ต้มยำกุ้ง ผัดไทย มัสมั่น...พะแนงไก่
คนทั่วโลก รู้จักอาหารไทยอย่างต้มยำกุ้ง ผัดไทย และมัสมั่น เป็นอย่างดี สองวันก่อนน้องลิซ่าบอกว่า ชอบทานพะแนงไก่ อีกไม่นานอาหารนี้อาจจะเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติ ก็ได้ วันนี้ มาคุยเรื่องของดีของไทยกันครับ
นิตยสาร U.S. News & World Report ได้จัดอันดับ “ประเทศที่ดีที่สุด” (Best Countries Ranking) ซึ่งได้เผยแพร่ผลไป ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 แล้ว ซึ่งในการจัดอันดับครั้งนั้น มีตัวแปรถึง 10 กลุ่ม รวมกันมากถึง 76 ตัวแปร
คงไม่ต้องไปดูรายละเอียดหรอกครับ เพราะวันนี้ผมจะพูดถึงเพียงเรื่องเดียว คือกลุ่มที่เขาให้น้ำหนักน้อยที่สุด เพียง 1.93% เท่านั้นเอง แสดงว่ามีผลต่อคะแนนรวมน้อยมาก ในขณะที่เขาให้น้ำหนักมากสุด 2 กลุ่มแรกรวมกัน (Agility และ Entrepreneurship) ก็ 28.34% เข้าไปแล้ว
กลุ่มที่มีน้ำหนักน้อยสุด ที่ผมอยากจะไฮไลท์ คือกลุ่ม “Heritage” ซึ่งหมายถึง “วัฒนธรรมที่เข้าถึงได้ง่าย ประวัติศาสตร์ที่อุดม อาหารที่เยี่ยมยอด แหล่งดึงดูดทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ ที่หลากหลาย”
แล้วเขาได้คำตอบมาอย่างไรครับ?
มาจากการสุ่มตัวอย่างสอบถาม ประชาชนใน 4 ทวีป 36 ประเทศ จำนวนมากถึง 17,326 คน เป็นคนที่มีความรู้ค่อนข้างดี มีสถานภาพดีในสังคม 10,068 คน ผู้บริหารระดับตัดสินใจ 4,919 คน และประชาชนทั่วไป 5,817 คน
สรุปคือ ในหัวข้อ “Heritage” ซึ่งหมายถึง “มรดก” ที่แต่ละประเทศได้รับมาจากอดีตนั้น มีความน่าสนใจ มีคุณค่า ต่อสายตาชาวโลกมากเพียงใด
ผมว่ามรดกในทางภูมิศาสตร์นั้น ได้มาอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เช่น เกาะ แก่ง ถ้ำ ภูเขา ฯลฯ ได้ตามที่ธรรมชาติให้เรามา เช่นเราได้เกาะภูเก็ต เกาะสมุย ฯลฯ ที่สวยงามมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพียงรักษาไว้ให้ดี ก็แล้วกัน
แต่สมัยใหม่ ใครทำอะไรก็ได้ เช่นทำลานเล่นสกีหิมะในตะวันออกกลาง ยังได้เลย หรือจะถมทะเล แล้วสร้างเกาะขึ้นมาก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแต่ความรู้สึกคงแตกต่างกัน
ส่วนมรดกทางอาหาร และ วัฒนธรรมนั้น ถ้าคิดง่ายๆ ประเทศที่เก่าแก่มากๆ อย่างเช่น อียิปต์ หรือ จีน ซึ่งอยู่มายาวนานมากกว่า 3,000 ปี ก็ น่าจะ มีมรดกแบบนี้ มากกว่า ประเทศที่อายุไม่กี่ร้อยปี หรือ ไม่ถึงหนึ่งร้อยปี
อย่างเช่นสิงคโปร์ ซึ่งได้รับเอกราชเพียงไม่ถึง 60 ปี จากการเป็นเกาะที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้กระทั่งน้ำดื่มที่สะอาด มีเพียงชาวประมงที่ยากจนและด้อยการศึกษา
วันนี้เขาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ระดับอันดับเครดิตสูงสุด AAA แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ ด้วยข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็คือมรดกทางวัฒนธรรม ที่อุดมสมบูรณ์และน่าสนใจ
จนเมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา มีการริเริ่มจัดงาน “วันสงกรานต์” ขึ้นที่นั่น ซึ่งทำให้คนไทยจำนวนมากอุทานว่า เอาอย่างนี้เลยเหรอ?
