โควิด-19 ชี้ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (5)

โควิด-19 ชี้ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (5)

บทคัดย่อหนังสือเรื่อง Covid-19: The Great Reset วันนี้มาจากเนื้อหาของบทที่ 2 ซึ่งพูดถึงการระบาดของโควิด-19 กับข้อคิดในระดับอุตสาหกรรมและการทำธุรกิจเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

โควิด-19 มีผลกระทบสูงอย่างกว้างขวางยกเว้นต่อบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ  มาตรการต่อสู้โควิด-19ทำให้ธุรกิจจำนวนมากถึงกับต้องปิดตัวลงแบบถาวร  ส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบสูงถึงขนาดนั้นก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับภาวะใหม่ซึ่งจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีก  ประเด็นหลัก ๆ ที่ผู้ทำธุรกิจจะต้องพิจารณาต่อไปเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ การทำงานทางไกลแทนในสำนักงาน การลดการเดินทางโดยเครื่องบินและความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว  แนวโน้มเหล่านี้บ่งชี้ว่าอนาคตจะวิวัฒน์ไปทางไหน
     o การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำกิจการซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งก่อนโควิด-19 เริ่มระบาดจะดำเนินต่อไปส่งผลให้ผู้ต้องการอยู่รอดต้องเร่งใช้เทคโนโลยีนี้ให้มากที่สุด
    o ห่วงโซ่อุปทานจำพวกยาวรอบโลกมีความเปราะบางสูงจึงถูกรบกวนมากขึ้นนำไปสู่การหาทางตัดทอนมันให้สั้นลง  แนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปส่งผลให้การมีความยืนหยุ่นสูงของห่วงโซ่นี้มีความสำคัญเป็นอันดับต้นของการทำธุรกิจ  การมีราคาต่ำสุดของส่วนประกอบต่าง ๆ มิใช่กฎเกณฑ์หลักในการเลือกใช้อีกต่อไป

o รัฐบาลเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการทำกิจการของภาคเอกชนและจะมีต่อไปในการตั้งเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้นเมื่อรัฐเข้าไปอุ้มธุรกิจที่ประสบปัญหาสาหัสและเมื่อรัฐจัดซื้อจัดจ้างจากภาคเอกชน  นอกจากนี้ รัฐจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการตั้งเงื่อนไขในด้านสภาพของสถานที่ทำงานและด้านสวัสดิการของแรงงานซึ่งจะเพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงยิ่งขึ้น
    o ธุรกิจต้องแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่ด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมและความโปร่งใสแทนการแสวงหากำไรสูงสุดสำหรับผู้ถือหุ้น  แนวโน้มนี้จะดำเดินต่อไปจากความกดดันของภาครัฐ นักเคลื่อนไหวในสังคมและพนักงานของกิจการเอง
    ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรับกับภาวะใหม่ที่เกิดจากแนวโน้มเหล่านั้น ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและลักษณะการค้าขายที่ไม่เหมือนเดิม  กิจการใดที่พร้อมทดลองใช้วิธีใหม่ ๆ มีโอกาสอยู่ต่อไปได้สูง  ส่วนกิจการที่หวังจะกลับไปทำตามแบบเดิม ๆ จะล้มเหลว  ภาวะใหม่ที่มีผลกระทบต่อการทำกิจการอาจแยกได้เป็น 3 หมวดหมู่

o ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการลดความหนาแน่นกับการท่องเที่ยว การให้บริการต่าง ๆ การบันเทิง การค้าปลีก อวกาศและยานยนต์  ในยุคนี้ ภาคบริการเป็นภาคใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจ  การบริการส่วนใหญ่ผู้ใช้ต้องอยู่ในสถานที่ให้บริการไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ร้านอาหาร หรือการดูกีฬา  อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับผลกระทบสูงมากและอาจฟื้นได้ช้าซึ่งจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปเป็นเวลานาน  ผู้ทำกิจการขนาดเล็กจำนวนมากอยู่ไม่ได้ส่งผลให้การให้บริการไปกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่มากขึ้น   
    o การเปลี่ยนพฤติกรรมแบบชั่วคราวและถาวรของผู้บริโภคกับการค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์และการศึกษา  พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อโควิด-19ระบาด ไม่ว่าจะเป็น การทำอาหารเอง การซื้อสินค้าและการศึกษาทางอินเทอร์เน็ต หรือการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังขึ้น  การทำงานอยู่ที่บ้านก็เพิ่มขึ้นด้วย  การเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นไปแบบถาวรเท่าไรยากแก่การคาดเดา  แต่ที่แน่นอนคือ มันจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปอย่างกว้างขวางรวมทั้งในกิจการอสังหาริมทรัพย์ด้วย
    o ความยืดหยุ่นกับเทคโนโลยี การบริการด้านสุขภาพ การธนาคารและการประกันภัย ยานยนต์ และการไฟฟ้า  อุตสาหกรรมที่มีความยืดหยุ่นสูงเป็นพื้นฐานอยู่แล้วและกิจการที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วได้รับผลดีจากโควิด-19โดยเฉพาะกิจการเทคโนโลยีขนาดใหญ่และกิจการให้บริการด้านสุขภาพ  ส่วนกิจการธนาคาร การประกันภัยและยานยนต์จะต้องปรับสินค้า กระบวนการทำงานและให้บริการอย่างรวดเร็วจึงจะอยู่รอด  

สำหรับกิจการด้านผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการรักษาพยาบาลในการต่อสู่กับโควิด-19

ความท้าทายต่อไปจะเกี่ยวกับการเปลี่ยนวิธีผลิตกระแสไฟฟ้าให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำลงและการขยายปัจจัยพื้นฐานสำหรับให้บริการเติมไฟในแบตเตอร์รี่ได้สะดวกอย่างทั่วถึงแก่ยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า