เขตซานฮวน ‘รัฐวอชิงตัน’ ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ คนแห่สมัครงานประจำพุ่ง 85.5%
เทศมณฑลซานฮวนใน ‘รัฐวอชิงตัน’ ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ได้ผลดีสุดทึ่ง กระตุ้นให้วัยทำงานงานแห่สมัครงานประจำพุ่ง 85.5% แถมอัตราลาออกลดลง
KEY
POINTS
- เขตซานฮวน รัฐวอชิงตัน ทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ได้ผลดีสุดทึ่ง ผู้สมัครงานพุ่งสูงขึ้น 85.5% อัตราการลาออกลดลง 48% รวมถึงพนักงานกลุ่มตัวอย่าง 84% มีความสุขมากขึ้น
- มีวิธีการมากมายในการให้สิทธิประโยชน์แก่พนักงาน ตราบใดที่นายจ้างเปิดใจและมองหาวิธีแก้ปัญหานอกกรอบเดิมๆ แม้ว่าจะไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนให้พวกเขาก็ตาม
- สายงานบางอาชีพ เช่น ผู้ดูแลสวนสาธารณะ มีผู้คนแห่มาสมัครงานนี้มากขึ้น แถมมีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย พนักงานใหม่ให้เหตุผลที่มาสมัครงานนี้เพราะอยากทำงาน 4 วัน/สัปดาห์
อีกหนึ่งเมืองที่ทดลอง “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” แล้วได้ผลดีสุดทึ่งก็คือ เขตต่างๆ ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขตที่ได้รับการสำรวจและมีรายงานผลออกมาแล้วก็คือ เขตซานฮวน ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน โดยทางเขตได้ดำเนินการตามแผนปรับตารางงานรูปแบบใหม่มาครบหนึ่งปีเต็ม และผลการทดลอง (เผยแพร่เมื่อ 12 พ.ย. 67) พบผลลัพธ์เชิงบวกทั้งในแง่ของการสรรหาพนักงาน การรักษาพนักงาน ความสุขของพนักงาน รวมถึงการประหยัดต้นทุน
ไม่กี่วันก่อนมีรายงานจากซีเอ็นเอ็น (CNN) ระบุว่า บริษัทต่างๆ ในเขตซานฮวนของซีแอตเทิล สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถใหม่ๆ เข้ามาจำนวนมาก โดยใบสมัครงานพุ่งสูงขึ้น 85.5% และตำแหน่งงานว่างก็ถูกเติมเต็มเร็วขึ้น 23.75% ในขณะเดียวกัน อัตราการลาออกลดลง 48% รวมถึงพนักงานที่ร่วมทดลอง 84% รายงานว่าพวกเขามีสมดุลชีวิตและการทำงานดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วยให้เทศมณฑลประหยัดต้นทุนได้มากกว่า 975,000 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 34 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับสิ่งที่เทศมณฑลจะต้องจ่าย หากต้องทำตามข้อเรียกร้องการปรับขึ้นเงินเดือนของสหภาพแรงงาน
ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานไม่ได้ แต่การมอบตารางงานที่ยืดหยุ่นนั้นช่วยได้
เจสสิกา ฮัดสัน (Jessica Hudson) ผู้จัดการเทศมณฑลบอกว่า มีวิธีการมากมายในการให้สิทธิประโยชน์แก่พนักงาน ตราบใดที่คุณเปิดใจกว้างและมองหาวิธีแก้ปัญหานอกกรอบเดิมๆ คุณอาจพบวิธีการใหม่ที่ทำให้คุณสามารถรักษาพนักงานที่มีความสามารถที่ยอดเยี่ยมไว้ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนให้พวกเขาก็ตาม ในที่นี้คือการที่เทศมณฑลตัดสินใจทดลองประกาศใช้นโยบาย “ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์” เป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งตอนนี้ได้ผลลัพธ์น่าพอใจ และเทศมณฑลกำลังคิดจะขยายโครงการนี้ออกไปให้กว้างขวางมากขึ้น
