เงินบาทผันผวนต่อเนื่อง ...อย่าลืมบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในด้านเศรษฐกิจ
ค่าเงินบาทเองก็มีการเปลี่ยนแปลงที่จัดได้ว่ารุนแรงและมีความผันผวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน โดยในปีนี้เงินบาทปรับอ่อนค่ามากที่สุดในเอเชียจนถึงปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 8.3 ซึ่งในช่วงต้นปีที่ไทยเหมือนจะบริหารจัดการควบคุม COVID-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงการส่งออกที่มีการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ทำให้เงินบาททรงตัวในกรอบ 29.80 ถึง 30.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงสองเดือนแรก และแรงกดดันด้านการแข็งค่าทำให้นักวิเคราะห์หลายๆ แห่งคาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกและอาจจะมองไปถึงระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ ได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทเปลี่ยนทิศทางเป็นอ่อนค่าอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา โดยอ่อนค่าจากระดับ 30 บาท ไปอ่อนค่าสุดถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงกลางเดือน ส.ค. หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 10 ในช่วงภายในระยะเวลาเพียงแค่ 5 เดือนกว่า และเป็นขนาดของการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักจากหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด
หากเรามีภาระผูกผันในรูปของเงินดอลลาร์ ราจะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และจะกระทบกับเรื่องของต้นทุนในการผลิต ผลกำไรรวมถึงการลงทุนของเราด้วย และในขณะที่หลายๆ ส่วนกำลังกังวลกับแนวโน้มการอ่อนค่าอย่างรุนแรง เงินบาทกลับปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางเดือน ส.ค. เป็นต้นมาและกลับมาซื้อขายในระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. หรือแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 2.7 ภายในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ หลังจากแนวโน้มในประเทศเริ่มดีขึ้น และแรงเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ จากความเป็นไปได้ของการผ่อนคลายนโยบายการควบคุมที่เข้มงวดในการจำกัดการแพร่ระบาด รวมถึงการเริ่มฟื้นตัวของหุ้นไทยจากจุดต่ำสุดและปรับตัวกลับมาแตะระดับ 1,600 จุด ทำให้เริ่มดึงดูดแรงเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างประเทศ สะท้อนจากเงินทุนที่ไหลเข้ามายังตลาดพันธบัตรเกือบ 3 หมื่นล้านในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเป็นพันธบัตรระยะสั้นเกือบ 2 หมื่นล้านบาท
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนความไม่แน่นอนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี และจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีภาระผูกพัน รายรับ รายจ่าย หรือการลงทุนในต่างประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่มองไปข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปี ความไม่แน่นอนในเรื่องของเศรษฐกิจและตลาดการเงินก็ยังมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบาย QE Tapering ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจะสร้างความไม่แน่นอนในระยะสั้น สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่อาจจะลดลง เงินเฟ้อที่น่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในสหรัฐฯ สถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในและต่างประเทศ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจไทยเองที่ยังคงมีปัญหาและความไม่แน่นอนในเรื่องของการฟื้นตัว ดังนั้นทิศทางของค่าเงินบาทเองก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก
การคาดคะเนอัตราแลกเปลี่ยนสามารถทำได้ แต่เราต้องตระหนักเสมอว่าตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงแทบจะตลอดเวลาจากปัจจัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ นโยบายการเงินและการคลัง ทั้งภายในและภายนอกเปรียบเทียบกัน ผลตอบแทนสินทรัพย์ต่างๆ เสถียรภาพทางการเมือง รวมไปถึงการเก็งกำไรและปัจจัยทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเงินทุนไหลเข้าไหลออกทั้งในส่วนของเงินค่าสินค้าบริการ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือเงินลงทุนในตราสารทางการเงิน (Portfolio Investment) และส่งผลให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานที่เพิ่มขึ้นลดลงแทบจะตลอดเวลา ดังนั้นหากเราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ และหน้าที่เราไม่ใช่การหาผลตอบแทนจากตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เราอาจจะเลือกที่จะลดความเสี่ยงในส่วนนี้ลงเพื่อจะได้ไม่กระทบกับการทำธุรกิจหรือแม้แต่การลงทุนของเราด้วย
สำหรับเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการบริการกระแสเงินสด เช่น การคงรายรับรายจ่ายให้อยู่ในสกุลเงินเดียวกัน การบริหารจังหวะเวลาของรายรับและรายจ่ายให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด หรือการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อบริหารกระแสเงินสด ซึ่งแบงก์ชาติก็ผ่อนคลายในเรื่องนี้เรื่อยมา หรือหากผู้ประกอบการคุ้นเคยกับตลาดเงินและตราสารอนุพันธ์ก็อาจจะใช้ สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX Forward) หรือ ออปชั่น (FX Options) สำหรับการประกันค่าเงิน ซึ่งทั้งสองแบบจะมีจุดดีและจุดด้อยที่แตกต่างกันในเรื่องของความยืนหยุ่นในการได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น วงเงินที่มีกับธนาคาร จังหวะเวลาของรายรับรายจ่ายของผู้ประกอบการ หรือต้นทุนของการทำธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งทั้งสองแบบสามารถติดต่อธนาคารพาณิชย์ที่ท่านใช้บริการเป็นประจำเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้
โดยการบริหารความเสี่ยงในส่วนนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงด้านราคาในการทำธุรกิจ มีความชัดเจนในการกำหนดราคาขายสินค้า ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า รวมไปถึงรายได้ที่จะได้รับด้วย และจะทำให้การทำธุรกิจมีความราบรื่นมากขึ้นนั่นเองครับ ...