มาตรการ “ไม่ฉีด ห้ามเข้า” เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
มาตรการ “ไม่ฉีด ห้ามเข้า” กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในภาคเอกชนอย่างกว้างขว้าง แต่ลูกค้าอาจมองว่าตนเป็นผู้ถูกเลือกปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้นอาจมองเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เมื่อปริมาณวัคซีนโควิด-19 มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของประชาชน ความกังวลในเรื่องการจัดสรรวัคซีนก็หมดไป แต่รัฐอาจต้องเจอกับปัญหาเกี่ยวกับการปฏิเสธการฉีดวัคซีนของประชาชน เพราะหากประชาชนไม่ยอมเข้ารับวัคซีน การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็อาจเป็นไปได้ยาก เช่นนี้ ประเทศก็ไม่อาจกลับสู่สภาวะปกติได้
ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐคงไม่เลือกที่จะออกคำสั่งหรือตรากฎหมายมาบังคับประชาชนฉีดวัคซีนโดยตรง แต่รัฐอาจจะต้องอาศัยมาตรการบังคับทางอ้อมในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการเข้ารับบริการสาธารณะของรัฐ การออกมาตราการด้านสาธารณสุขเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนใช้กับประชาชน หรือการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ร้านค้าและสถานประกอบการหลายแห่งได้มีความพยายามเสนอสิทธิพิเศษหรือผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้าที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เช่น การจัดทำโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอาหาร สินค้าหรือบริการ เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน
เป็นที่ทราบดีว่าหากอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ธุรกิจ ร้านค้าต่าง ๆ จะไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ ในขณะที่หลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ภาคเอกชนในหลายธุรกิจมีความพยายามมองหาแนวทางหรือมาตรการในการกำหนดเงื่อนไขในการยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับธุรกิจของตนเอง
“ไม่ฉีด ห้ามเข้า (No jab, no entry)” ถือเป็นมาตรการที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในภาคเอกชนอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมาตรการเช่นนี้ได้มีการนำไปใช้แล้วในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสได้มีการกำหนดให้ประชาชนต้องแสดงเอกสารรับรองสุขภาพ (Health pass) ที่ระบุว่าได้ผ่านการฉีดวัคซีนแล้วหรือมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบก่อนที่จะเข้าไปรับประทานอาหารในร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ รวมถึงการทำกิจกรรมอื่น ๆ
แต่การใช้มาตรการเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจและก่อให้ความเสียหายด้านเศรษฐกิจโดยตรง เพราะการห้ามลูกค้าเข้ามานั่งในร้านอาจทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พอใจ และเลือกที่จะไม่สนับสนุนร้านอีกต่อไป
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้า รัฐควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่จะต้องตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีนก่อนอนุญาตให้เข้าร้านโดยอาศัยคำสั่งด้านสาธารณสุข หรือแนวทางของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ในอีกทางหนึ่งรัฐอาจจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 8 ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานในการดำเนินการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานเกี่ยวกับการควบคุมโรคระบาด
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรการ “ไม่ฉีด ห้ามเข้า” ของภาคเอกชนนั้นอาจจะต้องพิจารณาถึงหลักความเท่าเทียมและการห้ามเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ เป็นเพราะการปฏิเสธการให้บริการของร้านค้า ลูกค้าอาจมองว่าตนเป็นผู้ถูกเลือกปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้น อาจมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
แม้ว่าการเลือกปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นการอาศัยเหตุแห่งความแตกต่างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 27 วรรคสาม ก็ตาม แต่หลักความเท่าเทียมและการห้ามเลือกปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นไม่น่าจะครอบคลุมถึงบริบทของการเลือกปฏิบัติระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยเฉพาะในกรณีของการปฏิเสธการให้จำหน่ายสินค้าหรือการให้บริการ ดังนั้น การจำกัดสิทธิในการเข้าถึงบริการหรือสถานที่ของภาคเอกชนในธุรกิจต่าง ๆ ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีกฎหมายเฉพาะหลายฉบับที่ถูกตราขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติ เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่กฎหมายเหล่านี้มีขอบเขตจำกัดในการคุ้มครอง โดยมุ่งคุ้มครองเฉพาะบางกลุ่มเป้าหมายและบางมิติของการเลือกปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่อาจตีความให้ครอบคลุมถึงการเลือกปฏิบัติในมิติของการให้บริการหรือการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการโดยอาศัยเหตุว่าได้มีการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีสิทธิตามกฎหมายที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของตน และยังมีอำนาจในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของตนและบริวาร ภายใต้การใช้อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น การกำหนดมาตรการ “ไม่ฉีด ห้ามเข้า” ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ถูกนำไปใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้ง การกำหนดมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของทุกฝ่าย หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลและความจำเป็น
ผู้เขียนจึงเห็นว่าผู้ประกอบการหรือร้านค้า "มีความชอบธรรม" ที่จะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในระหว่างเอกชนด้วยกันได้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19.