ยกตัวอย่างข้อดีของการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของ “คริสเตน และ เอริก เรซาเบก” (Kristen and Eric Rezabek) ให้ดีขึ้น โดยทั้งคู่อาศัยอยู่กับลูกสองคนในเขตซานฮวนของรัฐวอชิงตัน ที่ผ่านมาพวกเขาต้องทำงานหนัก ทำงานหลายอาชีพ เพื่อหารายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในบ้าน จนจัดสรรเวลาดูแลครอบครัวไม่ค่อยได้ แต่พอเขตประกาศปรับตารางทำงานแบบใหม่ ทำให้ภาระงานของพวกเขาเบาลง และเปิดโอกาสให้พวกเขาทำอาชีพเสริมที่พวกเขารักนั่นคือการทำฟาร์มเล็กๆ
คริสเตนผู้ซึ่งทำงานพิเศษที่โรงพยาบาลท้องถิ่น จากเดิมทำงาน 6 วัน ตอนนี้ลดลงเหลือ 4 วัน แต่ยังได้รับเงินค่าจ้างเท่าเดิม เธอบอกว่ารู้สึกเครียดน้อยลงมาก การได้มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวันทำให้เธอพอใจมาก ส่วนเอริคจากเดิมที่คิดว่าจะหางานทำเพิ่ม (ที่ทำงานอยู่ห่างไกลออกไป 4 ชั่วโมงโดยการขับรถ) แต่ตอนนี้เขาใช้วันหยุดที่เพิ่มขึ้นมาทำฟาร์มเพื่อหารายได้เสริมแทนการไปทำงานไกลบ้าน อีกทั้งสามารถแบ่งเวลาไปเป็นอาสาสมัครในหน่วยดับเพลิงท้องถิ่น และมีเวลาดูแลลูกๆ ได้
“ลูกๆ ของเรา ได้ใช้เวลากับพวกเราเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เรามีลูกวัยรุ่นสองคนและพวกเขายังต้องการการดูแล การได้อยู่เคียงข้าง เพื่อให้กำลังใจพวกเขา และความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ ค่าจ้างไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต” เอริคและคริสเตนบอก
การทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน กระตุ้นวัยทำงานแห่สมัครงานประจำมากขึ้น
หน่วยงานต่างๆ ทั่วทั้งเทศมณฑลซานฮวนได้นำระบบการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ไปปรับใช้แตกต่างกันออกไป โดยสำหรับบางอาชีพ เช่น คนดูแลสวนสาธารณะ จากเดิมที่พวกเขาจำเป็นต้องเข้างานตลอดเวลา 7 วัน/สัปดาห์นั้น ก็มีการปรับรูปแบบการทำงานใหม่โดยให้พนักงานสลับเวรกันทำงาน (เพื่อที่แต่ละคนจะทำงานเพียง 4 วันและหยุด 3 วัน) หรือสวนบางแห่งก็เลือกที่จะเปิดบริการแค่สี่วันต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งเมื่อมีวันหยุดมากขึ้น คนก็อยากมาสมัครงานนี้มากขึ้นเช่นกัน
โจ อิงแมน (Joe Ingman) ผู้จัดการสวนสาธารณะประจำเทศมณฑล ให้ข้อมูลว่า สวนแห่งนี้ยังคงเปิดให้บริการเต็มเวลาเช่นเดิม แต่แผนกของเขามีการปรับตารางงานใหม่ โดยให้พนักงานสลับกันเข้ากะทำงาน เพื่อกระจายพนักงานให้อยู่ดูแลสวนได้ครบเจ็ดวันต่อสัปดาห์ และแม้ว่าการสื่อสารข้ามกะการทำงานจะเป็นอุปสรรคในช่วงแรก แต่ก็ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม อิงแมน ผู้ซึ่งทำงานนี้มา 10 กว่าปีบอกว่า ตั้งแต่ปรับตารางานแบบใหม่เขาพบว่ามันเป็นการทำงานที่ราบรื่นที่สุดเท่าที่เคยเจอมา อีกทั้งการใช้นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ยังเป็นประโยชน์ต่อการสรรหาพนักงานด้วย เมื่อฤดูร้อนที่แล้ว มีผู้สมัครงานแห่มาสมัครงานนี้มากขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย (พนักงานใหม่สองคนที่เพิ่งได้รับการจ้างงานต่างบอกว่าเหตุผลที่พวกเขามาสมัครงานนี้เพราะอยากทำงาน 4 วัน/สัปดาห์) ตารางงานแบบใหม่นี้
ทำให้อิงแมนพึงพอใจในงานของตนมากขึ้น เขาเคยเห็นเพื่อนร่วมงานหมดไฟไปเป็นเวลาหลายปี แต่ตอนนี้เขามองเห็นเส้นทางอาชีพการงานที่ดีขึ้นสำหรับอนาคตของพวกเขา
ขณะที่ เจนนี เมอร์ริตต์ (Jenni Merritt) คุณแม่ลูกสามผู้ซึ่งเคยทำงานพาร์ทไทม์หลายงานแทนการทำงานประจำ เพื่อให้ได้มีเวลาเลี้ยงลูก ก็บอกว่าเธอเองเป็นอีกคนที่หันมาสมัครงานประจำที่มั่นคง เมื่อพบว่ามีตำแหน่งงานประจำ “ในแผนกโยธาธิการ” ที่มีตารางทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ซึ่งนั่นทำให้เธอยังคงมีเวลาเลี้ยงลูกได้ และได้รายได้ดีขึ้น มีสวัสดิการดีขึ้น
“ตารางทำงานแบบใหม่ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ฉันอยากทำงานนี้ เมื่อฉันเห็นว่าตนเองมีศักยภาพที่จะได้งานประจำได้ โดยมีวันหยุดเพียงพอที่จะดูแลครอบครัว ทั้งยังเป็นงานที่ให้สวัสดิการและเงินเกษียณ ฉันจึงตัดสินใจสมัครงานนี้ทันที” เมอร์ริตต์เล่า
นอกจากนี้ เธอยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปทำงานในร้านหนังสือมือสอง ซึ่งเธอเรียกว่าเป็นงาน “ที่เติมเต็มจิตวิญญาณ” และยังช่วยให้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือนหรือค่ากิจกรรมต่างๆ สำหรับลูกๆ เช่น เก็บเงินไปเที่ยว หรือซื้อของให้ลูกๆ โดยไม่ต้องควักเงินจากรายได้หลักของครอบครัว ดังนั้น การได้ทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้นจึงช่วยให้เธอรักษาสมดุลได้โดยที่ไม่ตึงมือเกินไป สิ่งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอเลย เพราะเธอมองว่าชีวิตไม่ควรเป็นเรื่องของการทำงานหนักจนเกินไป
หลักของ “การลดชั่วโมงทำงาน” เพื่อให้ทำงานฉลาดขึ้น ไม่ใช่มุ่งแต่ทำงานหนัก
แน่นอนว่าการประกาศใช้นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ในช่วงแรกๆ ย่อมมีคนเห็นต่างและคัดค้าน มีผู้คนแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ต่างวิพากษ์วิจารณ์เทศมณฑลและพนักงานที่เห็นกับเรื่องนี้โดยโต้แย้งว่า หากพวกเขาเลือกที่จะทำงานในเวลาเพียง 32 ชั่วโมง/สัปดาห์ พวกเขาก็ไม่ควรได้รับค่าจ้างสำหรับ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์
ฮัดสัน อธิบายเพิ่มเติมว่า การนำนโยบายนี้มาใช้ในช่วงหกเดือนแรกนั้น เต็มไปด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของหลายอาชีพ ทุกหน่วยงานทุกสาขาอาชีพพยายามปรับตัวให้เข้ากับตารางงานใหม่ แต่ตอนนี้เราผ่านมาได้หนึ่งปีแล้ว ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง แม้ว่าจะมีความสับสนอยู่บ้างแต่พนักงานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้โกรธ พวกเขาเข้าใจว่านี่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในชุมชนที่ทำงานในเขตนี้ต่อไป สิ่งนี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ของชุมชน
ด้าน เจนนี เมอร์ริตต์ ให้ความเห็นว่า เราทุกคนคุ้นเคยกับแนวคิดที่ว่างานจะเสร็จได้ก็ต่อเมื่อทำงาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วคนเราสามารถทำงานเดียวกันนั้นให้เสร็จภายใน 32 ชั่วโมงได้ โดยทำงานอย่างกระตือรือร้นมากขึ้นในแต่ละชั่วโมง จดจ่อกับงานมากขึ้น มีแรงผลักดันในการทำงานมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ทำงานแบบหุ่นยนต์ อีกทั้งเมื่อเลิกงานเราก็มีเวลาเหลือเฟือที่จะดูแลครอบครัว ดูแลตัวเอง รวมถึงหางานเสริมได้ถ้าเราต้องการ
