กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดแข่ง e-sports ในญี่ปุ่น

กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดแข่ง e-sports ในญี่ปุ่น

e-sports เป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตในหลายประเทศ รวมถึงไทย ถึงขนาดที่บางคนกล่าวว่าในอนาคตก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นกีฬาประเภทหนึ่งในโอลิมปิก

ที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการตั้งทีม e-sports มืออาชีพ และมีการจัดตั้งองค์กรเกี่ยวกับ e-sports ที่มีชื่อว่า JeSU หรือ Japan Esports Union เพื่อจัดการแข่งขันและส่งเสริมวงการ e-sports


ในครั้งนี้ เราจะมาดูกันว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นมีประเด็นทางกฎหมายอะไรบ้างที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดการแข่งขัน e-sports โดยเฉพาะการแข่งขันแบบชิงรางวัล ซึ่งการแข่งขัน e-sports บางรายการที่ประเทศญี่ปุ่นมีเงินรางวัลมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านเยน (หรือประมาณ 30 ล้านบาท)

ที่ประเทศญี่ปุ่นมีประเด็นทางกฎหมายที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับการจัดการแข่งขัน e-sports กันในวงกว้างอยู่สองประการ ก็คือ ประการแรก การจัดการแข่งขันแบบนี้ถือเป็นการพนันตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะทำให้ทั้งผู้จัดและผู้รวมแข่งมีความผิดทางอาญาหรือไม่ และประการที่สอง การจัดการแข่งขันแบบนี้จะอยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการชิงรางวัลของประเทศญี่ปุ่นหรือไม่

การพนัน - การแข่งขัน e-sports แบบมีเงินรางวัลนั้น เงินรางวัลส่วนใหญ่ก็มาจากหลายแหล่ง ทั้งค่าเข้าร่วมการแข่งขันจากผู้แข่งขันเอง เงินสนับสนุนจากผู้ผลิตเกม สปอนเซอร์ และผู้จัดงาน การจัดการแข่งขันแบบเก็บค่าเข้าร่วมการแข่งขันจากผู้แข่งขันนั้นมีข้อดีคือช่วยลดภาระของทางผู้จัดงานได้ แต่ตามกฎหมายญี่ปุ่นมีประเด็นว่า การเก็บค่าเข้าร่วมแข่งขันโดยนำค่าเข้าร่วมแข่งขันมาเป็นเงินรางวัลนั้นถือเป็นการพนันหรือไม่ เนื่องจากคำนิยาม “การพนัน” ตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศญี่ปุ่นนั้น หมายถึง “การลงทรัพย์สินและแข่งกันได้เสียซึ่งทรัพย์สินนั้น” ซึ่ง “การแข่งกันได้เสีย” ก็หมายความว่า ผู้ชนะจะได้ทรัพย์สินนั้นไปส่วนผู้แพ้ก็เสียทรัพย์สินนั้นไป ดังนั้น การแข่งขัน e-sports แบบเก็บค่าเข้าร่วมการแข่งขัน โดยที่ผู้ชนะได้เงินรางวัลซึ่งมาจากผู้เข้าร่วมแข่งในขณะที่ผู้แพ้เสียค่าเข้าร่วมแข่งที่จ่ายไป ก็จะตรงตามคำนิยามของคำว่า “การพนัน” ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญาของญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดให้การพนันครอบคลุมเฉพาะการเสี่ยงโชคเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นการการแข่งวัดกันด้วยความสามารถก็อาจมีลักษณะเข้าคำนิยามของ “การพนัน” ได้ ดังนั้น การจัดการแข่งขันแบบเก็บค่าเข้าร่วมแข่งจึงมีความเสี่ยงที่อาจถูกตีความว่าเข้าข่ายว่าเป็นการพนันตามกฎหมายญี่ปุ่น


หากมองย้อนกลับไปปัญหานี้ก็เป็นปัญหาของวงการกีฬาอาชีพอื่น ๆ ด้วย โดยการแข่งกีฬาอาชีพประเภทอื่นในประเทศญี่ปุ่นก็มักจะใช้วิธีที่จะหลีกเลี่ยงการเก็บค่าเข้าร่วมการแข่งขันจากผู้เข้าร่วมแข่งขัน

หากย้อนกลับมาพิจารณาในส่วนของกฎหมายไทยนั้น ตาม พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ไม่ได้มีการกำหนดนิยามของ “การพนัน” ไว้แต่อย่างใด จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า จากมุมมองกฎหมายไทย การแข่งวัดกันด้วยความสามารถใน e-sport นั้นจะเข้าความหมายของคำว่า “การพนัน” ได้หรือไม่

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการชิงรางวัลของประเทศญี่ปุ่น - e-sports นั้นต่างจากกีฬาประเภทอื่น ๆ เพราะเป็นการแข่งขันกันโดยใช้เกมที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งผลิต เพราะฉะนั้นจึงอาจมีกรณีที่ผู้ผลิตเกมจัดการแข่งขันเกมที่บริษัทตัวเองผลิตและเอาค่าโฆษณาและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของบริษัทมาเป็นเงินรางวัล

กรณีนี้จะเกิดประเด็นทางกฎหมายว่า การให้เงินรางวัลดังกล่าวเข้าข่ายกฎหมายเกี่ยวกับฉลากและการโฆษณาของรางวัลของประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำกับการโฆษณาการให้ของรางวัลและมูลค่าของรางวัลที่สามารถให้ได้ โดยการที่บริษัทเกมจัดการแข่งขันและมีการแจกเงินรางวัลนั้น เงินรางวัลดังกล่าวอาจถือเป็นเครื่องมือจูงใจให้ซื้อเกม ซึ่งถ้าเข้าข่ายดังกล่าว จำนวนเงินรางวัลสูงสุดหรือเงินรางวัลรวมอาจถูกจำกัดโดยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามให้รางวัลเกิน 20 เท่าของมูลค่าธุรกรรม (สินค้า) แต่ทั้งนี้ห้ามเกิน 100,000 เยน หรือประมาณ 30,000 บาท ดังนั้น ตัวอย่างเช่น การแข่งขันเกมที่มีราคาขายปลีก 5,000 เยน หรือประมาณ 1,500 บาท เงินรางวัลก็จะสูงสุดได้เพียง 100,000 เยนหรือประมาณ 30,000 บาท เท่านั้น

เนื่องจากในทางปฏิบัติ ภาคธุรกิจมีความต้องการในการจัดการแข่งขันที่มีเงินรางวัลสูง ภาครัฐจึงมีการพิจารณาเรื่องปัญหาการตีความทางกฎหมายดังกล่าว และมีแนวคิดให้แยกนักกีฬามืออาชีพออกจากมือสมัครเล่น เพื่อที่จะตีความว่า เงินรางวัลนั้นก็ถือเป็นค่าตอบแทนการทำงานของนักกีฬาอาชีพที่ทำผลงานได้โดดเด่นในการแข่งขัน โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันก็จะเปรียบเสมือนผู้ช่วยโปรโมทเกม โดยบริษัทเกมก็จะทำสัญญากับผู้ที่ทำผลงานได้ดีเพื่อให้เงินรางวัลกับคนเหล่านี้ในฐานะค่าจ้างการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น

ประเด็นกฎหมายข้างต้นเป็นประเด็นทางกฎหมายหลัก ๆ เกี่ยวกับการจัดการแข่งขัน e-sports ที่ถกเถียงกันในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการแข่งขัน e-sports ภายใต้กฎหมายไทยไม่มากก็น้อย.