่องกงในช่วงปี 1970-1990 เขาใช้วิธี สอบสวน ป้องกัน และให้การศึกษา (Investigation, prevention and education) และดิฉันคิดว่าต้องเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้รักษากฎหมายค่ะ
นำเทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรม มาใช้โดยมีเป้าหมายนำมาใช้เพื่อชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ปลอดภัยขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงบริการสาธารณะได้
สร้างความฮึกเหิมให้กับท่านผู้อ่านได้เพียงพอไหมคะ สู้สู้นะคะ เรา”ทำได้” และต้องพยายามทำให้ดีที่สุดค่ะ