เปิดประเทศ 1 พ.ย. ความหวังคนไทยคิดว่าจะดีขึ้น
เปิดมุมมอง สะท้อนการเปิดประเทศ 1 พ.ย. ความหวังคนไทยคิดว่าจะดีขึ้น
คงติดตาม "การเปิดประเทศ" 1 พ.ย. 64 ความเคลื่อนไหวของรัฐบาล โดยมีอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายการจัดทำข้อกำหนดการดำเนินงาน เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลกิจการประเมิน ติดตาม และเฝ้าระวัง สถานประกอบการต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
ส่วนที่ 1 Self Certification : ให้สถานประกอบการทุก Setting ลงทะเบียน ประเมินตนเองบนระบบ Thai Stop COVID Plus เพื่อยกระดับตามมาตรการ COVID Free Setting และให้ทุกสถานประกอบการติด E-Certificated ในจุดที่ผู้ใช้บริการเห็นเด่นชัด
ส่วนที่ 2 People Voice : ประชาชนสามารถประเมิน แนะนำ ติชม ร้องเรียน สถานประกอบการในพื้นที่ COVID Free Area/Zone ผ่านช่องทาง QR Code ใน E-Certificate , Website Thai Stop COVID Plus และ เฟซบุ๊ก “ผู้พิทักษ์อนามัย (COVID Watch)”
ส่วนที่ 3 Active Inspection : จัดตั้งคณะกรรมการ ร่วมตรวจ กำกับ COVID Free Area/Zone ภาครัฐและภาคประชาชน ตรวจประเมินทุก 2 สัปดาห์ กำกับมาตรการตาม พรบ.การสาธารณสุข และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดทำ Checklist และเป้าหมาย โดยตรวจสอบข้อมูลบน Thai Stop COVID Plus ให้คำแนะนำ ตักเตือน กิจการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด (พรบ.การสาธารณสุข พรบ.โรคติดต่อ พรบ.สถานบริการ และ พรก.ฉุกเฉิน)
ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไปว่า การเปิดประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมเดินหน้าไปได้เป็นความจำเป็นที่หลายฝ่ายเข้าใจ
และยอมรับได้ว่า ถึงแม้การระบาดของโควิด-19 ยังมีอยู่ แต่เราก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ไปพร้อมๆ กับการใช้ชีวิตทำมาหากินตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การเปิดประเทศสามารถทำได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องสะดุดหยุดลงแล้วกลับไปปิดประเทศ ปิดเมืองกันอีกครั้ง เพราะไม่สามารถระงับยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้ ภาครัฐจึงควรมีมาตรการรองรับการเปิดประเทศได้ต่อเนื่องดังนี้
1. เร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้ได้มากกว่า 70% ในจังหวัดท่องเที่ยวและในพื้นที่ควบคุม และเข้มงวดสูงสุด (สีแดงเข้ม) รวมถึงพื้นที่ควบคุมสูงสุด
2. ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการความร่วมมือในการเฝ้าระวังให้ปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของทางสาธารณสุขอย่างจริงจัง
3. เตรียมแผนงานรองรับการแพร่ระบาดรอบใหม่ให้อยู่ในวงจำกัดและบริหารจัดการไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่
4. ภาครัฐต้องจัดแคมเปญใหญ่ระดับชาติอย่างต่อเนื่องจริงจัง รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงการปฏิบัติตนบนหนทางของการอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย
ส่วนฝ่านค้าน พรรคเพื่อไทย นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้กรณีรัฐบาลอนุมัติให้มีโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs (เอสเอ็มอี) เพื่อจ่ายเงินสนับสนุนบริษัทที่คงการจ้างงานระหว่างเดือน พ.ย.2564-ม.ค.2565 เป็นเวลา 3 เดือน ว่ารัฐบาลนอนหลับเพิ่งตื่น จึงออกนโยบายผิดเวลาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ที่ธุรกิจบางรายเริ่มกลับมาจ้างงาน
ทั้งที่นโยบายคงการจ้างงานเป็นมาตรการสำคัญที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดหนักและต้องมีการสั่งปิดกิจการเป็นเวลานาน จนหลายธุรกิจต้องเลิกจ้างพนักงาน ปิดกิจการไปนับไม่ถ้วน เพราะการบริหารที่ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล จนทำให้คนว่างงานจากการรายงานของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพิ่มขึ้นเป็น 7.3 แสนคน เป็นคนตกงาน 4.4แสนคน และเด็กจบใหม่ 2.9 แสนคน อีกทั้งตัวโครงการเองก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางให้ผู้ประกอบการทั่วไปทราบ ราวกับอยากทำเงียบๆ ไม่อยากให้มีบริษัทลงทะเบียนขอรับการสนับสนุน
