ผิดคาด ... กับการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ก.ย.
ในสัปดาห์ที่แล้ว เราคุยกันถึงเรื่องปัจจัยพื้นฐานของหุ้นสหรัฐฯ ที่ภาพรวมยังคงเอื้อต่อการลงทุน แม้ในช่วงเดือนที่ผ่านมาจะเริ่มมีความผันผวนจากหลากหลายปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ
และในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนก็มีตัวเลขสำคัญที่น่าสนใจและอาจให้ข้อมูลเราเพิ่มเติมออกมาอีกตัวหนึ่ง คือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payroll) ที่ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้มาก โดยเฉพาะเป็นช่วงหลังจากเงินช่วยเหลือจากภาครัฐฯ หมดลง และโรงเรียนที่ส่วนใหญ่กลับมาเปิดตามปรกติอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าคนน่าจะกลับมาทำงานเป็นจำนวนมาก หากอยู่ในภาวะปรกติตัวเลขดังกล่าวที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์มาก และสะท้อนภาคแรงงานที่อ่อนแอกว่าคาด น่าจะส่งผลให้เกิดความกังวล
ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นและกลับเข้าซื้อพันธบัตร หรือ ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันในคำว่า Sell-Off แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันดังกล่าวกลับเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลับปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย คำถามก็คือทำไมตลาดการเงินถึงตอบสนองค่อนข้างน้อย ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนภาวะตลาดแรงงานที่อ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มหมดแรงหรือไม่ และตัวเลขดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มของการลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรและการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ย. ที่ออกมาเพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่ง เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้มากถึง 500,000 ตำแหน่ง และเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของปี 2021 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด เช่น กลุ่มสันทนาการและโรงแรม ธุรกิจบริการ และกลุ่มค้าปลีกต่างๆ ที่ยังคงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการที่เศรษฐกิจยังคงเดินหน้ากลับเข้าสู่ภาวะปรกติ ในขณะที่ตัวเลขที่ออกมาผิดจากที่คาดส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มการจ้างงานของภาครัฐฯ ในกลุ่มการศึกษา และอุตสาหกรรม Healthcare
ทำให้ภาพรวมของการจ้างงานในปัจจุบันหลังการแพร่ระบาด แรงงานฟื้นกลับมาแล้วทั้งหมด 17 ล้าน 4 แสนคนนับจากเดือน เม.ย. 2020 ที่เป็นจุดสูงสุดของความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและความเข้มงวดของนโยบายภาครัฐฯ ต่างๆ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ได้รับผลกระทบและยังไม่มีงานทำอีกราว 5 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 3.3 ของระดับการจ้างงานก่อนการแพร่ระบาด โดยหากมองในมุมดังกล่าว เราก็อาจจะมองได้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงห่างไกลจากคำว่าตึงตัวที่จะส่งผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น และส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้น้ำหนัก ในขณะที่ตลาดแรงงานน่าจะใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่และก่อให้เกิดแรงกดดันใดๆ กับค่าจ้างและเงินเฟ้อ และตัวเลขล่าสุดควรเพิ่มน้ำหนักให้ธนาคารกลางชะลองการเริ่มลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรออกไปก่อน
อย่างไรก็ตามหากจะอาศัยตัวเลขเดือนล่าสุดและตัวเลข 5 ล้านคนที่ยังว่างงานเป็นหลักยึดว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ กลับเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่หรือไม่ อาจทำได้ลำบาก โดยแม้จะยังมีการว่างงานที่ยังคงไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดได้ แต่ภาคธุรกิจยังมีความต้องการที่จะจ้างงานอยู่อีกมากในภาวะปัจจุบัน สะท้อนจากปัจจัยหลายๆ อย่างรวมถึงการเปิดตำแหน่งการจ้างงานที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ค่าจ้างที่ยังคงเร่งตัวสูงขึ้นเหนือกว่าแนวโน้มในระยะยาวและเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่ปัจจัยที่ทำให้การจ้างงานยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิต (Supply Chain) เกิดจากการการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่ไม่เท่ากันหลังการแพร่ระบาด การเพิ่มสูงขึ้นของอุปสงค์อย่างรวดเร็ว รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบต่างๆ เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานจำเป็นจะต้องถูกตีความด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
ภาวะการจ้างงานการภายใต้เงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาด อาจทำให้เรื่องของอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ หรือ อัตราการว่างงานที่ไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ (Non-Accelerating Inflation Rate of Unemployment หรือ NAIRU) เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากปัญหาเรื่องกระบวนการห่วงโซ่การผลิตดังกล่าว และอาจรวมถึงพฤติกรรมของแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความนิยมของการหันมาทำงานอิสระมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการทำงานมากขึ้น ไม่นับรวมว่าภายหลังการแพร่ระบาดการคาดการตัวเลขการจ้างงานทำได้ยากมากขึ้น และมีความผันผวนสูง ทำให้ภาพรวมแม้ตัวเลขดังกล่าวจะออกมาในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำและน่าผิดหวัง แต่นักลงทุนก็ไม่ได้กังวลเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดการเงินแต่อย่างใด สะท้อนจากตลาดหลักทรัพย์ที่แกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงเวลาดังกล่าว
ดังนั้นหากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม ตัวเลขดังกล่าวน่าจะไม่ได้ส่งสัญญาณความอ่อนแอของตลาดแรงงานสหรัฐฯ และคงจะไม่ได้ส่งผลให้จังหวะเวลาของการทยอยลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือนหน้า รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกที่ตลาดการเงินคาดไว้ว่าจะเกิดในช่วงเดือน มิถุนายน ปี 2022 เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังน่าจะถูกกำหนดด้วยปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เหมือนที่กล่าวไปในสัปดาห์ที่แล้วเป็นหลัก อย่างไรก็ตามตลาดการเงินกำลังจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนถ่ายนโยบายซึ่งเรายังคงต้องเราก็ยังคงต้องจับตาดูพัฒนาการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอัตราการว่างงานและการเร่งตัวขึ้นของค่าตอบแทนแรงงานต่างๆ ควบคู่ไปกับปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากหลายทิศทาง และแนวโน้มของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น กันต่อไปครับ