คนไทย 95% อยากทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากสุดในอาเซียน ยอมทำงานเพิ่ม 2 ชั่วโมงต่อวัน
ผลสำรวจจาก โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เผยคนไทย 95% อยาก “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน ยอมทำงานเพิ่ม 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้วันทำงานลดลง ฝั่งนายจ้างมองมีความเป็นไปได้!
KEY
POINTS
- คนไทยอยากทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากที่สุดในอาเซียน โดยต้องการสูงถึง 95%, มาเลเซีย 94%, สิงคโปร์ 93%, ฟิลิปปินส์ 89%, อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีความต้องการอยู่ที่ 88% เท่ากัน
- นายจ้างในไทย 77% มองว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มีความเป็นไปได้ แต่ยังมีความลังเลหากต้องนำมาใช้จริง โดยมีนายจ้างเพียง 26% เท่านั้นที่เผยว่ามีแผนจะเริ่มทดลองทำ
- 59% ของลูกจ้างไทยบอกว่ายินดีที่จะทำงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สามารถทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ โดยยังคงได้รับค่าจ้างเท่าเดิม
ไม่ใช่ทุกคนที่ยอมรับเรื่องนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเทรนด์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กำลังมาแรงไปทั่วโลก ซึ่งในต่างประเทศเริ่มทดลองทำกันมาเกือบสิบปีแล้ว แต่มาฮิตกันสุดๆ ก็ช่วงหลังยุคโควิดระบาด เพราะวัยทำงานต่างโหยหาวิถีชีวิตการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเด็นการลดชั่วโมงทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ (จากประมาณ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดเหลือ 32-40 ต่อสัปดาห์) โดยไม่ถูกหักเงินเดือน ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่เสมอ
ทั้งนี้มีหลายประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกาได้เริ่มทดลองปรับเปลี่ยนตารางทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์มาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี อังกฤษ เบลเยียม ไอซ์แลนด์ ฯลฯ ส่วนในเอเชียก็เริ่มมีเช่นกัน ทั้งในญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งต่างก็รายงานผลการทดลองว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีจริง ยกตัวอย่างเช่น
- เยอรมนี : ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลา 6 เดือน บริษัท 73% จะนำไปใช้จริง พนักงานรายงานว่าพวกเขามีสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด- ไอซ์แลนด์ : พนักงาน 2,500 คน ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2015 - 2019
- เบลเยียม : พนักงานมีสิทธิเลือกที่จะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์หรือ 5 วันก็ได้ โดยไม่ถูกลดเงินเดือน
- อังกฤษ : ประกาศทดลองลดวันทำงานเป็น 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน และยังได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิม
- ญี่ปุ่น : ในปี 2019 บริษัทไมโครซอฟท์ในญี่ปุ่น ทดลองเพิ่มวันหยุดทุกวันศุกร์ให้พนักงานเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าพนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 39.9%
ผลสำรวจใหม่ ชี้ พนักงานไทยอยากทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ มากที่สุดในอาเซียน
ล่าสุด.. มีผลสำรวจใหม่จากบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลกที่สำรวจเจาะจงถึงความต้องการลดชั่วโมงทำงานของพนักงานในประเทศแถบเอเชียโดยเฉพาะ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งผลการสำรวจก็น่าสนใจมากทีเดียว โดยพบว่า พนักงานคนไทยอยากทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากที่สุดในอาเซียน โดยคนไทยมีความต้องการสูงถึง 95%, มาเลเซีย 94%, สิงคโปร์ 93%, ฟิลิปปินส์ 89%, อินโดนีเซีย และ เวียดนาม มีความต้องการอยู่ที่ 88% เท่ากัน
ทั้งนี้ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ได้ทำการสำรวจในหัวข้อ “The 4-day work week: Is Asia ready for it?” ผ่านการสอบถามบุคลากร และองค์กรกลุ่มตัวอย่างกว่า 5,000 แห่งใน 11 ประเทศทั่วเอเชีย ซึ่งนอกจากผลสำรวจที่พบว่า 95% ของพนักงานในประเทศไทยต้องการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์แล้ว ยังพบด้วยว่า มากกว่าครึ่งของผู้ที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ (58%) เชื่อว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาได้
