หมู่บ้านแบบอนุรักษ์ระบบนิเวศ | วิทยากร เชียงกูล
หนังสือ "ชุมชนนิเวศน์วิถี - บทเรียนเปลี่ยนชีวิตและโลก" แปลมาจาก Ecovillages: Lesson for Sustainable Community เสนอเรื่องแนวทางและประสบการณ์ของคนที่ไปสร้างชุมชนเศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืนได้อย่างมีแง่คิดน่าสนใจ
“ใครก็ตามที่เชื่อว่าการเจริญเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเป็นไปได้บนดาวเคราะห์โลกที่มีขีดจำกัด ถ้าไม่ใช่คนบ้า ก็ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น”
เคนนิธ บูลดิ้ง (1910-1993) นักเศรษฐศาสตร์แนวอนุรักษ์ระบบนิเวศ
คาเรน พี. ลิตพิน อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ เขียนหนังสือ Ecovillages: Lesson for Sustainable Community แบบเรียบง่ายผสมความคิดความรู้สึกส่วนตัวได้อย่างน่าอ่าน ทางสำนักพิมพ์อีนี่บุ๊คส์นำมาแปลในชื่อ “ชุมชนนิเวศน์วิถี - บทเรียนเปลี่ยนชีวิตและโลก”
ผู้เขียนได้ไปสำรวจและสัมภาษณ์สมาชิกของหมู่บ้าน Ecovillages ที่ประสบความสำเร็จในทวีปต่างๆ ทั่วโลก รวม 14 แห่ง และเขียนเชิงอธิบายวิเคราะห์ในเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่องคือ 1. เรื่องระบบนิเวศ/นิเวศวิทยา 2. เศรษฐกิจแบบยั่งยืน 3. การจัดความสัมพันธ์ในชุมชนแบบยั่งยืน 4. จิตสำนึกความยั่งยืนจากด้านใน
หมู่บ้านแบบ Eco Villages หมายถึงชุมชนของคนที่ตั้งใจมาอยู่ร่วมกัน โดยเน้นเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ทั้งในชนบทและในเมือง นอกจากเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศแล้ว บางชุมชนก็มีความเชื่อทางศาสนา/จิตวิญญาณหรือมีความเชื่อเรื่องระบบเศรษฐกิจสังคมบางอย่าง เช่น แบบสหกรณ์ แบบสังคมนิยมประชาธิปไตยทางตรง และการจัดการตนเองโดยไม่พึ่งระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ไม่พึ่งรัฐบาลกลางหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
ชุมชนอนุรักษ์ระบบนิเวศแต่ละแห่งมีขนาดพื้นที่และจำนวนผู้สมาชิกอยู่อาศัยที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มักจะเน้นการทำเกษตรอินทรีย์ การใช้พลังงานทางเลือก การผลิตอาหาร สร้างบ้านอาคารแบบใช้วัสดุธรรมชาติ การทำงาน การดำเนินชีวิตแบบช่วยเหลือพึ่งพากันในชุมชน ในเขตเมือง มีชุมชนที่ทำหัตถกรรม ค้าขาย ให้บริการด้านอื่นๆ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงชุมชน
สิ่งที่พวกชุมชนเหล่านี้เน้นคล้ายกันคือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ พวกเขาเห็นว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการบริโภคนั้น เป็นตัวการที่ทำให้โลกเกิดวิกฤตหายนะของระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อม
ผู้เขียนมองอย่างปัญญาชนคนชั้นกลางว่าความจริง ความเป็นไปได้นั้นเป็นอย่างไร บางเรื่องเธอวิเคราะห์วิจารณ์อย่างแหลมคม เช่น มองว่าการสร้างบ้านแบบใช้ฉนวนกันความร้อนสมัยใหม่ที่ใช้วัสดุราคาสูงหรือการใช้รถยนต์รุ่นใหม่ที่พลังงานไฟฟ้านั้นเราควรพิจารณาถึงต้นทุนในการใช้ทรัพยากรและพลังงานในการสร้างมันขึ้นมาด้วย
เพราะมีต้นทุนสะสมในการสร้างสินค้าเหล่านี้สูงมาก การใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวราคาแพงถึงอย่างไรก็ยังสิ้นเปลืองอยู่ดี สู้ใช้รถจักรยาน การขนส่งสาธารณะ หรือสร้างชุมชนขนาดเล็กที่มีทุกอย่างพร้อมหรือเกือบพร้อม คนในชุมชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล ไม่ต้องขนส่งทางไกล น่าจะเป็นวิธีที่อนุรักษ์ระบบนิเวศได้ดีกว่า
รัฐบาลเซเนกัลเชิญชวนให้ผู้บุกเบิก Eco Village ที่มีความรู้ความชำนาญจากประเทศอื่นให้ไปช่วยทำหมู่บ้าน Eco Village เป็นโมเดล และมีนโยบายที่จะทำหมู่บ้านแบบเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศทุกหมู่บ้านในอนาคต สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศบางองค์กรก็สนใจเรื่องนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน คนที่มีการศึกษาดี มีเงินเดือนสูง
หลายคนที่ไม่มีความสุขกับชีวิตแบบสังคมเมืองใหญ่ที่แออัด พลุกพล่าน เน้นการทำงานหาเงินแก่งแย่งแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน ลาออกจากงานประจำไปสร้างหรือเข้าร่วมชุมชนแบบอนุรักษ์ระบบนิเวศ เพราะพวกเขาต้องการใช้ชีวิตในชุมชนทางเลือก และให้ลูกๆ ได้เติบโตในชุมชนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสังคมที่มีความสุข และมีอนาคตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศมากกว่า
ชุมชนเหล่านี้แต่ละแห่งมีประวัติการก่อตั้งและการพัฒนาแตกต่างกัน มีกฎเกณฑ์ กติกา การอยู่ร่วมที่แตกต่างกันไปแล้วแต่สมาชิกส่วนใหญ่จะตกลงกัน บางแห่งสมาชิกมาอยู่ร่วมกันอย่างหลวมหลวมๆ ต่างคนต่างมีบ้านของตนเอง แต่ใช้สถานที่และเครื่องมือของใช้ใหญ่ๆ หลายอย่างร่วมกันเพื่อการประหยัดทรัพยากรและพลังงาน และใช้วิธีจ่ายค่าสมาชิก หรือบางแห่งทำเป็นระบบสหกรณ์ ระบบบริษัทที่ถือหุ้นร่วมกัน ทำงานร่วมกัน สิ่งของและบริการที่ชุมชนผลิตและขายได้มีการนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน
สมาชิกชุมชนบางคนยังทำงานให้โลกภายนอกแต่ก็มักเอารายได้มาจุนเจือแบ่งปันกันในชุมชน ชุมชนบางแห่งมีการโอนทรัพย์สิน รายได้ส่วนตัว เป็นของส่วนรวมแบบคอมมูน และคณะกรรมการนำรายได้นั้นมาจัดสรรเงินเดือนสมาชิกทุกคนที่เน้นความพอเพียงเป็นธรรม ถ้าใครตัดสินใจลาออกจากชุมชนก็จะได้ทรัพย์สิน หรือขายต่อส่วนที่เคยเป็นของส่วนตัวได้ เป็นคอมมูนแบบสมัครใจและเป็นประชาธิปไตย
ผู้เขียนวิเคราะห์ทั้งจุดแข็งจุดอ่อนของชุมชนอนุรักษ์ระบบนิเวศแต่ละแห่ง รวมทั้งการสัมภาษณ์สมาชิกอย่างหลากหลาย ทำให้เรารู้จักประสบการณ์ ความคิดอ่านของสมาชิกบางคนในหลายแห่งได้อย่างชัดเจนเพิ่มขึ้น
ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกในชุมชนแต่ละแห่งมีมากพอสมควร เช่น บางพวกเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศ บางพวกเน้นการพัฒนาจิตสำนึกจิตวิญญาณ แต่พวกเขาพยายามเรียนรู้ที่จะใช้เทคนิคการประชุมหรือปรึกษาหารือกันอย่างเป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนที่ผู้เขียนเลือกไปศึกษาเป็นตัวอย่างแก้ปัญหาได้เป็นส่วนใหญ่
ที่สำคัญคือการที่สมาชิกมีอุดมการณ์ร่วมกันและเชื่อถือไว้วางใจกัน ที่ทำให้ชุมชนเหล่านี้ยังอยู่และเติบโตได้ แม้ว่าจะมีคนบางคนลาออกไปบ้าง แต่ก็มีคนใหม่เข้ามาทดแทน
การสร้างหมู่บ้านแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะมีเงื่อนไขที่ทำได้ยาก แต่เราก็อาจใช้แนวคิดการแบ่งปัน ทำอะไรร่วมกันบางอย่าง มาใช้ร่วมกับเพื่อนบ้านในชุมชนทั่วไปของเราได้ในหลายรูปแบบ ถ้าประชาชนมีความรู้ตื่นตัวเรื่องระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็จะสามารถผลักดันรัฐบาลให้สนใจนโยบายการพัฒนาแบบยั่งยืนที่ลดการทำลายระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการหากำไรและการบริโภคที่มากเกินกำลังของระบบนิเวศของโลก
การบริโภคแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม สร้างปัญหาวิกฤตสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และภูมิอากาศแปรปรวนขนาดหนัก คนรวย คนชั้นกลาง ใช้รถส่วนตัว และบริโภคมาก ทำลายทรัพยากร ใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซ) มากเกินไป คือหายนะสำหรับมนุษย์ในดาวเคราะห์ชื่อโลกที่มีขีดจำกัดมากดวงนี้ หมู่บ้านแบบอนุรักษ์ระบบนิเวศคือคำตอบสำหรับโลก ที่ควรได้รับการดูแลให้มีความยั่งยืนทางระบบนิเวศเพื่อความเป็นธรรมต่อคนรุ่นหลังด้วย.