กลับมาสู่รายงานของนิตยสารฉบับนี้ ประเทศไทยเรา ได้อันดับที่ 28 ของโลก ครับ ก็ค่อยๆพยายามไต่อันดับกันต่อไป แต่ผมว่า ที่เราควรภูมิใจก็คือ ในกลุ่ม “มรดก” นั้น ประเทศไทย ได้อันดับที่ 7 ของโลก และเราเป็นที่ 2 ของเอเซีย
ประเทศในเอเซียที่สูงกว่าเราเพียง 1 อันดับ ก็มีแค่ “อินเดีย” เท่านั้นเอง ซึ่งได้อันดับที่ 6 ของโลก และอันดับที่ 1 ในเอเซีย ซึ่งตรงนี้เราต้องตระหนักว่า อินเดียอยู่มายาวนานเพียงใด แค่ย้อนไปถึงสมัยพระพุทธเจ้า ก็ 2,600 กว่าปีเข้าไปแล้ว
ในขณะที่ไทยเราเพียง 800 ปี เท่านั้น เราจี้อันดับโลกมาติดๆแบบนี้ ถือว่าสุดยอดแล้วครับ เหนือกว่าประเทศอื่นในเอเซียทั้งหมด
ผมเคยไปปฎิบัติธรรมช่วงสงกรานต์ กับพระภิกษุชาวต่างชาติ ที่มาสอนการนั่งสมาธิในประเทศไทย วันสุดท้ายก่อนร่ำลากัน มีพิธีรดน้ำดำหัว พระสงฆ์จากต่างประเทศบอกว่า ได้ความรู้สึกที่ดีมาก ปลื้มใจมากกับวัฒนธรรมอันงดงามนี้ ที่บ้านอาตมาไม่มีหรอก
ผมเคยไปร่วมงานวันไหว้ครู ที่โรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ ครูต่างชาติพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่างเป็นประเพณีที่งดงามเหลือเกิน ประทับใจจริงๆ ถึงแม้เขาไม่พูด ผมก็รู้สึกได้ครับ จากใบหน้าอันมีความสุขของพวกเขา
ผมเคยกลับไปโรงเรียนเดิมที่อยุธยาวิทยาลัย วันที่เพื่อนร่วมรุ่นนัดจัดงาน และเชิญครูบาอาจารย์ที่เคยสอนพวกเรา ไปร่วมงานด้วย ความรู้สึกที่ผมคุกเข่าลงกับพื้นเพื่อกราบครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เป็นความรู้สึกที่ตื้นตันเพียงใด ผมไม่เคยลืมเลือน
วันนี้ ชาวโลกเกือบ 2 หมื่นคน ตอบชัดเจนว่า “มรดก” ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อาหาร และภูมิศาสตร์ ของไทยเรานั้น คือหนึ่งในสุดยอดของโลก ถึงแม้น้ำหนักกลุ่มนี้จะมีน้อยในการนำไปประเมินภาพรวม แต่ผมคิดว่า ถ้ามองเฉพาะเสน่ห์ของการท่องเที่ยว นี่คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก และเราควรรักษาไว้ด้วยความภาคภูมิใจ
ต้องขอบคุณน้องลิซ่าด้วย ที่เป็นเด็กไทย รักเมืองไทย และน้องใช้ความสามารถระดับซูเปอร์สตาร์ รวมทั้งความน่ารักของน้อง ช่วยเผยแพร่ความเป็นไทยไปกว้างไกล
แค่น้องพูดว่าชอบลูกชิ้นยืนกิน แม่ค้าลูกชิ้นที่บุรีรัมย์ก็มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที เมื่อสองวันก่อน น้องให้สัมภาษณ์ทางทีวีบอกว่าชอบ พะแนงไก่ ก็คงต้องติดตามต่อไปครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่
แต่เราไม่ต้องไปรอให้คนอื่นทำครับ เราทุกคน ต้องเริ่มด้วย “ความภาคภูมิใจ” ในมรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อาหาร และ ภูมิศาสตร์ของไทยเราเสียก่อน ไม่ใช่เพียงรับรู้ รับทราบ แต่ไม่คิดว่าจะต้องทำอะไร
ถ้าหากที่ผ่านมา บางคนอาจจะยังไม่รู้สึกโชคดี ที่ได้รับมรดกเช่นนี้ วันนี้ การที่ชาวต่างชาติเกือบ 2 หมื่นคน เขาชื่นชมเรา จนให้อันดับที่ 7 ในโลก สูงกว่าประเทศที่อยู่มานานกว่าเรานับพันปีเสียอีก ก็น่าจะทำให้เรากลับมาภาคภูมิใจ พัฒนา และรักษาไว้ให้ยืนนาน
ไม่มีใครจากชาติไหนๆ มาแย่งสิ่งเหล่านี้ไปจากเราได้ นอกจากเราทะเลาะกันเอง แล้วไม่ให้คุณค่า หรือทำลายมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่าง ด้วยตัวเราเอง
ช่วยกันครับ ยังไม่สายเกินไป