ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์

ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์

แม้จะมีกฎ กติกา และกฎหมายที่รัดกุม ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ข่าวคราวความเสียหายจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มสูงขึ้นทุกปีทั้งในแง่จำนวนผู้เสียหาย และเม็ดเงินที่ถูกล่อลวงในหลายประเทศทั่วโลก จนหลายๆ คนเริ่มตั้งคำถามถึงบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีมากเกินไปจนดูเหมือนจะควบคุมไม่อยู่

ความก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีทั้งประโยชน์และโทษมาพร้อมกันเสมอ แต่กับเทคโนโลยีดิจิทัลอาจมีความพิเศษมากกว่า เพราะความเร็วในการแพร่กระจายและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ความแพร่หลายของเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้น เพราะการปฏิวัติในยุคไมโครคอมพิวเตอร์ที่ทำให้บริษัทขนาดเล็กรวมไปถึงคนทั่วไปมีโอกาสได้ใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เหมือนในอดีตที่คอมพิวเตอร์เมนเฟรมหรือมินิคอมพิวเตอร์มีใช่เฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น

ในบ้านเราคอมพิวเตอร์เครื่องแรกใช้งานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 1963 ตามด้วยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปีถัดมา กลุ่มผู้ใช้งานจึงจำกัดเฉพาะนักวิชาการและนักสถิติ จนกระทั่งปี 1974 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการซื้อขายหุ้น หลังจากนั้นในช่วงปี 1980 ไมโครคอมพิวเตอร์ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

อ่านข่าว : ภัยไซเบอร์-ฉ้อโกงออนไลน์ ปัญหาระดับท็อป ‘ชาวเน็ตไทย’

แต่ความพยายามในการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้ความร่วมมือครั้งใหญ่ ซึ่งจุดเริ่มต้นจริงๆ อยู่ที่เครือข่ายด้านกลาโหมก่อนที่จะขยายวงมาถึงสถาบันการศึกษา และท้ายที่สุดคือการประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะเป็นโครงการของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ

ตัวอย่างเช่น เจอร์รี่ หยาง ผู้ก่อตั้งยาฮู อดีตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มาจนถึงยุคนี้ ก็มีมาร์ค ซัคเกอร์เบิรก์ ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊คจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ล้วนมีส่วนจุดประกายให้ธุรกิจในยุคอินเทอร์เน็ตขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

การจับคู่กันระหว่างโลกคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสร้างให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ มากมาย บ้างก็มาแทนที่ธุรกิจเดิมที่ได้รับผลกระทบจากวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นธุรกิจร้านหนังสือ ธุรกิจร้านเช่าวีดิโอ สถานีโทรทัศน์ ฯลฯ

วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนมีอินเทอร์เน็ตมหาศาล พรมแดนของแต่ละประเทศจึงมีบทบาทลดลงเพราะมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมโยงทั้งในด้านการค้า การเรียนรู้ การติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฯลฯ รวมไปถึงการใช้งานในแง่ลบ ซึ่งก็คืออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

เพราะวิถีชีวิตของเราจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นทุกขณะ แม้จะมีกฎ กติกา และมีกฎหมายที่รัดกุมเพียงใด แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เกิดขึ้น ยิ่งมีการใช้งานมากขึ้น ก็ยิ่งมีคนมองเห็นช่องโหว่และฉวยโอกาสใช้ความรู้ทางด้านดิจิทัลหาประโยชน์ให้กับตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย

การโจมตีเพจต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน จึงเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ใม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิค DDOS จนเว็บล่มหรือการเข้าไปเปลี่ยนข้อมูลในเพจ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดจากการล่อลวงข้อมูลส่วนบุคคลหรือการ Phishing ซึ่งมักนำข้อมูลที่ได้ปลอมตัวตนเป็นคนอื่นแล้วทำไปใช้กระทำความผิดอื่นๆ มากมายสร้างความเสียหายให้กับเหยื่อมหาศาล

และที่กำลังระบาดอย่างหนักและสร้างความเสียหายเกินกว่าที่คนทั่วไปจะนึกถึง ก็คือ การเรียกค่าไถ่ข้อมูล หรือ Ransomware ที่ระบาดมาหลายปีแล้ว แต่เหล่าแฮกเกอร์ได้พัฒนาเทคนิคให้ซับซ้อนขึ้น และสร้างความเสียหายในวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีก

จุดเริ่มต้นของการติด Ransomware มักจะมาจากความหละหลวมในการใช้งานคอมพิวเตอร์ของคนในองค์กรที่เผลอเปิดไฟล์โดยไม่ระวัง ไม่ต่างอะไรกับการที่เราเปิดประตูหน้าต่างในบ้านไว้โดยไม่คิดว่าจะมีคนแอบเข้ามาได้

การป้องการและบรรเทาความเสียหายที่เกิดจาก Ransomware จึงเป็นเรื่องที่คนในยุคดิจิทัลต้องรู้ อย่างน้อยก็ต้องสำรองข้อมูลอยู่เป็นประจำและสม่ำเสมอซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง