Bubble & Seal มาตรการทางเลือกขับเคลื่อนภาคการผลิตไทยยุค COVID-19
บทความนี้นำเสนอ “มาตรการ Bubble & Seal” ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน เพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินต่อได้ รวมถึงปัจจัยร่วมอื่นๆ เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
*ผู้เขียน :
ชุติกา เกียรติเรืองไกร, พิมพ์ชนก โฮว
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต นำไปสู่ความกังวลว่าเครื่องยนต์สุดท้ายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจสะดุดลง บทความนี้นำเสนอ “มาตรการ Bubble & Seal” ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานเพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินต่อได้ รวมถึงปัจจัยร่วมอื่นๆ เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
Bubble & Seal: มาตรการทางเลือกขับเคลื่อนภาคการผลิตไทย
Bubble & Seal (BBS) เป็นมาตรการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้สำหรับป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในโรงงาน เพื่อให้การผลิตยังสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ทำให้ห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของพนักงานจากภายนอก โดยมีการแยกพนักงานออกเป็นกลุ่มย่อย และไม่ให้ทำงานข้ามกลุ่มกัน รวมถึงจำกัดพื้นที่ หรือการเดินทางภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งโรงงานจะจัดเตรียมที่พักสำหรับพนักงาน ขณะที่พนักงานที่ติดเชื้อจะถูกแยกไปตามพื้นที่ที่จัดสรรตามระดับอาการป่วยเพื่อรับการรักษาต่อไป
ทั้งนี้ รูปแบบการทำมาตรการ BBS อาจแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับข้อจำกัดด้านงบประมาณ และพื้นที่ของสถานประกอบการ ขณะที่บางธุรกิจสามารถต่อยอดไปสู่ Factory Sandbox (FS) ซึ่งเป็นโครงการที่ภาครัฐริเริ่มสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกใน 4 กลุ่ม คือ อาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ใน 7 จังหวัดนำร่อง โดยโรงงานจะต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Factory Accommodation Isolation: FAI) และตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR เพิ่มเติม
ในช่วงที่ผ่านมาโรงงานหลายแห่งเริ่มนำมาตรการ BBS หรือ FS มาปรับใช้ และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดี ยกตัวอย่างเช่น เอสซีจี ซีพีเอฟ และไทยยูเนี่ยน และจากผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเฉพาะกิจในเดือน ก.ย. 2564 ของ ธปท. พบว่า ธุรกิจในภาคการผลิตเกือบครึ่งหนึ่งจากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 118 ราย ทำมาตรการดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงแต่ธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจ SMEs ด้วย
ธุรกิจมีภาระต้นทุนด้านสาธารณสุข BBS และ FS เพิ่มขึ้น
ข้อจำกัดการทำมาตรการ BBS และ FS มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ส่งผลให้อาจทำได้เพียงในระยะสั้นเท่านั้น ผลสำรวจฯ ของ ธปท. ดังกล่าวยังพบอีกว่า ต้นทุนด้านสาธารณสุข อาทิ ค่ายา และค่าชุดตรวจ ATK เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในกลุ่มที่มีการทำมาตรการ BBS หรือ FS นอกจากนี้ โรงงานอาจมีค่าใช้จ่ายเพื่อจูงใจพนักงานเพิ่มเติม อาทิ ค่าแรงพิเศษ และค่าอาหาร 3 มื้อ
ส่วนกลุ่มที่ไม่ทำมาตรการ มองว่าค่าใช้จ่ายในการจัดหาพื้นที่ เช่น ปรับปรุงพื้นที่ในโรงงาน และเช่าโรงแรม เป็นอุปสรรคในการทำมาตรการ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีภาระต้นทุนในการทำ BBS หรือ FS น้อยกว่าโรงงานที่อยู่นอกนิคมฯ เนื่องจาก นิคมฯ ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาสถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อภายในนิคมฯ เพื่อให้โรงงานสามารถใช้เป็นพื้นที่กักตัว (Pooled FAI) ร่วมกันได้ รวมถึงประสานงานกับโรงพยาบาล และอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เช่นในกรณีของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และสินสาคร ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนของธุรกิจส่วนหนึ่ง ขณะที่โรงงานที่อยู่นอกนิคมฯ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
“ภาครัฐแบ่งเบา เอกชนร่วมใจ เร่งฉีดวัคซีนครอบคลุม” ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อ
แม้มาตรการ BBS และ FS ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้นทุนที่สูงอาจทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถทำได้ในระยะยาว จึงจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยร่วมเพื่อให้ปัญหาถูกแก้ไขได้อย่างสำเร็จและยั่งยืน
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในโครงการ Business Liaison Program (BLP) ของ ธปท. มีดังนี้
(1) การเร่งจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในโรงงาน รวมถึงชุมชนโดยรอบโรงงานอย่างทั่วถึงและทันการณ์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ค่อนข้างมีความพร้อมในการฉีดวัคซีนทั้งด้านสถานที่ งบประมาณ และบุคลากร แต่ยังติดปัญหาจากการจัดสรรวัคซีนที่ไม่เพียงพอและทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ) ที่มีสัดส่วนผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เพียง 40% (ณ 5 ต.ค. 64)
(2) การสนับสนุนด้านต้นทุนจากภาครัฐ ที่ผ่านมาภาครัฐมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขแก่ภาคเอกชนบางส่วน อาทิ ลดหย่อนภาษี ATK ได้ 1.5 เท่า การจัดหาและเพิ่มช่องทาง ATK ในราคาที่เข้าถึงได้ รวมถึงสนับสนุนค่าตรวจ RT-PCR โดยนำร่องในกลุ่ม FS อย่างไรก็ตาม โรงงานยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องแบกรับและเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเช่นกัน อาทิ ค่าจัดหาที่พัก ค่าอาหาร และค่ารถรับส่งพนักงาน แนวทางคือ ภาครัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือในรูปแบบ Co-payment หรือลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม
(3) ความร่วมมือระหว่างเอกชนรายใหญ่และรายย่อย โดยอาศัยความสามารถในการบริหารจัดการของรายใหญ่ที่ดีกว่ามาเป็นตัวกลางช่วยเหลือรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง การใช้พื้นที่ร่วมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมพื้นที่กักตัวในลักษณะ Pooled FAI สำหรับโรงงานที่ตั้งอยู่นิคมฯ นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ใน Supply chain ของตนเอง โดยผลักดันและแนะแนวทางการทำ BBS เพื่อให้สามารถเดินสายการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
แม้สถานการณ์การติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงานจะเริ่มคลี่คลายไปมากแล้ว หลังจากที่หลายบริษัทมีการนำ BBS และ FS มาใช้ควบคู่ไปกับการทำมาตรการสาธารณสุขอื่น ๆ แต่ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ธุรกิจไม่อาจแบกรับไว้ได้นาน
ดังนั้น “ภาครัฐแบ่งเบา-เอกชนร่วมใจ” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การควบคุมการระบาดของ COVID-19 ทำได้ต่อเนื่องภายใต้ต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก แต่จะดีที่สุดถ้าหากเรามีการ “เร่งฉีดวัคซีน” อย่างครอบคลุม ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และช่วยให้ภาคการผลิตของไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้
(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)