รถหรูโจ้ Ferrari: มีอะไรมากกว่าที่คิด?
นักวิชาการกลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมฯ หยิบข่าว ‘ผู้กำกับโจ้’ มานำเสนอในประเด็น ‘การฟอกสะอาดรถหรู’ หรือ ‘ซูเปอร์คาร์’ ที่โยงถึงรางวัลนำจับ
ข่าวเรื่องผู้กำกับโจ้ที่กระจายไปต่างประเทศเป็นเรื่องที่นำความเสียหายมาให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก แค่ภาพตำรวจไทยทรมานผู้ต้องหา ไม่ว่าจะมีเจตนาฆ่าหรือไม่ก็ตาม ก็บั่นทอนความเชื่อมั่นศรัทธาของสาธารณะชน ทำลายชื่อเสียงและเขย่าขวัญชาวต่างชาติที่อาจเกรงกลัวที่จะมาท่องเที่ยวหรือลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วฟื้นตัวได้ยากยิ่งขึ้น
เรื่องนี้มีประเด็นให้คิด 3 ประการ คือ (1) การปฏิรูปตำรวจ (2) การแก้กฎหมายและกฎระเบียบ และ (3) ประเด็นที่ยังไม่มีใครกล่าวถึงในสังคม ที่ผู้เขียนขอตั้งชื่อขึ้นเอง ว่า “การฟอกสะอาดรถหรูหรือซูเปอร์คาร์” หรือ “supercar laundering” หรือ “supercar bleaching” เลยทีเดียว
การปฏิรูปตำรวจ
ประเด็นแรกเรื่องการปฏิรูปตำรวจ มีเสียงเรียกร้องจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการปฏิรูปตำรวจนั้นพูดกันมาแทบทุกยุคทุกสมัย ทว่าแทบทุกกรณีใหญ่ เครือข่ายที่กระทำความผิดนั้น ฝั่งรากลึกจนไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมีเจตนาดีเพียงใด ไม่ใช่เป็นเรื่องของนิ้วไหนไม่ดี ปลาตัวไหนในข้องที่เน่า แต่เป็นเรื่องของเครือข่ายที่เกี่ยวพันกันแบบ นาย-ลูกน้อง เพื่อนฝูง และ/หรือเครือญาติ
ตัวอย่างของการปฏิรูปตำรวจที่ฮ่องกงเมื่อ 40 ปีก่อน แสดงให้เห็นว่าต้องกระทำแบบถอนรากถอนโคน คือปลดตำรวจทั้งหมดและนิรโทษกรรม เปิดโอกาสให้กลับเข้ามาทำงานต่อได้โดยลบประวัติการกระทำผิดทุกอย่างในอดีต แล้วเริ่มต้นกันใหม่ด้วยกฎที่เข้มและเอาผิดจริง ผู้ใดไม่สามารถรับกฎหมายใหม่ได้ก็ต้องพ้นสภาพไป
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคนเช่นนี้คงจะยังไม่สามารถกระทำได้ในประเทศไทย
แต่ผู้เขียนก็แอบฝันเล็กๆว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีบ้าง เป็นชนวนให้เกิดการแก้ไข ให้เห็นแสงสว่างเล็กๆที่ปลายอุโมงค์ นั่นคือหากเราแก้ปัญหาที่จุดต่างๆซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาในทุกระบบและภาคส่วนในสังคม น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
การแก้กฎหมายและกฎระเบียบ
ต้นตอของปัญหาประการหนึ่ง คือกฎหมายและระเบียบที่เป็นแรงจูงใจให้กระทำความผิด เพราะเงินสินบนเจ้าหน้าที่และเงินรางวัลผู้ช่วยในการจับกุมเป็นผลสำเร็จ นั้นสูงถึงร้อยละ 55 จากเงินค่าขายของกลางและไม่มีเพดาน ตามระเบียบศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2517 (ซึ่งใช้ก่อนปี 2560) โดยเงินสินบนรางวัลได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
ระเบียบดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น การสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบนและรางวัล พฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำตามหน้าที่ เช่น มุ่งเน้นจับกุมผู้กระทำผิดเฉพาะรายที่มีเงินรางวัลจากเงินค่าปรับสูงๆ ละเลยการจับกุมผู้กระทำผิดที่มีเงินรางวัลต่ำหรือไม่มีรางวัล และการหาประโยชน์จากโทษปรับที่ต่างกันตามฐานความผิด (มาตรา 27 กำหนดให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าแล้ว ส่วนมาตรา 99 กำหนดโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น) แม้ว่าจะได้มีการแก้กฎหมายจนออกมาเป็น พรบ. ปี 2560 แล้วก็ตาม แต่เงินสินบนและรางวัลก็ยังมีอยู่ และปัญหาการทุจริตในลักษณะของการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์ยังไม่ได้รับการแก้ไข
