ภาษีกับทางเลือก “ฝากเงินในธนาคาร VS ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ฯ”
หลังจากที่กฎหมายคุ้มครองเงินฝากได้กำหนดวงเงินการคุ้มครองเงินฝากที่เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก
จะได้รับความคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายฯ ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน คุ้มครองแก่ผู้ฝากทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินของไทย โดยมีผลคุ้มครองทันทีและคุ้มครองบัญชีเงินฝากใน 5 ประเภท ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน
จากหลักเกณฑ์การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากฯ นี้ มีผลกระทบต่อผู้ที่มีเงินฝากในธนาคารเกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงิน เพราะมีผลทำให้เงินที่เราได้ฝากไว้กับธนาคารจะถูกคุ้มครองเพียงแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น จึงทำให้ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่มองหาทางเลือกการออมการลงทุนในรูปแบบอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารผลตอบแทน และทางเลือกที่ได้รับความสนใจในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Short – Term Fixed Income Fund) หรืออาจเรียกกันว่าเป็น กองทุนพักเงิน มีความเสี่ยงต่ำ มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ระยะสั้นๆ โดยมากมีอายุไม่เกิน 1 ปี เปิดให้ซื้อขายทุกวันทำการ และเมื่อขายกองทุนฯ จะได้รับเงินคืนในวันทำการถัดไป (T+1) ทำให้มีสภาพคล่องแทบจะใกล้เคียงกับเงินฝากออมทรัพย์
เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยงกันระหว่างการฝากเงินกับการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นกันไปแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือภาระภาษีเปรียบเทียบกับผลตอบแทน ที่ได้รับ ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาระหว่าง เงินฝากฯ กับกองทุนรวมตราสารหนี้ การฝากเงินก็ยังถือเป็นการออมเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่ได้รับการคุ้มครองสถาบันการเงินที่เราฝากเงินไว้ ในขณะที่การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำก็จริง แต่เป็นการที่กองทุนฯ นำไปลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หากผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ก็จะทำให้กองทุนไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือสูญเสียเงินต้นได้ รวมถึงอาจมีความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ยในบางช่วง ดังนั้นผู้ลงทุนควรพิจารณาและทำความเข้าใจรูปแบบการลงทุน เงื่อนไขและผลตอบแทน รวมถึงความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน