เยอรมนีเผย ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ผลดี บริษัท 73% จะนำไปใช้จริง

เยอรมนีเผย ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ผลดี บริษัท 73% จะนำไปใช้จริง

โครงการนำร่องทำงานสัปดาห์ละ 4 วันของบริษัทต่างๆ ในเยอรมัน รวมระยะเวลา 6 เดือนทั่วประเทศครอบคลุม 45 บริษัท ผลลัพธ์คือส่วนใหญ่เชื่อมั่นในการทดลอง เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของพนักงานจริง

ก่อนหน้านี้เยอรมนีเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ประเทศโซนยุโรปที่เปิดใจทดลองลดชั่วโมงทำงานของพนักงานบริษัทต่างๆ หรือจัดทำโครงการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งใช้เวลาทดลองและศึกษาในระยะเวลา 6 เดือน ครอบคลุม 45 บริษัททั่วประเทศ

ล่าสุดได้มีการเปิดเผยรายงานผลการทดลองดังกล่าว เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า 73% ของบริษัทกลุ่มตัวอย่างจะนำแบบจำลองดังกล่าวไปใช้เต็มรูปแบบหรือขยายการทดลองออกไป แม้ว่าจะมีบริษัทขนาดใหญ่ 2 แห่งถอนตัวออกไปก่อนกำหนดเนื่องจาก “เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจหรือขาดการสนับสนุนภายในองค์กร” 

การทดลองครั้งนี้ของกลุ่มบริษัทต่างๆ ในเยอรมนีพบว่า เกือบ 3 ใน 4 ของบริษัทผู้เข้าร่วมทดลอง จะไม่กลับไปใช้การทำงานตามมาตรฐานเดิมแบบ 5 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป

ปัจจุบันเยอรมนีกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์และเศรษฐกิจเช่นเดียวกับชาติตะวันตกอื่นๆ อีกทั้งคาดว่าจะมีผู้คนมากกว่า 7 ล้านคนออกจากตลาดแรงงานภายในปี ค.ศ. 2035 เนื่องจากอัตราการเกิดใหม่น้อยลง และการย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศจำนวนมาก จนทำให้แรงงานในตลาดงานไม่เพียงพอที่จะเข้ามาทดแทนประชากรสูงอายุที่ทยอยเกษียณไปเรื่อยๆ 

ก่อนหน้านี้ผลการศึกษาวิจัยในเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปอย่าง สหราชอาณาจักร รวมถึงโปรตุเกส และแอฟริกาใต้ ก็สนับสนุนโครงการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองตามความเห็นพนักงานในบริษัทต่างๆ ของเยอรมนีรายงานว่า พวกเขามีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่นายจ้างเองก็เห็นผลดีในแง่ของการรักษาอัตราการรักษาพนักงานเดิมเอาไว้ได้ นอกจากนี้ตัวชี้วัดประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัท เช่น รายรับและกำไร ยังคงมีเสถียรภาพมั่นคงดี โดยรวมแล้วสรุปได้ว่า การลดชั่วโมงการทำงานลง แสดงให้เห็นถึงผลกำไรจากผลิตผลของงานที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ในเยอรมนีเข้าร่วมโครงการดังกล่าวก็เพราะว่าต้องการทำให้บริษัทหรือนายจ้างสามารถดึงดูดใจผู้สมัครงานรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานด้วยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็อยากให้พนักงานเดิมมีสุขภาพจิตดีขึ้น รวมถึงอยากให้มีการเติบโตของผลิตผลขององค์กร