นอกจากนี้ การจ่ายเงินรางวัลตามระเบียบใหม่ยังให้อำนาจใช้ดุลพินิจที่เปิดกว้างมาก ส่วนแบ่งเงินรางวัลข้าราชการนั้น กำหนดให้ระดับอธิบดีได้ 13 ส่วน รองอธิบดีคนละ 11 ส่วน ผู้อำนวยการสำนักและนายด่านศุลกากรคนละ 10 ส่วน ผู้ทรงคุณวุฒิคนละ 12 ส่วน ผู้เชี่ยวชาญคนละ 10 ส่วนเรียงลำดับลงมา เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระเบียบกฎหมายที่มุ่งหวังให้การจ่ายเงินรางวัลเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่สืบเสาะและปราบปรามการกระทำความผิดที่อาจต้องเสี่ยงอันตรายในการจับกุมมิจฉาชีพซึ่งอาจลักลอบขนสินค้ากลางทะเลหรือแนวพรมแดน และเป็นแรงจูงใจไม่ให้รับสินบนจากผู้กระทำความผิดเอง และมารับจากราชการแทน
เหตุผลเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับระดับผู้บริหารแต่อย่างใด ไม่มีเหตุผลใดๆที่ระดับอธิบดี รองอธิบดี และผู้บริหารอื่นๆจะต้องได้รับส่วนแบ่ง แต่กลับเป็นผู้มีอำนาจออกระเบียบและกำหนดให้ตนเองและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานมีสิทธิ์รับเงินรางวัลในสัดส่วนที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในการจับผู้กระทำความผิด ซึ่งในช่วงที่ศึกษาข้อมูล พบว่าผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานอาจได้ส่วนแบ่งเงินรางวัลมากถึง 150 ล้านบาทต่อคนต่อปี จากเงินสินบนรางวัลที่จ่ายไป กว่า 10.34 พันล้านบาท ทั้งนี้ เงินสินบนและรางวัลทั้งหมดเหล่านี้ยังได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
การที่หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจออกระเบียบที่ให้ประโยชน์แก่ตนเองเช่นนี้เข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) และก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมระหว่างหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง อีกทั้งการมีค่าตอบแทนอย่างถูกกฎหมายสูงขนาดนี้ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาการซื้อขายตำแหน่งในวงราชการซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยคุ้นชินอีกด้วย
“การฟอกสะอาดรถหรูหรือซูเปอร์คาร์” หรือ “supercar laundering”
หากเป็นความจริงว่าในช่วงระหว่างปี 2554-2560 มีบุคคลที่อยู่ในชุดจับกุมรถหรูผิดกฎหมาย สามารถจับกุมรถหรูได้ถึง 368 คัน และนำออกประมูลได้ 363 คัน โดยได้รางวัลนำจับบวกกับส่วนแบ่งค่าประมูลโดยไม่จำกัดเพดาน เป็นไปได้ว่าเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท และหากเป็นจริง ก็ไม่น่าที่จะกระทำได้ตามลำพังแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ปลาเน่าในเข่งตัวเดียว หรือนิ้วร้ายนิ้วเดียวอย่างแน่นอน
หากรถหรูเหล่านั้น ซื้อได้ในราคาถูกในประเทศเพื่อนบ้านแล้วลักลอบนำเข้ามา ด่านแรกที่จะเจอคือศุลการักษ์ที่ด่าน หากสามารถผ่านด่านมาได้โดยไม่ถูกจับ ก็ยังจะไม่มีทางที่จะจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมขนส่งทางบกได้อยู่ดี เพราะไม่มีใบสำแดงภาษี นำเข้ามาแล้วจะทำกำไรจากการขายไม่ได้ นอกจากขายให้ค่ายแข่งรถแบบไม่มีทะเบียน
เพราะฉะนั้น กระบวนการจับรถแล้วนำไปสู่การขายทอดตลาดของกรมศุลกากร เป็นขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับมิจฉาชีพ นับว่ากระบวนการจับกุมนั้นกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับ supercar laundering ไม่ใช่ฟอกเงิน แต่ฟอกรถ!