ขณะที่นายจ้างหรือบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยก็รายงานไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ นายจ้างถึง 77% มองว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มีความเป็นไปได้ แต่ยังมีความลังเลหากต้องนำมาใช้จริง โดยมีนายจ้างเพียง 26% เท่านั้นที่เผยว่ามีแผนที่จะปรับใช้นโยบายนี้ และจะเริ่มทำภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะที่ 50% ของนายจ้างยังมองว่าไม่น่าจะเกิดการทดลองใช้สัปดาห์ทำงาน 4 วันในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ส่วนสาเหตุที่ลูกจ้างในไทยส่วนใหญ่อยากลดชั่วโมงทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ อันดับ 1 ก็เพราะว่า อยากมีสมดุลชีวิตส่วนตัว และการทำงาน (73%), อยากเพิ่ม Productivity (58%), อยากมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น และ อยากประหยัดค่าเดินทาง (42%)
ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการประจำประเทศไทยของโรเบิร์ต วอลเทอร์ส สะท้อนความเห็นในประเด็นนี้ว่า ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือ การพิจารณาทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งจะต้องให้ประโยชน์ทั้งในแง่ขององค์กร และในแง่มุมของพนักงาน ซึ่งการปรับใช้รูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก โดยให้ผลลัพธ์ในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างไรก็ตาม องค์กรเองก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของความท้าทาย และผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นด้วย
ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย ภาพจาก: Robertwalters
ลูกจ้างไทยยินดีทำงานเพิ่ม 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สามารถทำงานได้สัปดาห์ละ 4 วัน
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังรายงานด้วยว่า พนักงานชาวไทยจากกลุ่มตัวอย่างมากถึง 59% บอกว่ายินดีที่จะทำงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สามารถทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ โดยยังคงได้รับค่าจ้างเท่าเดิม นอกจากนี้ 45% ของพนักงานยังยินดีที่หยุดการทำงานแบบไฮบริดหรือกิจกรรมงานสังคมต่างๆ อีกด้วย
ขณะที่ 58% ของพนักงานที่ต้องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาได้ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จำนวน 36% มีความกังวลในเรื่องความเครียดที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานในจำนวนวันน้อยลง แต่ยังคงมีปริมาณงานเท่าเดิม นอกจากนี้ 27% กังวลว่าอาจจะมีการลดค่าจ้างตามมา
นอกจากนี้ 18% ของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย มีความกังวลในด้านค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้น โดยพวกเขาต้องการใช้เวลานั้นเพื่อพัฒนาศักยภาพ และความก้าวหน้าทางอาชีพมากกว่า
นายจ้างไทยมีแนวโน้มปรับตัว “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” อย่างค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย การใช้นโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า แม้ว่าในภาพรวมจะเปิดกว้างก็ตาม โดยบริษัทต่างๆ ของไทยถึง 90% มองว่านโยบายนี้เป็นไปได้ และเชื่อว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน นอกจากนี้ นายจ้าง 77% คิดว่า นโยบายนี้จะช่วยดึงดูด และรักษาพนักงานไว้ได้ และ 46% เชื่อว่ารูปแบบนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้
ทั้งนี้ แนวทางที่ได้รับความนิยมสำหรับนายจ้างหรือบริษัทต่างๆ ไทยในการดึงดูด และรักษาบุคลากรเอาไว้ ได้แก่ โครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (41%) และโปรแกรมการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะ (27%)
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายบริษัทที่มองว่ารูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นั้น "ไม่สามารถทำได้จริง" โดยนายจ้างกลุ่มที่มีความกังวลมองว่า นโยบายนี้อาจผลกระทบเชิงลบต่อการให้บริการลูกค้า เนื่องจากพนักงานไม่เพียงพอในการให้บริการลูกค้า (67%), เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เป็นผลจากการดำเนินโครงการล่าช้า (50%), เกิดความยุ่งยากในการนำนโยบายมาปรับใช้ทั้งองค์กร, นโยบายนี้อาจนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่พนักงาน (42%)
โดยสรุปของรายงานชิ้นนี้คือ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ทั้งนายจ้าง องค์กร และพนักงานส่วนใหญ่ ต่างก็เปิดรับข้อดีของการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งมองว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยดึงดูด และรักษาบุคลากรได้ อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างประจำในไทยคงต้องติดตามดูเทรนด์นี้กันต่อไปว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเริ่มทดลองใช้แนวคิด 4 วันต่อสัปดาห์ได้เหมือนกับต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งคาดว่าเทรนด์นี้น่าจะยังไม่หายไปง่ายๆ และคงอยู่ในกระแสการทำงานที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจต่อไป
อ้างอิง : Robert walters, HREX asia, Moneyandbanking
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์