การพลิกโฉมและพลิกฟื้นประเทศไทย

การพลิกโฉมและพลิกฟื้นประเทศไทย

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจ 2 ข่าวคือ การปรับกลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ยานแม่ 13 บริษัทและการกำหนด 13 หมุดหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยของสภาพัฒน์ ซึ่งจะไปสู่การประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในเดือนตุลาคม 2565

สังเกตได้ว่า ยุทธศาสตร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบการยุทธศาสตร์ของสภาพัฒน์ซึ่งได้มีการกล่าวถึงน้อยมาก แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่กำหนดชะตาชี้วัดคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งผมนับได้ว่าภายใต้ 13 หมุดหมายดังกล่าวนั้นมีกลยุทธ์ย่อยรวมกันทั้งสิ้นมากถึง 75 กลยุทธ์ย่อย ทำให้ต้องขอตั้งคำถามว่าทั้ง 75 กลยุทธ์ย่อยนั้นเรียงลำดับความสำคัญกันอย่างไรและที่สำคัญคือไม่เห็นรายละเอียดว่าแต่ละกลยุทธ์ย่อยนั้นจะต้องใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใด และหน่วยงานไหนจะเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนกลยุทธ์ดังกล่าว

แตกต่างจากแผนของ SCBX ซึ่งค่อนข้างจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่าเงินจะมาจากไหนและจะนำไปทำอะไร ตลอดจนได้มีการประกาศชื่อของประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นทั้ง 13 บริษัทด้วย ทำให้รู้ชัดว่าใครจะเป็นผู้ปฏิบัติ ผู้ที่สนใจจึงจะสามารถ “ตามงาน” ได้ทุกคน

นอกจากนั้นผมมีข้อสังเกตว่า ในเกือบทุกหมุดหมายของสภาพัฒน์นั้นไม่ได้มีการกล่าวถึงผลกระทบของ COVID-19 เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมุดหมายที่ 7 ที่ตั้งเป้าให้ “ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้” ซึ่งมีเป้าหมายคือเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SME ให้เป็น 36.5% และมีกลยุทธ์ทั้งสิ้น 7 กลยุทธ์ 


หากท่านอ่านทั้ง 7 กลยุทธ์ดังกล่าวแล้วจะไม่สามารถทราบได้เลยว่ากลยุทธ์ใดจะช่วยฟื้นฟูและปรับโครงสร้าง SME จำนวนมากที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก COVID-19 เช่น เป้าหมายที่ 2 กล่าวอย่างกว้างๆ ว่าจะ “พัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวของ SME สู่การแข่งขันใหม่”
 

ในขณะเดียวกันผมเห็นข่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่คุณธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) วิงวอนให้รัฐบาล “ทำให้ทุกมาตรการเข้าถึงและมีความเป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SME ถึง 3 ล้านราย ซึ่งผมเห็นว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานั้น SME ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลน้อยมากเมื่อเทียบกับผลกระทบที่ได้รับจากการระบาดของ COVID-19

 ดังนั้น เมื่อเห็นเป้าหมายที่ 1 ของหมุด หมายความว่าด้วย SME คือ “สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตและแข่งขัน” ของ SME นั้น ผมอยากเห็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยให้ SME อยู่รอดเสียก่อน ซึ่งคุณธนิตบอกว่า “อยากให้รัฐบาลคุยกับผู้เดือดร้อนจริง ไม่ใช่คุยตัวแทนภาคเอกชนคนตัวใหญ่ที่ไม่เข้าใจถึงปัญหาแท้จริงและจับเข่าคุยกับแบงก์ว่าที่ปล่อยสินเชื่อไม่ได้เพราะอะไร” 

คุณธนิตกล่าวว่า SME ภาคการท่องเที่ยวนั้น “อ่อนแอที่สุด” เพราะปิดกิจการมานาน “สภาพกิจการหมือนเจ๊ง หนี้สินเดิมก็ค้างเอาไว้รอปรับโครงสร้างหนี้” และเมื่อธนาคารยังไม่ได้ตัดเป็นหนี้เสีย โอกาสจะขอสินเชื่อก็จะยากมาก ในขณะเดียวกันผมเห็นว่าการปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจก็จะทำได้ยากมากเพราะมีความไม่แน่นอนสูง

ดังนั้น การคาดการณ์รายได้และรายจ่ายในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากเช่นกัน ผลคือลูกหนี้ SME จะอยู่ในสภาพเหมือนถูกแช่แข็งและจะเป็นการแช่แข็งเศรษฐกิจไทยไปด้วย

ภาคแรงงานก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก COVID-19 ซึ่งได้มีการอ้างถึงข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยและ TDRI ว่ามีคนตกงานแล้วกลับภูมิลำเนาเดิม 1.6 ล้านคน ซึ่งคุณธนิตมีข้อสังเกตคือ

 

1.คนกลุ่มนี้ทักษะจะค่อยๆ หายไป โดยได้พยายามสมัครงานในเว็บไซต์หางานต่างๆ แต่งานใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่กรุงเทพ (ในขณะที่คนสมัครงานอยู่ต่างจังหวัด) ดังนั้น คนสมัครงานจึงจะไม่ค่อยเดินทางมาสัมภาษณ์งานที่กรุงเทพ เพราะการเดินทางต้องใช้เงินและไม่แน่ใจว่าหากมาสัมภาษณ์แล้วจะได้รับเป็นพนักงานหรือไม่ 
2.บางคนตกงานตอนอายุ 40 ปี ทำให้หาเงินได้ยากเพราะฐานเงินเดือนสูง และจะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับทักษะความรู้เรื่องด้านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์

คุณธนิตจึงแนะนำให้รัฐบาลตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานในต่างจังหวัด สำหรับผมนั้นจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากที่ควรจะรีบแก้ไขในทันทีและคงจะมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 อีกด้วย

ประเด็นสุดท้ายที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงเลยใน 13 หมุดคือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นเพราะ COVID-19 ตามที่ปรากฏในรายงานประจำปี 2563 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ได้ถูกนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแล้วซึ่งข้อมูลจะครอบคลุมเฉพาะปีที่แล้ว แต่เนื่องจาก COVID-19 ระบาดหนักเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ จึงจะเชื่อได้ว่าความเหลื่อมล้ำคงจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

รายงานของกองทุนฯ ระบุว่าประเทศไทยมีนักเรียนจากครอบครัวยากจนทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 9 แสนคน ซึ่งสูงกว่าภาคเรียนที่ผ่านมา (ก่อน COVID-19 ระบาด) ประมาณ 2 แสนคน กล่าวคือหากไม่สามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการศึกษาและอนาคตของเยาวชน 1.7 ล้านคนดังกล่าว ซึ่งหมายถึงความสูญเสียอย่างมากในทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต.