จับตา Automated Future
วิกฤติขาดแคลนแรงงานท่ามกลางสถานการณ์โควิด กำลังเป็นปัญหาที่ตอกลิ่มความเสียหายทางเศรษฐกิจให้รุนแรงยิ่งขึ้น หลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ระบบการทำงานและการบริหารจัดการยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลัก
• ต้องหทัย กุวานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารผลลัพธ์ด้วยการโค้ช
ข้อมูลล่าสุดจากผลสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าโรงงานกว่า 70% ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานและมีบางส่วนได้รับผลกระทบจนถึงขั้นต้องลดกำลังการผลิตลง ในประเทศไทยการลงทุนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติยังคงอยู่ในวงจำกัดแค่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
วิกฤติโควิดกำลังสร้างจุดเปลี่ยนในภาคอุตสาหกรรม ทำให้อุตสาหกรรมที่เคยพี่งพาแรงงานคนเป็นหลักเช่น เกษตรและอาหาร หันมาลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่กำลังกลายเป็น “The Next Big Thing” ของภาคธุรกิจทั่วโลกก็คือการลงทุนในระบบอัตโนมัติที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของหุ่นยนต์เท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีด้านอื่นที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดการพึ่งพาแรงงานคนให้น้อยลง
นักวิเคราะห์มองว่าโลกธุรกิจกำลังก้าวจากยุค Industrial Automation ที่เน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนไปสู่ยุค Corporate Automation นั่นคือการทำงานแบบไร้รอยต่อระหว่างคนกับระบบอัตโนมัติ ที่ตอบโจทย์การทำงานขององค์กรในภาพรวมทั้งหมด
การลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์และบริการตอบโจทย์การสื่อสารและการทำงานร่วมกันแบบ Virtual Collaboration ดูจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าอนาคตของ Automation อาจขยายกรอบไปแบบไร้ขีดจำกัด
ล่าสุดในปีนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่สายเทค อย่าง Microsoft, Google, Facebook, และ Amazon ได้เดินหน้าเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพด้าน Collaboration Tools, AR/VR, และ Video Tools
เช่น Google ซื้อ Playspace แพลตฟอร์มเครื่องมือการทำงานร่วมกันแบบออนไลน์ ซึ่งมีทั้งการจัดประชุม, ระดมความคิด และสังสรรค์ Amazon ซื้อ Wickr แพลตฟอร์มส่งข้อความเข้ารหัสที่มีความปลอดภัยสูงซึ่งนิยมใช้งานในกลุ่มลูกค้าองค์กรและภาครัฐ ส่วน Microsoft ก็ซื้อ Clipchamp แอพตัดต่อวิดีโอที่มีเครื่องมือสำหรับสร้างและตัดต่อวีดีโอบนเบราว์เซอร์ซึ่งถูกคาดการณ์ว่า Clipchamp น่าจะถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Windows และ MS Office
นอกจากนี้อีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงเช่นกันก็คือ โมเดล Rent-a-robot หรือ Robots-as-a-Service ที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ธุรกิจในกลุ่มนี้มีความต้องการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแต่ยังไม่พร้อมที่จะลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากในระยะแรก
โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่นี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายใน Silicon Valley โดยการให้บริการจะเป็นรูปแบบ Subscription และคิดค่าใช้จ่ายในการใช้งานเป็นรายชั่วโมง ซึ่งทำให้เจ้าของธุรกิจที่เป็นโรงงานขนาดเล็กสามารถเข้าถึงการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติได้เช่นเดียวกับโรงงานขนาดใหญ่
โลกของการทำงานแบบไร้รอยต่อ การทำงานทางไกล การทำงานร่วมกันระหว่างคนและระบบอัตโนมัติได้เข้ามาแทนที่ระบบเดิมและโมเดลธุรกิจแบบเดิม ๆที่คุ้นเคย การแข่งขันทางธุรกิจเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มจางหายไป อาจเป็นเสมือนการดิ้นรนหาทางออกจากถ้ำที่มืดมิด ในขณะที่หลายธุรกิจอาจหมดแรงติดอยู่ในถ้ำ หลายธุรกิจอาจจะเดินออกมาได้ด้วยมุมมองใหม่ ได้ทักษะใหม่ และได้วิถีใหม่ในการทำธุรกิจเพราะได้ถูกทรานส์ฟอร์มไปเรียบร้อยแล้วในระหว่างทาง!