ขณะที่ คริสเตน เรซาเบก บอกว่า เธอไม่คิดว่าการลดชั่วโมงทำงานลงจะแปลว่าขี้เกียจหรือทำหน้าที่ของตัวเองไม่สำเร็จ ในทางกลับกัน การได้วันหยุดเพิ่มขึ้นมันทำให้เธอรู้สึกว่ามีพลังมากขึ้นในวันจันทร์ และไม่รู้สึกเหนื่อยล้ามากเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งมีแรงบันดาลใจอย่างมากที่จะทำงานให้เสร็จลุล่วงภายในสี่วันต่อสัปดาห์ นี่ไม่ใช่ปัญหาที่จะมาขัดขวางประสิทธิภาพการทำงาน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราได้ทำคือ การค้นหาวิธีสร้างประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ในตอนแรก เราไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเวลาทำงานมากเท่าไรนัก แต่พูดถึงเรื่องว่าเราจะปรับปรุงงานนั้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร เราจะหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าเพื่อให้ทำงานสำเร็จลุล่วงได้อย่างไร เพื่อให้เราใช้เงินภาษีของประชาชนและเวลาของพนักงานได้คุ้มค่าที่สุด” ฮัดสัน ในฐานะผู้จัดการเขตอธิบาย
ผลสำรวจ ชี้ การมีวันหยุดสามวัน จะได้รับการยอมรับมากขึ้นในอนาคต
แม้ว่าแรงจูงใจแรกที่ทำให้ทางการเขตซานฮวน ตัดสินใจนำนโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ มาใช้นั้น จะเป็นเหตุผลทางการเงินและงบประมาณ แต่พอนำมาใช้จริงปรากฏว่ามันให้ผลประโยชน์ต่อพนักงานมากกว่านั้นมาก อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวโน้มเทรนด์การทำงานใหม่ทั่วประเทศ โดยสถานที่ทำงานทั่วสหรัฐเริ่มหันมาใช้ตารางเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับภาวะหมดไฟในการทำงาน และรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้
จากการสำรวจซีอีโอหรือนายจ้างในหลายๆ บริษัททั่วสหรัฐในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา พบว่า บริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เกือบ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง กำลังมองหาแนวทางใหม่ๆ ของรูปแบบการทำงาน เช่น การทำงานสัปดาห์ละ 4 วันหรือ 4 วันครึ่ง โดยก่อนหน้านี้ วุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอร์ส เคยเสนอแนะให้พนักงานสหรัฐทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน แบบ 32 ชั่วโมง/สัปดาห์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลดระดับความเครียดในประเทศของเรา และให้ชาวอเมริกันได้เพลิดเพลินกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
แม้จะไม่มีการลดจำนวนชั่วโมงทำงานโดยรวม แต่ผลสำรวจของ Gallup เมื่อปีที่แล้วพบว่า การเพิ่มวันหยุดเป็นสามวันจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยคนงานในสหรัฐฯ ร้อยละ 77 ระบุว่าการทำงาน 4 วัน แบบ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์จะส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา
เมื่อถูกถามว่าพวกเขาอยากทำงานสัปดาห์ละ 4 วันหรือขึ้นเงินเดือน 20% พนักงานหลายคนในเขตซานฮวน ระบุว่าการขึ้นเงินเดือนในระดับงานปัจจุบันไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม เงินเดือนและระยะเวลาทำงานในสถานการร์ปัจจุบันพอดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ควรให้พนักงานเลือกได้ว่า “ต้องการเวลาพิเศษเพิ่มหรือต้องการเงินพิเศษเพิ่ม” เพื่อเป็นการให้ทางเลือกแก่พนักงาน
อย่างไรก็ตาม พนักงานของเทศมณฑลซานฮวนของซีแอตเทิล บางคนอาจไม่มีสิทธิ์ได้รับสัปดาห์การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ อย่างเป็นทางการ ในขณะนี้สิทธิ์ดังกล่าวใช้ได้กับตำแหน่งงานประมาณ 155 ตำแหน่ง ที่มีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนเท่านั้น แต่การดำเนินการในนโยบายนี้ยังคงจะขยายผลต่อไป และทำการศึกษาต่อไปตลอดระยะเวลาของสัญญารวมระยะเวลา 2 ปี เทศมณฑลจะนำเสนอรายงานอีกครั้งเมื่อครบกำหนดในปีหน้า