บทบาท "บอร์ดบริษัท" กับ "ดิจิทัลเทคโนโลยี"
ปลายเดือนที่แล้วผมเขียนบทความเกี่ยวกับสองเรื่อง ที่กรรมการบริษัทต้องให้ความสำคัญหลังโควิด คือ ภาวะโลกร้อนและดิจิทัลเทคโนโลยี ก็มีผู้อ่านอยากให้ขยายความหน้าที่ "บอร์ดบริษัท" ในเรื่อง "ดิจิทัลเทคโนโลยี" ว่าควรต้องทำอะไรบ้าง
ดิจิทัลเทคโนโลยีกำลังมีความสำคัญมากขึ้นทั่วโลก ทั้งในภาคธุรกิจและราชการ ทำให้การปรับตัวของบริษัทในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่จะทำได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ประเทศมี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสามปัจจัย
1) ความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่ประเทศมี คือ เรื่องคน การศึกษา การฝึกอบรม
2) ตัวเทคโนโลยีที่มี หมายถึงการลงทุนในเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน การกำกับดูแลโดยภาครัฐ และการใช้เทคโนโลยีในประเทศ
3) ความพร้อมที่ประเทศจะขยายการใช้เทคโนโลยีในอนาคต หมายถึงศักยภาพประเทศที่จะใช้เทคโนโลยีได้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน นี่คือสามปัจจัยที่ขับเคลื่อนระดับการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ
สถาบันไอเอ็มดี (IMD) ที่จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นประจำทุกปีให้ความสำคัญเรื่องความสามารถของประเทศในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี เพราะมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงได้จัดทำรายงานความสามารถด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของประเทศ ทำมาแล้วห้าปี ใช้ตัวแปร 52 ตัววัดผลเพื่อจัดอันดับความสามารถของประเทศด้านดิจิทัลเทคโนโลยี รายงานล่าสุดคือปี 2020 ซึ่งอันดับหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา ตามด้วยสิงคโปร์ เดนมาร์ก สวีเดนและฮ่องกง เป็นห้าอันดับแรกของ 63 ประเทศทั่วโลก
อันดับของประเทศไทยในเรื่องนี้ยังไม่น่าพอใจ คืออยู่อันดับที่ 39 ต่ำกว่ามาเลเซีย จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกงและสิงคโปร์ และถ้าดูตัวเลขห้าปีย้อนหลังคือตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2020 อันดับความสามารถทางดิจิทัลเทคโนโลยีของประเทศไทยก็ไม่ค่อยเปลี่ยนคืออันดับ 39 ในปี 2016 41 ปี 2017 39 ปี 2018 40 ปี 2019 และ 39 ปี 2020 กลับไปกลับประมาณนี้ไม่ไปไหน เทียบกับหลายประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ที่อันดับดีขึ้นต่อเนื่อง
รายงานนี้ให้ข้อมูลว่าจุดอ่อนหลักของประเทศไทยเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี คือ ความรู้ โดยเฉพาะการศึกษาที่การลงทุนเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีในระบบการศึกษาและอัตราส่วนครู-นักเรียนในระดับอุดมศึกษาต่ำมาก ทำให้บุคลากรที่จบด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่สามารถทำงานต่อในงานวิจัยและวิทยาศาสตร์มีน้อย อีกประเด็น คือศักยภาพในการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในอนาคตที่มีข้อจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น แท็บเล็ต นอกจากนี้ ในภาคธุรกิจการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีก็ไม่สูงเพราะนักธุรกิจไทยยังกลัวความไม่สำเร็จในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ผลคือธุรกิจขาดความคล่องแคล่ว (Agility) ที่จะปรับตัว
ในความเห็นของผม จุดอ่อนเหล่านี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้โดยนโยบายที่ถูกต้องที่จะสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจปรับตัว นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่จะกระตุ้นการลงทุนและการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในภาคธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
และในประเด็นนี้ ความท้าทายสำหรับบริษัทธุรกิจก็ไม่ต่างกัน คือคณะกรรมการบริษัทที่เป็นจุดสูงสุดขององค์กร ต้องเป็นผู้นำที่จะสร้างแรงจูงใจและออกนโยบายสนับสนุนการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในบริษัท เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ซึ่งจะช่วยรักษาความเชื่อมั่นและการสนับสนุนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีต่อบริษัท