ช่วงเวลานี้ที่รัฐบาลรณรงค์เปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจ ให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น แต่ประชาชนโดยทั่วไปยังมีรายได้ตกต่ำ และหลายคนยังคงตกงานอยู่ นโยบายหลักของรัฐบาลควรเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนที่พอมีกำลังซื้อนำเงินออกมาใช้ เช่น มาตรการใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีรายได้ หรือมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เช่น การอุดหนุนภาษีเพื่อลดราคาสินค้า หรือการงดเว้นการเก็บค่าบริการบางอย่างเพื่อลดค่าครองชีพ ให้ประชาชนที่ยังลำบาก สามารถมีเงินเพียงพอจะซื้อสินค้า บริการ และจ่ายค่าเดินทางในชีวิตประจำวันได้ จะเหมาะสมกว่า
ขณะเดียวกัน กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความหวังคนไทยกับการเปิดประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19” ถามกรณีเรื่องที่หวังกับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 51.1 หวังว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 43.4 หวังว่าจะเกิดผลดีกับธุรกิจร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ร้อยละ 42.7 หวังว่าจะสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน ร้อยละ 39.9 หวังว่ากระตุ้นการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยว ร้อยละ 37.5 หวังว่าไม่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ ร้อยละ 20.2 หวังว่าสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศ และร้อยละ 10.5 อื่นๆ เช่น ไม่ได้หวัง ไม่มีความเห็น ยังไม่อยากให้เปิด
ถามว่าการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ท่านกังวลกับเรื่องใดว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 พบว่า เรื่องที่กังวลมากที่สุดคือ การอนุญาตให้เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ ภายในวันที่ 1 ธ.ค. คิดเป็นร้อยละ 72.0 รองลงมาคือ การที่นักท่องเที่ยวต้องฉีดวัคซีนครบแล้วมาจากประเทศที่ความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกักตัว คิดเป็นร้อยละ 66.5 ร้อยละ 62.4 การให้ 4จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว(กทม.-กระบี่-พังงา-ภูเก็ต) ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ และ ร้อยละ 26.4 ยกเลิกเคอร์ฟิวทุกพื้นที่ เว้น 7 จังหวัดแดงเข้ม นอกจากนั้นเมื่อถามถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากน้อยเพียงใด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 72.0 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 28.0 กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
ถามว่า ภาพรวมคิดว่าการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ ประเทศจะเป็นอย่างไร พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 46.3 คิดว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ร้อยละ 27.5 คิดว่าจะทำให้แย่ลง ส่วนร้อยละ 26.2 คิดว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
สำหรับผู้เขียน มองว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในประเทศ และประเมินอารมณ์ความรู้สึกผู้คนในสังคมแล้ว ยังคงเชื่อว่า "เปิดประเทศ" ถือเป็นทางเดินในการแก้ปัญหาคู่ขนาน ระหว่างโรคระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งการย่ำอยู่กับที่และการไม่ออกไปสู้กับสงครามภัยโรคระบาด โดยมาตรการรัฐยังปิดกั้นคงไม่ใช่เรื่องดีแน่
ทว่าสถานการณ์แบบนี้ต้องหารายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและปัจจัยสี่เป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน จึงไม่แปลกที่คนไทยส่วนใหญ่จะมองโลกในแง่ดีว่า การเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ คิดว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าทำให้แย่ลง ซึ่งต้องระมัดระวังเข้มงวดตามมาตรรัฐและสังคม อาจทำให้เราอยู่กับโรคร้ายได้อย่างมีนัยสำคัญ.