กางแผน 'SC Asset' ชูจัดซื้อสีเขียว ลดคาร์บอน 35,000 ตันภายใน 3 ปี !
"SC Asset" กางแผนภารกิจ SCero Mission "ออกแบบและจัดซื้อ" รวมถึงการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 35,000 ตันคาร์บอนฯ ภายใน 3 ปี โดยการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ประหยัดพลังงาน และการจัดซื้อสีเขียวในโครงการแนวราบที่มีสัดส่วนถึง 70% ของรายได้บริษัทฯ
กลายเป็นวาระแห่งชาติในการลดคาร์บอนสุทธิเป็น "ศูนย์" ทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2608 หนึ่งในนั้นคือ เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของโลก ผ่านทางกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Procurement ถือเป็น "หัวใจ" สำคัญของการสร้างที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือคอนโดมิเนียม
นางสาวสุดารัตน์ เจริญเกตุมงคล หัวหน้าสายงาน การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของ SCero Mission ภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำและการสานภารกิจให้ไปถึง Net Zero โดยการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG หรือ Greenhouse Gases) ให้มากที่สุด
"จากข้อมูลย้อนหลังพบว่า ปีนี้อุณหภูมิในกรุงเทพฯ สูงขึ้นตั้งแต่ 0.1-2.1 องศา เทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งถือว่าสูงมาก ในฐานะคนที่ดำเนินธุรกิจควรเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากอุตสาหกรรมหนักเยอะมากไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ซีเมนต์ ที่ใช้ในการสร้างบ้าน คอนโด โรงแรม อาคารสำนักงาน และคลังสินค้า" นางสาวสุดารัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องตั้งแต่การออกแบบ จัดซื้อ สร้าง ใช้ และทิ้ง ซึ่งมีผลต่อ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในช่วงการ "ออกแบบ" และ "ใช้" หรือช่วงการพักอาศัยของลูกค้า (Operational Carbon) และ "การจัดซื้อ" หรือการเลือกอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างซึ่งติดมากับตัวสินค้า (Embodied Carbon) ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของกระบวนการพัฒนาโครงการ เมื่อมองในภาพรวมแล้ว เอสซี แอสเสท จึงเริ่มจากการโฟกัสส่วนที่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้คือ การ "ออกแบบและจัดซื้อ" จึงเป็นที่มาของภารกิจ SCero Mission และการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 35,000 ตันคาร์บอนฯ ภายใน 3 ปี ด้วยการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ประหยัดพลังงาน และการจัดซื้อสีเขียวในโครงการแนวราบที่มีสัดส่วนถึง 70% ของรายได้บริษัทฯ
โดยเริ่มจาก งานออกแบบ ผังโครงการ ภูมิสถาปัตย์ และในปีที่ผ่านมาได้มา "โฟกัส" การจัดซื้อวัสดุที่มาจากอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งจะมีค่าคาร์บอนติดมาด้วย จึงมีความพยายามที่จะลดค่าคาร์บอนจากกระบวนการจัดซื้อเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นที่มาของการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Procurement เพื่อให้ SC Asset เป็นองค์กรสีเขียวที่แข่งขันได้
"ที่ผ่านมา SC Asset ให้ความสำคัญภายใต้หลัก 3อ คือ ออกแบบ อุปกรณ์ และอุปนิสัย 2อ แรกบริษัทฯ ดำเนินการ ส่วนอุปนิสัยใช้วิธีการส่งเสริมแนะนำให้กับลูกค้าในการประหยัดพลังงาน"
นายพิษณุ เดชสง หัวหน้าสายงานจัดซื้อ และการจัดหาเชิงกลยุทธ์ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC Asset กล่าวว่า การจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Procurement เป็นเรื่อง "ยาก" ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องทำกับคู่ค้า จึงเริ่มต้นจากกลุ่มคู่ค้าที่มีนโยบายเหมือนกัน หรือกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และเริ่มจากวัสดุที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น เหล็ก โครงหลังคา อะลูมิเนียม สุขภัณฑ์ คอนกรีต ซีเมนต์ สี แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นหมวดหลักที่เร่งดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรก
"ปีนี้เราตั้งเป้า 70% ในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคาดว่าสิ้นปีน่าจะถึง 80% ซึ่งเกินเป้า ส่วนในปีหน้าตั้งเป้าว่าต้องมากกว่า 90% แต่ยังไม่ถึง 100% เพราะวัสดุบางตัวยังไม่มีนวัตกรรมในการลดคาร์บอน"
นายพิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายของ Green Procurement หนีไม่พ้น เรื่องต้นทุนสูง เพราะนวัตกรรมและจำนวนซัพพลายเออร์มีน้อยทำให้ราคาสูง แต่ในอนาคตเชื่อว่าราคาจะถูกลง เมื่อมีความต้องการใช้มากขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว! เนื่องจาก Net Zero กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ทุกคนต้องทำและมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
จึงเป็นที่มาของการพัฒนากระบวนการในการจัดซื้อร่วมกับคู่ค้าเข้ามานำร่องในโครงการ Partnership to Net Zero เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำ Green Procurement ลดคาร์บอน โดยการแบ่งปันความรู้และเก็บข้อมูลสินค้า แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มจากซัพพลายเออร์จำนวน 40 ราย อาทิ SCG, Q-CON, TATA Steel, TOSTEM, แกรนด์โฮมมาร์ท, TOA, เบเยอร์, คอนกรีตไลน์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี!
นอกจากนั้น การปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต หรือวิธีการนำไปก่อสร้าง เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากร เป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างซัพพลายเออร์ ทีมแบบ และผู้รับเหมา ที่ลดปริมาณการใช้ได้จริง ยกตัวอย่างการใช้เหล็กในการสร้างบ้านจากเดิมซื้อเหล็กเส้นยาว 12 เมตร มาดัดมาตัดหน้างานและให้ค่าแรงผู้รับเหมา จนกระทั่งมาเจอกับ ทาทา สตีล ให้โรงงานดัดเหล็กเส้นขึ้นรูป (Cut and Bend) มาส่งให้หน้างานทำให้สามารถลดปริมาณการสั่งซื้อเหล็กลง 15% ต่อบ้านหนึ่งหลัง และผู้รับเหมาลดเวลาการทำงานและใช้แรงงานน้อยลง แต่ข้อจำกัดคือ ซัพพลายเออร์ที่ทำได้ยังมีน้อยราย จึงไม่สามารถขยายได้ 100%
นายพิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายต่อไปคือ การเก็บข้อมูลปริมาณการใช้และระบบโลจิสติกส์กับคู่ค้ากลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจก GHG หรือ Greenhouse Gases ออกมาได้ โดยใช้แพลตฟอร์ม Carbon Note ที่ร่วมมือพัฒนากับบริษัทสตาร์ตอัป Mekha V บริษัทลูกปตท. เข้ามาเก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปตั้งเป้าได้ โดยใน 3 ปีนี้ตั้งเป้าว่าจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 35,000 ตันคาร์บอน !! ถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง!