อินโดนีเซียนำร่องทำงาน 4 วัน วัดผลิตภาพ-สมดุลชีวิต
กระทรวงรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซียเริ่มโครงการนำร่อง ทำงานสี่วันต่อสัปดาห์เพื่อพิสูจน์ความผาสุกในชีวิตของเจ้าหน้าที่
สำนักข่าวคอมพาสของอินโดนีเซียรายงานว่า โครงการตารางงานเข้มข้น (Compressed Work Schedule) เริ่มต้นขึ้นแล้วในสัปดาห์นี้ โดยจะทดลองใช้ตลอดสองเดือนข้างหน้า ในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงอาจยื่นขอทำงานสัปดาห์ละสี่วันได้ทุกๆ สองสัปดาห์ โดยสี่วันต้องทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง มีมาตรวัดผลงาน และหัวหน้าเป็นผู้อนุมัติคำขอ
นายราบิน อินทราญัด ฮัตตารี ปลัดกระทรวงกล่าวว่า โครงการทดลองมีเป้าหมายทดสอบว่าการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์เพิ่มผลิตภาพเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่ ทั้งยังดูประสิทธิภาพหัวหน้างานในการจัดการทีมที่ต้องทำงานในระบบสี่วัน
“ทีมอาจทำงานหนักเกินไป ดังนั้นหัวหน้าจะต้องมีมาตรการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทีมมีโอกาสสร้างสมดุลชีวิตและงาน นี่คือประเด็นสำคัญ” นายราบินกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ม.ค. กระทรวงได้สำรวจระดับความเครียดของเจ้าหน้าที่พบว่า จำเป็นต้องมีสมดุลชีวิตและงานให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้โครงการนำร่องจึงต้องการยกระดับความผาสุกในชีวิตของพนักงาน
นายเอริก โธฮีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจเสนอโครงการทำงานสัปดาห์ละสี่วันมาเมื่อเดือน มี.ค.ให้เป็นวิธีการปรับปรุงสุขภาพจิตเจ้าหน้าที่ เจ้าตัวกล่าวว่า คนหนุ่มสาวอินโดนีเซีย 70% มีปัญหาสุขภาพจิตส่งผลต่อผลิตภาพ แต่การให้พนักงานหยุดสามวันใช่ว่าจะทำให้พวกเขาขี้เกียจ การทำงานสี่วันต่อสัปดาห์เป็นทางเลือกที่พวกเขาทำได้เดือนละสองครั้ง
ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโครงการนำร่องจะขยายไปถึงกระทรวงอื่นๆ หรือไม่ กระทรวงรัฐวิสาหกิจนั้นมีเจ้าหน้าที่ราว 400 คน ถือว่าเล็กสุดกระทรวงหนึ่งจาก 34 กระทรวงของอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้นายโธฮีร์เคยกล่าวว่า รัฐวิสาหกิจสามารถพิจารณาทางเลือกนี้ได้
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีรัฐวิสาหกิจ 41 แห่ง เจ้าหน้าที่ราว 1.6 ล้านคน
ในระดับโลก หลังโควิด-19 ระบาด ประเทศและบริษัทต่างๆ หันมาทำงานสัปดาห์ละสี่วันกันมากขึ้น เช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร สเปน และโปรตุเกส
ในเอเชีย หลายเมืองของญี่ปุ่นเริ่มทดลองทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ใช้ระบบนี้เช่นกัน แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องมีภาระพิเศษเช่น ต้องเลี้ยงลูกหรือดูแลสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว แผนการบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนในญี่ปุ่นจะเริ่มต้นขึ้นในเดือน เม.ย.2568
ที่อินโดนีเซีย บริษัทที่ทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ส่วนใหญ่เป็นสตาร์ตอัพ เช่น อลามี (Alami) ฟินเทคตามกฎหมายชารีอะห์, โบลต์ (Bolt) แพลตฟอร์มชำระเงินอีคอมเมิร์ซ และคิกสตาร์ตเตอร์ (Kickstarter) แพลตฟอร์มระดมทุน
ดร.เอโก สกาปุรณามา นักกลยุทธ์จัดการทรัพยากรมนุษย์ และอาจารย์วิทยาศาสตร์การบริหาร มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยว่า ตารางงานแบบสามวันอาจมีประโยชน์ลดความเครียด ปรับปรุงสุขภาพจิต และเพิ่มความพึงพอใจในงาน แต่จะประสบความสำเร็จได้บริษัทควรปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์ เช่น มีวัฒนธรรมการทำงานอย่างแข็งขันรับผิดชอบ ผลงานวัดได้ องค์กรมีความพร้อมและมีวุฒิภาวะ
นอกจากทำงานสี่วันต่อสัปดาห์แล้ว อีกหนึ่งทางเลือกของการทำงานแบบยืดหยุ่น เช่น อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้าน