คำถามคือแล้วคณะกรรมการบริษัทควรต้องทำอะไรบ้างในเรื่องนี้ ผมว่าสิ่งแรกที่กรรมการควรทำคือ สร้างความเข้าใจในสองเรื่อง
1. ไม่มีใครคาดหวังให้กรรมการบริษัทต้องเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เพราะเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะสำหรับกรรมการที่มีอายุ แต่ที่ต้องเข้าใจคือ ผลกระทบที่ดิจิทัลเทคโนโลยีจะมีต่อธุรกิจของบริษัทจากการทำและไม่ทำอะไร โดยทั่วไปดิจิทัลเทคโนโลยีจะกระทบธุรกิจ 4 ด้าน
1) ด้านการติดต่อและสื่อสารโดยเฉพาะกับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นช่องทางสื่อสารหรือช่องทางติดต่อใหม่ระหว่างบริษัทกับคนภายนอก คำถามที่จะมีก็เช่น ทำอย่างไรให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ประทับใจในการติดต่อกับบริษัทผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี
2) ด้านการใช้เทคโนโลยีเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อช่วยบริษัทในการตัดสินใจ
3) ด้านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสายงานการผลิต (Automation) เพื่อลดความผิดพลาดและให้สามารถทำได้เร็วขึ้น
4) ด้านรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์แทนที่จะพึ่งบุคลากรอย่างเดียว นี่คือพื้นที่ที่ดิจิทัลเทคโนโลยีจะให้ประโยชน์มากสำหรับบริษัท
2. ต้องเข้าใจว่าการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ไม่ใช่การทำเพียงเพื่อให้มีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้นในบริษัทตามกระแสการเปลี่ยนแปลง แต่หมายถึงการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือ Add Value ให้กับธุรกิจของบริษัทอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน คือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธุรกิจที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท ไม่ว่าจะในเรื่องความรวดเร็ว (Speed) การขยายจำนวนคือ scale หรือการลดต้นทุน หรือขยายสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้สามารถต่อยอดได้มากขึ้น นี่คือสี่มิติที่กรรมการต้องมีไว้ในใจในการประเมินประโยชน์ที่บริษัทจะได้จากการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี
จากความเข้าใจนี้ บทบาทกรรมการบริษัทในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีคงมีสามเรื่อง
1. สนับสนุนการเพิ่มองค์ความรู้ และบุคลากรที่มีความรู้เรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีในบริษัท ทั้งในระดับกรรมการและฝ่ายบริหาร เพื่อให้คณะกรรมการมีความพร้อมที่จะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ขณะที่ฝ่ายบริหารก็มีบุคลากรที่มีความรู้ที่จะตอบสนองให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัท
2. ให้ความสำคัญโดยยกระดับการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัท รวมถึงการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีโดยเฉพาะในช่วงแรก
3.ให้เวลากับเรื่องนี้โดยบรรจุเป็นวาระประชุมกรรมการ เพื่อติดตามผลและรับทราบความคืบหน้า รวมถึงให้ฝ่ายจัดการจัดบรรยายสรุปเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นครั้งคราว เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่กรรมการ
ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคตบริษัทและประเทศ และแม้เรายังไม่มีวิธีปฏิบัติในการทำหน้าที่กรรมการในเรื่องนี้ ผมคิดว่าสามเรื่องที่พูดถึง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้กรรมการในการกำกับดูแลเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการทำหน้าที่หลัก ที่สำคัญ เราต้องไม่กลัวพลาดหรือ fail ที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพราะถ้าเรากลัว บริษัทก็อาจเสียโอกาสในเรื่องที่สำคัญ ควรนึกเสมอว่าความผิดพลาดควบคุมหรือลดได้ ถ้าเรามีการบริหารความเสี่ยงที่ดี.