เปิดประเทศ 1 พ.ย. ใครพร้อมใครไม่พร้อม?

เปิดประเทศ 1 พ.ย. ใครพร้อมใครไม่พร้อม?

ตามสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้ว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน จนวันนี้ได้ประกาศแล้วว่า วันที่ 1 พ.ย. นี้ จะเปิดรับนักท่องเที่ยวผู้ฉีดวัคซีนครบโดสจากประเทศความเสี่ยงต่ำอย่างน้อย 10 ประเทศ ให้สามารถเดินทางเข้าทางเครื่องบินได้

 รวมถึงผ่อนคลายมาตราการเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประเทศไทย รวมถึงให้บรรดาผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร กลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

แต่ในขณะเดียวกันก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกกังวลหรือไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศครั้งนี้ เนื่องจากยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์การแพร่ระบาด เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ก็ยังคงอยู่ในหลักหมื่นต่อวัน จำนวนผู้เสียชีวิตหลักร้อยต่อวัน รวมถึงคลัสเตอร์ใหม่ ๆ  ที่ผุดขึ้นต่อเนื่องในหลายจังหวัด ก็ยิ่งสร้างความกังวลใจและสร้างคำถามให้กับประชาชนอย่างมากว่า รัฐบาลพร้อมที่จะเปิดประเทศแล้วจริง ๆ  หรือ และหากความพร้อมของการบริหารจัดการของรัฐบาลอยู่ในระดับนี้แล้วการเปิดประเทศครั้งนี้จะได้คุ้มเสียหรือไม่

สุดท้ายหากสถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมจนต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้งจะมีมาตรการรองรับและการแก้ไขปัญหาอย่างไร? 

 

ถึงวันนี้ แม้ว่าในภาพรวมการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ตัวเลขจะทะลุ 64 ล้านโดส (ยอดฉีดวัคซีนถึงวันที่ 16 ตค.) แต่อัตราการคนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มมีเพียง 55% และได้รับวัคซีนครบโดสที่จะป้องกันได้มีเพียง 38% ซึ่งยังไม่มากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ทยอยประกาศเปิดประเทศไปก่อนหน้านี้ อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสก็นำหน้าไทยไปมาก เช่น สิงคโปร์ มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วถึง 81%, แคนาดา 72%, อังกฤษ 68% และ ฝรั่งเศส 66% หรือแม้แต่ ออสเตรเลีย ที่เตรียมจะเปิดประกาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้เหมือนกับไทย ก็ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนครบโดสให้ได้ 55% ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งตอนนี้ก็ดำเนินการไปได้มากกว่า 50% แล้ว

เมื่อลองมาดูข้อมูลการได้รับวัคซีนที่ลงลึกไปเฉพาะจังหวัดจากกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 10 ตุลาคม พบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มสูงพอ มีอยู่เพียง 2-3 จังหวัดเท่านั้น เช่น จังหวัดภูเก็ตมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มอยู่ที่ 75.7%, กรุงเทพฯ  61.0% แต่ในขณะที่ Top Destination หรือจุดหมายยอดฮิตของนักท่องเที่ยวอื่น ๆ ของไทยยังมีอัตราฉีดครบ 2 เข็มต่ำอยู่ เช่น ชลบุรี 49.6%, พังงา 48.0%, หัวหิน 37.5%, กระบี่ 30.8% และ เชียงใหม่ 30.7% เป็นต้น

หากเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้นอีก สถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่?

แม้ สธ.จะยืนยันว่าปัจจุบันไทยนั้นมีวัคซีนมากพอ แต่ต้องไม่ลืมคำนึงถึงกรณีของจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนอ่อนประสิทธิภาพที่ยังต้องรอการบู๊สต์ และการเลือกผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดหลังจากนี้ โดยข้อมูลจาก Financial time พบกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศอังกฤษ ที่มีการเปิดประเทศพร้อมคลายมาตรการที่ป้องกันการแพร่ระบาดอย่างการใส่หน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่กลับพบว่า อัตราป่วยของกฤษ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ใน EU ถึง 6 เท่า และยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 3 เท่า โดยมาจากเหตุผล 3 ประการได้แก่

1. อังกฤษยกเลิกมาตรการทั้งการใส่หน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคม

2. อังกฤษมีสัดส่วนการใช้ AZ มากกว่าประเทศอื่นใน EU ที่หันไปใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก

3. อัตราและสัดส่วนการฉีดวัคซีนให้เด็กยังไม่สูงพอ

เห็นข้อมูลแบบนี้แล้วธุรกิจควรเตรียมรับมืออย่างไร?

1. อย่าประมาท อย่าการ์ดตก : ต่อให้ฉีดวัคซีนแล้วต้องไม่ลืมว่า วัคซีนที่ได้รับนั้น ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% การใส่หน้ากาก รักษาความสะอาด และรักษาระยะห่าง ยังเป็นสิ่งที่ยังต้องทำอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีพนักงานบริการหน้าร้าน

2. ตรวจเชื้อพนักงานให้ถี่เพียงพอ : ความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงานซึ่งมีผลต่อลูกค้าที่มาใช้บริหาร เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องไม่ละเลย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดจะให้เชื่อมั่นกับลูกค้าได้ โดยการตรวจเชื้อพนักงานทุกคนจากชุด ATK ทุก 3-5 วัน

3. มาตรการหน้าร้านที่ต้องเคร่งครัด : ไม่ว่าจะเป็นการจัดที่ให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างลูกค้า การจำกัดปริมาณลูกค้าภายในร้าน การระบายอากาศ รวมไปถึงการแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนหรือผลตรวจ ATK ของลูกค้า และเช็คอินไทยชนะก่อนเข้าร้านสำหรับบริการที่จำเป็น

4. ใช้ระบบจองเข้าใช้บริการล่วงหน้า : เพื่อลดความแอดอัดของหน้าร้านและบริเวณใกล้เคียงที่ลูกค้าต้องนั่งรอเพื่อเข้าใช้บริการ เพราะนาทีนี้ไม่มีลูกค้าคนไหนอยากรอการใช้บริการร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานาน ๆ  อีกต่อไป

5. อาจเตรียมช่องทางสำรองในการเช็คอินและแจ้งเตือนให้ลูกค้า : นอกจากไทยชนะแล้ว อาจต้องเตรียมช่องในการเช็คอินหน้าร้านสำหรับลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ พร้อมข้อมูลแจ้งเตือนติดต่อกลับได้ เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น การติดของลูกค้าหรือพนักงานในวันที่ลูกค้าเข้าใช้บริการ เพื่อแจ้งเตือนให้ลูกค้าทราบอย่างรวดเร็ว

นอกจากผู้ประกอบการที่ต้องเช็คลิสต์ความพร้อมอย่างต่อเนื่องแล้ว รัฐบาลซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงที่จะดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ ต้องลงพื้นที่เพื่อสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นในหน้างานจริงและความต้องการรับความช่วยเหลือโดยเฉพาะของผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อให้สามารถนำไปวางแผนและออกมาตรการ เพื่อป้องกัน รองรับ และเยียวยาให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ ลูกจ้าง เศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนในที่สุด