ความจริงที่ควรรู้ |อมร วาณิชวิวัฒน์
ห่างหายจากคอลัมน์นี้ไปนานเกือบปีครับ วันนี้มีประเด็นที่จำเป็นต้องมาขยายความทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ผมถือเป็นสถานที่ฟูมฟักสร้างผมให้มีโอกาสลืมตาอ้าปากในสังคมได้ จึงต้องแสดงความเห็นที่จะช่วยให้ "พื้นที่สาธารณะ" ได้รับรู้ในสิ่งที่อาจไม่เคยรู้ หรืออาจรับรู้แต่มีความคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปตามกระแสสื่อทางสังคมที่มีอยู่ดาษดื่น
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สถาปนาขึ้นโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามมหาวิทยาลัยเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศแด่องค์พระราชบิดาของพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช ของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า
พวกเราต่างทราบดีว่า ยุคสมัยนั้นการล่าอาณานิคมของลัทธิจักรวรรดินิยมจากฝั่งยุโรปเป็นภัยคุกคามที่ประชิดติดแดนเข้ามา การจะต่อกรกับคนเหล่านี้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์คงเป็นสิ่งที่เกินขีดความสามารถ แต่สิ่งที่จะทำให้เราทัดหน้าเทียมตาและมีปากมีเสียงกับชาวโลกได้คือ การศึกษา พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ได้ทรงส่งพระราชโอรสพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารบางท่านไปศึกษาอบรมวิทยาการหลากหลายสาขาในต่างประเทศ
หนึ่งในนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เดิมทรงศึกษาวิชาการทหารอยู่ที่ โรงเรียนการทหารแซนด์เฮิรส ประเทศอังกฤษ แต่เมื่อทรงทราบว่าจะต้องกลับมารับพระราชภาระอันยิ่งใหญ่ในการปกครองประเทศสยาม พระองค์จึงตัดสินพระทัยไปศึกษาต่อทางด้านการเมืองการปกครองและสาขาที่เกี่ยวข้องที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด
เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ ได้ทรงเล็งเห็นวัดวาอารามนั้นมีมากแล้ว แต่สิ่งที่ควรจัดสร้างเพื่อประชาชนได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ การศึกษา ทำให้ทรงสถาปนา สถาบันการศึกษาที่สำคัญเป็นแบบอย่างมากระทั่งทุกวันนี้หลายแห่ง ทั้ง วชิราวุธวิทยาลัย รวมทั้ง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ด้วย ให้ความสำคัญขนาดที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางพระศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง
การจัดการบริหารเก็บประโยชน์ที่ทำกินมาบำรุงกิจการการศึกษาก็เป็นแบบอย่างเดียวกับที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยที่พระบาทสมเด็จพระวิชรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสืบสานพระราชปณิธานด้วยการพระราชที่ดินอีกหลายผืนที่คณะราษฎรได้ยึดไปเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลับคืนแก่สถาบันการศึกษาทั่งสองแห่ง เช่น ที่ดินบริเวณถนนราชดำริอันมีมูลค่าเหลือคณานับ
เกี่ยวกับเรื่องที่ดินที่จุฬาฯ ถือครองอยู่นั้น เป็นไปตามที่ พลเอก ม.จ. จุลเจิม ยุคล ได้มีการเผยแพร่ให้ได้ทราบไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ แต่จุฬาฯ ยังคงเอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านได้ใช้ประโยชน์ เช่น สถาบันเทคโนโลยีภาคตะว้นออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ที่เรื่องไปถึงศาลฎีกาตัดสินให้ที่ตั้งเป็นกรรมสิทธิของจุฬาฯ โดยชอบ ไม่เว้นแม้แต่สนามกีฬาศุภชลาศัย สถานีตำรวจปทุมวัน สำนักงานเขตปทุมวัน อีกทั้งที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที
จะเห็นได้ชัดเจนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่อยู่คู่กับประชาชนพสกนิกรของพระองค์ เป็นเสมือนสิ่งที่หลอมรวมเข้าด้วยกัน เมื่อมีพระประมุขก็ต้องมีผู้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารเป็นของคู่กัน แต่การเมืองเป็นเรื่อง “สมบัติผลัดกันชม”
ผมเองสมัยที่เรียนหนังสือที่อ๊อกซ์ฟอร์ดได้ร่วมกับเพื่อนนักเรียนจัดตั้งกลุ่มผู้นำความคิด Oxford Initiatives เคยทำหนังสือให้ความเห็นมายังคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลอยู่หลายครั้ง เพราะเราเห็นจริงว่า “การเมืองมาแล้วก็ไป” แต่สิ่งที่ต้องคงอยู่และเป็นที่พึ่งพาให้กับประชาชนได้คือสถาบันพระมหากษัตริย์
เพราะเรามองโลกตามความเป็นจริงว่า ประชาชนเองจะได้รับความสุขปลอดภัยตั้งแต่โบราณกาลนานมาก็ด้วยพระบารมีแผ่ไพศาลขององค์พระประมุข ขณะเดียวกันพระประมุขเองดำรงคงอยู่ได้ด้วยมหาศรัทธาของปวงชนทั้งหลาย จึงเป็น “กลไก” ที่ทำงานประสานกันในตัวเอง เป็นสิ่งที่สถาบันได้ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา (dynamic) เพราะต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน
ในยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงที่มีคนบางกลุ่มพยายามคุกคามท้าทาย ก็อาศัยวิธีการ “สร้างข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ” เพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม สมัยก่อนไม่มีโซเชียล ก็ใช้วิธีสร้างกองทัพมด กระจายข่าวให้ไปเล่าเรื่องตามชุมชนเป็นกลุ่มๆ เวลานั้นคนยังไม่มากเมื่อไม่มีสื่อแบบสมัยนี้ การแพร่กระจายแม้จะไม่รวดเร็วมากแต่เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ
มาวันนี้เป็นยุคของสังคม “ข่าวสาร” ทำให้พวกเราต้อง “รู้เท่าทัน” หลายเรื่องที่เป็นการยัดเยียดบีบบังคับให้เชื่อ โดยการอ้างความทันสมัย ความศิวิไลซ์ของประเทศที่เคยคุกคามย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ เรื่องวัฒนธรรมความเชื่อ เป็นสิ่งที่มีที่มาที่ไป ประเพณีอันดีงาม อยู่ที่มุมมอง คนที่อคติก็จะคิดในทางลบแต่คนที่มองเป็นความสวยงามก็จะเห็นการขับเคลื่อนของกงล้อประวัติศาสตร์แฝงอยู่ในสิ่งเหล่านั้น.