“ค่าเสียหายเบื้องต้น”ของประกันภัย พ.ร.บ.
สวัสดีครับพบกับประกันภัยเรื่องใกล้ตัวกันเช่นเคยนะครับ เพื่อการก้าวไปอย่างมั่นคง ก้าวไปอย่างมั่นใจ ด้วยการประกันภัย หรือ หลักประกันเพื่อความมั่นคงทางสังคม
ประกันภัยเรื่องใกล้ตัว จะได้นำเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับการประกันภัยมาบอกกล่าวเล่าสู่กันเพื่อความรู้ความเข้าใจที่เท่าทันทั้งการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย เรามาติดตามกันเลยครับ...
คำถาม : กรณีหลานชายขับขี่รถจักรยานยนต์มีพ่อนั่งซ้อนท้ายไปชนสุนัขและเสียหลักไปชนเสาตอม่อสะพานทำให้ทั้งสองคนเสียชีวิต รถคันดังกล่าวมีประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. ทางบริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายสำหรับผู้เป็นพ่อที่เสียชีวิตให้กับทายาท 500,000 บาท แต่จ่ายค่าเสียหายสำหรับหลานชายที่เสียชีวิตให้กับทายาทเพียง 35,000 บาท ทางประกันภัยบอกว่าคนขับจะได้รับความคุ้มครองน้อยกว่าผู้โดยสาร? จึงอยากถามว่าจริงไหมและเพราะอะไรทั้งสองคนก็เสียชีวิตเหมือนกัน ทำอย่างนี้ถูกต้องไหม?
คำตอบ : เชื่อว่าหลายท่านก็คงสงสัยนะครับว่าก็เสียชีวิตเหมือนกัน แต่ทำไมจ่ายไม่เท่ากันอย่างนี้ไม่ยุติธรรมนี่นา เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจไปถึงเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกันก่อนเลยครับว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนั้นมีที่มาจากทางภาครัฐต้องการให้มีหลักประกันจำนวนหนึ่งที่จะให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบภัยจากรถที่ได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต เช่น เดินถนนอยู่ถูกรถชน หรือ รถสองคันชนกันต้องรอสรุปผลคดีก่อนถึงจะรู้ว่าใครต้องชดใช้สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น
เมื่อรถทำให้เกิดความเสียหายผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือผู้ขับขี่และเจ้าของรถ จึงได้กำหนดให้เจ้าของรถนั่นแหละที่ต้องมีหลักประกันภัยให้กับตัวรถ จึงได้มีการกำหนดให้เจ้าของรถต้องทำประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันในความคุ้มครอง โดยเจ้าของรถต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยจำนวนหนึ่ง เบื้องต้น ก็จะให้หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ในการบริหารเงินค่าเบี้ยประกันภัยแต่อาจจะมีปัญหาในหลายประการและเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยง
จึงควรให้ธุรกิจที่บริหารความเสี่ยงเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการซึ่งก็คือบริษัทประกันวินาศภัย จึงได้กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องเป็นผู้รับประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.นี้ รัฐก็ทำหน้าที่แต่เพียงควบคุมกำกับและส่งเสริมให้เป็นการดำเนินงานของธรุกิจประกัยภัยเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมายที่มุ่งมั่นให้การคุ้มครองต่อผู้ประสบภัยจากรถ เป็นหลักประกันสำหรับบุคคลทุกคนที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัย โดยเฉพาะบุคคลที่ถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายเป็นสำคัญ ปัญหาคือ ผู้ขับขี่ที่ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตนั้น ไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำหากแต่เป็นผู้กระทำเสียเอง
ซึ่งตามกฎหมายทั่วไปก็มีการกำหนดไว้อยู่แล้วนะครับว่าหากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตัวเองนั้นจะเรียกร้องเอาจากใครก็ไม่สามารถกระทำได้ แต่เนื่องจากเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.นั้นมีเจตนาให้การคุ้มครองต่อผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อเหตุที่เกิดขึ้น ผู้ขับขี่ที่ทำผิดเองก็เป็นผู้ประสบภัยจากรถ จึงได้มีการกำหนดสิทธิระหว่างผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกับผู้ถูกกระทำให้ได้รับความคุ้มครองที่แตกต่างกัน ซึ่งในกฎหมายและเงื่อนไขกรมธรรม์จึงกำหนดให้ผู้ขับขี่รถประกันภัยนั้นจะได้รับการคุ้มครองเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทผู้รับประกันภัยเท่านั้น
แต่หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นผู้ขับขี่เป็นฝ่ายถูกกระทำก็สามารถใช้สิทธิไปขอรับค่าเสียหายจากฝ่ายคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิด ซึ่งหากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดมีประกันภัย พ.ร.บ.ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามความคุ้มครองที่กำหนดไว้ต่อผู้ถูกกระทำเช่นกัน
ทั้งนี้สำหรับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ขับขี่รถประกันภัยจะได้รับการคุ้มครองนั้นมีการกำหนดไว้ในกฎกระทรวง ว่าด้วยค่าเสียหายเบื้องต้นไว้ดังนี้
1.กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาลตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท
2.กรณีเสียชีวิต/สูญเสียอวัยวะ /ทุพพลภาพถาวร จำนวน 35,000 บาท
(ทั้งนี้หากเสียหายทั้งสองกรณี 1.1+1.2 รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท
ดังนั้นผู้ขับขี่จะต้องมีความรับผิดชอบด้วยการใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพราะนอกจากท่านต้องรับผิดในทางอาญาและทางแพ่งด้วยแล้ว ท่านในฐานะผู้ขับขี่จะได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ของรถคันที่ท่านขับขี่มานั้นน้อยกว่าผู้ถูกกระทำ ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นที่งนี้ก็เพื่อความเป็นธรรมนั้นแหละครับเพราะการประกันภัยรถ ตาม พ.ร.บ.นี้เป็นการประกันภัยที่กฎหมายกำหนด จึงต้องให้ความเป็นธรรมระหว่าง ที่ว่า “ผู้กระทำผิด ไม่ควรได้รับสิทธิเหมือนผู้ถูกกระทำ” อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำนะครับว่า หากผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายถูก ก็ถือว่าเป็นผู้ถูกกระทำ สิทธิของผู้ถูกกระทำนั้นสามารถเรียกร้องเอาจากฝ่ายที่กระทำผิดได้อย่างสมบูรณ์นะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกท่านนะครับ แล้วพบกันใหม่...สวัสดีครับ
ประสิทธิ์ คำเกิด