การตลาดสีเขียว เรื่องดีที่ต้องระวัง
การตลาดสีเขียว หนึ่งในเทรนด์ธุรกิจยุคโควิด เมื่อลูกค้าส่วนหนึ่งเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่การเลือกเดินเส้นทางสีเขียวก็มีจุดพึงระวัง
การเลือกเดินเส้นทางสีเขียวโดยไม่คำนึงถึงมิติด้านอื่นของลูกค้า อาจทำให้ลูกค้ารักเราน้อยลงกว่าเดิมก็ได้ ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ หลอดประหยัดไฟของฟิลลิปส์ เพราะมีทั้งเรื่องความผิดพลาดและเรียนรู้เพื่อปรับตัวจนประสบความสำเร็จจนกลายเป็นต้นแบบให้บริษัทอื่นนำไปปรับใช้กับสินค้าของตนเอง
ในปี ค.ศ. 1994 ฟิลลิปส์เปิดตัวหลอดนีออนชื่อว่า “Earthlight” ซึ่งสามารถประหยัดไฟได้มากกว่าหลอดนีออนธรรมดา มีอายุการใช้งานนานขึ้น แต่ด้วยความที่หลอดแบบใหม่นี้มีรูปร่างเทอะทะ ใส่กับโคมไฟทั่วไปไม่ค่อยได้ เลยไม่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากเท่าที่ควร
นอกจากความเทอะทะแล้ว การวิจัยตลาดของฟิลลิปส์ได้ข้อสรุปว่า อีกเรื่องซึ่งเป็นปัญหาคือประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับยังไม่ชัดเจน ฟิลลิปส์สร้างภาพลักษณ์ให้กับหลอดไฟนี้ว่าเป็นหลอดไฟรักษ์โลก วางขายในราคาสูงกว่าหลอดไฟธรรมดา แต่กลับไม่ได้ให้ข้อมูลกับลูกค้าว่าการใช้หลอดไฟแบบนี้ นอกจากจะทำให้เป็นคนดี ช่วยดูแลโลกแล้ว พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรกลับมาจากเงินที่จ่ายเพิ่มไป
ฟิลลิปส์มัวแต่มุ่งโหนกระแสสีเขียวจนหน้ามืด จนลืมไปว่า ประโยชน์ของลูกค้าคือเรื่องสำคัญที่สุด!
บริษัทนำเอาความผิดพลาดนี้มาเป็นบทเรียน เพื่อใช้ในการพัฒนาหลอดไฟชุดใหม่ ในปี ค.ศ. 2000 หลอดไฟรักษ์โลกรุ่นที่สองก็คลอดออกมา คราวนี้บริษัทตั้งชื่อว่า “Marathon” ประสิทธิภาพในด้านการประหยัดไฟของหลอดไฟรุ่นใหม่นี้ได้รับการรับรองจาก U.S. Environmental Protection Agency (EPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คอยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในอเมริกา ที่สำคัญ หลอดไฟรุ่นใหม่นี้หุ่นดีขึ้น สามารถใช้แทนหลอดไฟธรรมดาในโคมไฟที่ใช้กันทั่วไปได้แทบทุกแบบ
คราวนี้ฟิลลิปส์ไม่ยอมพลาดซ้ำสอง ประเด็นการประหยัดไฟถูกใช้เป็นไม้เด็ด นอกจากจะกระตุ้นให้คนรู้สึกดีที่ได้ใช้หลอดไฟประหยัดพลังงานแล้ว จุดเด่นเรื่องการประหยัดไฟและระยะเวลาในการใช้งานที่นานถึง 5 ปี ถูกใช้เป็นตัวชูโรง ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า ถึงต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกนิด ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
พอจับทางถูกแบบนี้ ยอดขายของหลอดไฟรักษ์โลกรุ่นของเลยโตเอาโตเอา โดยเฉลี่ยแล้ว ช่วงสามปีแรกหลังเปิดตัว ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ต่อปีเลยทีเดียว
บทเรียนสำคัญจากหลอดไฟรักษ์โลกนี้ คือ การสร้างแบรนด์ว่าเป็นสินค้าที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการใช้สินค้านั้นด้วย เนื่องจากความคุ้มค่าของประโยชน์ที่เขาจะได้รับเป็นเหตุผลหลักที่ลูกค้าจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้านั้น ถ้าลืมจุดนี้ไป ต่อให้ผลิตสินค้าที่ไม่ส่งผลเสียหายอะไรต่อสิ่งวดล้อมเลย แต่เอาไปใช้แล้วลูกค้าไม่ถูกใจ สุดท้ายก็ขายไม่ออกอยู่ดี
เรื่องนี้คล้ายกับกระเป๋าลดโลกร้อนที่ทำออกมาขายในบ้านเรา จนกลายเป็นกระแสอยู่พักหนึ่งแล้วก็ซาลง เพราะกระเป๋าแบบนี้อาจไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของลูกค้าบางคน
กระเป๋าแบบนี้ไม่ทนทาน บางรุ่นพับเก็บยาก สำหรับคนที่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง การพกกระเป๋าแบบนี้จากบ้านทีละสี่ห้าใบ แล้วโหนรถเมล์ ขึ้นรถตุ๊ก ๆ เพื่อไปซื้อของ มันเป็นเรื่องลำบากอยู่พอสมควร
นอกจากนี้แล้วลักษณะการใช้ประโยชน์ก็ต่างกับในเมืองนอก โดยเฉพาะการไปซื้อของจากตลาดสดบ้านเราที่ไม่ได้มีการบรรจุของสดมิดชิด จะทำกับข้าวทีนึงต้องซื้อของหลายอย่าง ซึ่งต่างกับอาหารที่ไม่ต้องใช้เครื่องเคราอะไรมากมาย เลยไม่มีน้ำหยดติ๋งๆ ให้ออกมาจากถุง พอเขาใช้เสร็จพับเก็บได้เลย ไม่ต้องซักก็ได้ ใช้ไปสักพักพอเริ่มเปื่อยก็ซื้อใหม่ เพราะราคาถุงที่โน่นไม่แพงเมื่อเทียบกับรายได้ของเขา
กระเป๋าบ้านเรานี่ราคาแพงใช่ย่อย บางรุ่นแพงกว่าข้าวแกงจานหนึ่งเสียอีก พอเปื้อนทีก็ต้องกลับมาซักมาล้างกันเพราะซื้อมาตั้งแพง คิดไปคิดมา ค่าเสียเวลา ค่าน้ำค่าผงซักฟอก ก็ตกหลายบาทอยู่เหมือนกัน แถมใช้ทรัพยากรน้ำและซักฟอก ทำให้คนใช้กระเป๋าทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมเสียอีก
ความล้มเหลวในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้านี่แหละ ที่ส่งผลให้กระแสกระเป๋าลดโลกร้อนกลายเป็นกระแสแต่อยู่ไม่ทน
จริงอยู่ที่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน แต่สำหรับคนทำธุรกิจนั้น การทำธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจนทำให้ธุรกิจเสียหาย ทำให้เหมาะกับลักษณะของสินค้าและลูกค้าก็เป็นพอ แล้วค่อยเอากำไรที่ได้มาช่วยเหลือสังคม ดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มทีหลังก็ยังได้.