ถ้านำรถเข้ามาเอง ผ่านด่านได้ แล้วแจ้งจับกุมเอง นำรถเข้าสู่กระบวนการจับของเถื่อนของกรมศุลกากร ก็สามารถไปประมูลกลับมาได้ และได้เงินรางวัลอีกด้วย แล้วจะทำกำไรได้หรือไม่อย่างไร แน่ใจได้อย่างไรว่าจะประมูลได้ เรื่องนี้ต้องมีวิธีและจะคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เช่น ร่วมมือกับเจ้าของเต๊นท์รถมือสอง ถอดองค์ประกอบรถบางชิ้นที่สำคัญออก แล้วจึงค่อยไปจับ ส่งรถให้ตำรวจ ให้ศุลกากร เมื่อนำรถออกประมูล ตั้งราคาสูงๆ ก็จะไม่มีใครซื้อเพราะรถขาดองค์ประกอบสำคัญๆ เมื่อจัดประมูลครบ 3 ครั้ง ไม่มีใครประมูลไป ราคาประมูลก็จะกลายเป็นว่าแล้วแต่คนประมูลจะให้ เป็นตลาดของผู้ซื้อ ตามระเบียบของการประมูล พอได้ใบประมูลไปแล้ว ก็เอาองค์ประกอบชิ้นส่วนของรถที่ตัวเองถอดออกไปมาใส่กลับคืน เป็นรถที่สมบูรณ์ นำไปจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย นำออกขายได้ในราคาสูง
กระบวนการนำจับของกรมศุลกากร ถูก hijack ไปเป็นเครื่องมือ “ฟอกรถ” supercar laundering หรือที่ผู้เขียนอยากบัญญัติศัพท์ว่า supercar bleaching เลยทีเดียว ฟอกสิ่งที่ผิดกฎหมายจนขาวสะอาด แถมกำไรและได้เงินรางวัลอีกต่างหาก
การทำลายรถที่ถูกยึดเหมือนในต่างประเทศ จึงเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยประการฉะนี้
กระแสสังคมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปซึ่งจริงๆก็เป็นประเด็นมาเป็นเวลายาวนานแล้ว แต่การปฏิรูปองค์กรใดๆไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีทั้งความกล้าหาญและความมุ่งมั่นของผู้นำประเทศ จะต้องมีแรงสนับสนุนจากสังคมส่วนใหญ่ตลอดจนผู้มีอำนาจและอิทธิพลในวงการต่างๆ และนอกจากนี้ยังจะต้องมีวิสัยทัศน์และความสามารถที่จะทำการปฏิรูปด้วย จะพอมีหวังที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสหรือไม่ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มีหรือไม่แม้จะริบหรี่ก็ตาม
เราจะนำเรื่องนี้มาขับเคลื่อนมาสร้างธรรมาภิบาลในสังคมเราได้หรือไม่
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างจริงจัง
บทความโดย ดร.สิริลักษณา คอมันตร์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
30 สิงหาคม 2564