เมื่อเศรษฐกิจฟื้น พนักงานจะลาออกกันมากขึ้น?
มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในสหรัฐตั้งแต่เดือน เม.ย. เมื่อเริ่มฟื้นตัวจากโควิดและเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจนี้เรียกว่า The Great Resignation หรือพอจะแปลเป็นไทยแบบฝืนๆ ได้ว่า “การลาออกครั้งมโหฬาร” สถิติและข้อมูลต่างๆ ชี้ว่าพนักงานตามองค์กรต่างๆ ของสหรัฐได้ลาออกจากงานกันเป็นจำนวนมาก (จำนวน 4 ล้านคนในเดือน เม.ย. และ อีก 3.6 ล้านคนในเดือน พ.ค.) ข้อมูลของ Gallup พบว่าร้อยละ 48 ของคนทำงานในสหรัฐกำลังอยู่ระหว่างการหางานใหม่อยู่
นอกจากที่สหรัฐแล้วปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด จากการสอบถามบรรดาพนักงานบริษัทต่างๆ จำนวนกว่า 30,000 คนทั่วโลกของ Microsoft พบว่าร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังคิดจะลาออก การศึกษาลักษณะเดียวกันในอังกฤษและไอร์แลนด์พบว่าร้อยละ 38 วางแผนที่จะลาออกภายในอีก 6 เดือนข้างหน้า
เลยเป็นที่สงสัยว่าสำหรับประเทศไทย เมื่อโควิดเริ่มดีขึ้น และเศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้นตัว องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยจะประสบกับปรากฏการณ์เดียวกันหรือไม่ ก็เลยต้องศึกษาต่อไปว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พนักงานอยากจะย้ายงานใหม่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น และพบว่ามาจากสาเหตุหลักสองประการ
ประการแรก มาจากการค้นพบโลกของการทำงานแบบใหม่ที่มาจากโควิด นั้นคือการทำงานจากที่บ้านหรือจากที่อื่นๆ (Work from home / anywhere) โควิดทำให้พบว่าโลกของการทำงานนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบเดิมของการทำงานในออฟฟิศอีกต่อไป
นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานจากบ้านไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานลดลงจากเดิม (ในบางงาน) แถมทำให้ชีวิตมีความยืดหยุ่นและความสุขได้มากขึ้น สามารถสร้างความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดีขึ้น
มีงานศึกษาหนึ่งที่พบว่า พนักงานหนึ่งในสามจะลาออกเลย ถ้าถูกบังคับให้กลับเข้าทำงานที่สำนักงานตลอดเวลา ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านหรือทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid - สลับระหว่างทำงานที่บ้านและเข้าออฟฟิศ) ได้อีกต่อไป
พนักงานจะรู้สึกว่าการต้องกลับเข้าออฟฟิศตลอดเวลาเหมือนอดีต จะทำให้สิ่งดีๆ หลายอย่างที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่บ้านหายไป เช่น การได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น การไม่ต้องผจญกับรถติด หรือ การได้ออกกำลังกายในระหว่างวัน เป็นต้น นอกจากนี้การกลับเข้าออฟฟิศตลอดเวลาก็ยังนำไปสู่ภาวะที่ไม่น่าพิสมัยแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการเมืองในที่ทำงาน การซุบซิบนินทา หรือ การต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบหน้ากัน เป็นต้น
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อโควิดดีขึ้นและผู้บริหารหลายบริษัทเริ่มประกาศและบังคับให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ อัตราการลาออกถึงสูงขึ้น
สาเหตุประการที่สอง มาจากการปฏิบัติ (หรือไม่ปฏิบัติ) ขององค์กรต่อพนักงานในช่วงสถานการณ์โควิด ช่วงวิกฤติโควิด เป็นโอกาสดีที่พนักงานจะได้รับรู้ว่าเจ้านายตนเองและบริษัทมีความเอาใจใส่ในตัวพนักงานเพียงใด บริษัทใดที่ไม่ได้ดูแลในเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ หรือ คอยช่วยเหลือพนักงานที่ประสบปัญหา แถมยังทำให้พนักงานต้องมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อ (บางบริษัทยังคงให้พนักงานเข้าทำงานที่ออฟฟิศทุกวันอยู่ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศให้ WFH) เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น พนักงานก็จะมองหาโอกาสที่จะย้ายไปอยู่กับบริษัทที่ดูแลเอาใส่ใจพนักงานแทน
สรุปคือในช่วงโควิดและเมื่อโควิดเริ่มคลี่คลายนั้นจะเป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่าบริษัทใส่ใจในพนักงานอย่างแท้จริงหรือไม่ การไม่ดูแลพนักงาน การบังคับให้เข้าออฟฟิศในช่วงแพร่ระบาด รวมทั้งการเร่งรีบบังคับให้กลับเข้าออฟฟิศเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้พนักงานอยากจะลาออก
นอกจากนี้ บริษัทที่ไม่คิดจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในอนาคตและคิดว่ารูปแบบการทำงานทุกอย่างจะต้องกลับมาเหมือนเดิม ก็จะต้องเริ่มคิดพิจารณาใหม่ มิฉะนั้นก็อาจจะเกิดภาวะ Great Resignation กับองค์กรของท่านได้.