เงินเฟ้อ กับตลาดหุ้น

เงินเฟ้อ กับตลาดหุ้น

หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 สร้างความแตกตื่นตกใจให้กับตลาดเป็นอย่างมาก

โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อครั้งนี้ ไม่เพียงเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ฐานต่ำเพราะการระบาดของ Covid-19 ในปีก่อนหน้าเท่านั้น แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 0.9% ในขณะที่เดือนกันยายนนั้นระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นเพียง 0.4% เท่านั้น โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ มีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 30% ในขณะที่ราคาแก๊สนั้นเพิ่มขึ้นถึง 50% จากปีก่อนหน้า ทั้งที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีระดับความมั่นคงทางพลังงานสูง จากการมีแหล่งพลังงานสำรองใต้พิภพเป็นจำนวนมากก็ตาม

และไม่เพียงแต่ราคาพลังงานเท่านั้นที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่ราคาอาหารก็เพิ่มขึ้นถึง 0.9% จากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยหากตัดราคาพลังงาน และอาหารที่มีความผันผวนมากออกไป อัตราเงินเฟ้อของสินค้าที่เหลือเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะอยู่ที่ 4.6% ซึ่งก็ยังคงเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษอยู่ดี

ซึ่งจากบทวิเคราะห์ทางวิชาการโดยใช้ข้อมูลระยะยาวหลายแหล่ง จะให้บทสรุปที่ตรงกันว่าเมื่อใดที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะให้อัตราผลตอบแทนเทียบกับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยในระดับที่ต่ำกว่า โดย Jim Masturzo และ Michele Mazzoleni แห่ง Research Affiliates ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นสหรัฐฯ กับอัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังสหรัฐฯอายุ 1 เดือน (Equity Premium) ณ ระดับอัตราเงินเฟ้อต่างๆ ตั้งแต่พ.ศ. 2491 – 2563 พบว่าเมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงส่วนต่างอัตราผลตอบแทนจากหุ้นจะอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้จะทำให้บริษัทต่างๆ มีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งต้นทุนเหล่านี้อาจไม่สามารถส่งผ่านไปให้กับลูกค้าได้ทั้งหมด เพราะอาจทำให้ยอดขาดลด ส่งผลให้ผลประกอบการแย่ลงได้ นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินก็จะสูงขึ้นด้วยเนื่องจากธนาคารกลางมักจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เร่งตัวขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ตลาดเริ่มที่จะแตกตื่นกับตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากและเร็วกว่าที่คาด แต่หากมองย้อนกลับไป จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อนั้นส่อแววว่าจะมาแรงมาพักใหญ่แล้ว ทั้งจากวิกฤติการณ์ราคาพลังงานและปัญหาการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก แต่ดัชนีราคาหุ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปกลับแข่งกันปรับตัวเพิ่มขึ้นทำลายสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง และแม้นักวิเคราะห์จะคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน แต่ผลประกอบการของบริษัททั้งในสหรัฐฯและยุโรปกลับสูงกว่าคาดการณ์เป็นส่วนใหญ่

แล้วนักลงทุนอย่างเราจะทำอย่างไรกันดี? วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งขึ้นไปถึง 11.35% ในปี พ.ศ. 2522 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ สูงถึง 8% ต่อปี ได้ให้ความเห็นไว้ในสาส์นถึงผู้ลงทุนของบริษัท Berkshire Hathaway Inc. ในพ.ศ. 2524 ว่า หุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ต้องอยู่ในธุรกิจที่มีคุณลักษณะที่สำคัญ 2 ประการด้วยกัน คือ

(1) สามารถปรับราคาเพิ่มขึ้นได้ ด้วยเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (แม้ว่าความต้องการของสินค้านั้นจะไม่เพิ่มขึ้น และบริษัทยังไม่ได้ผลิตสินค้าเต็มกำลังการผลิต) โดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างมีนัยสำคัญ หรือกระทบกับปริมาณสินค้าที่จะสามารถขายได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เรายากที่จะเปลี่ยนใจไม่ใช้ เนื่องจากมี “ต้นทุนการเปลี่ยนสูง” (High Switching Cost) เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในที่ทำงาน เป็นต้น

(2) สามารถเพิ่มยอดขายได้ โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนสินค้า (เติบโตจากเงินเฟ้อ แทนการเติบโตอย่างแท้จริง) เช่น สินค้าที่ไม่ต้องเพิ่มราคา ไม่ต้องผลิตเพิ่ม แต่สามารถเพิ่มรายได้จากการเพิ่มเวลาโฆษณา เป็นต้น

แม้ว่าในยามที่เงินเฟ้อสูง จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการลงทุนของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป หรือบริษัท แต่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อมากนัก ถึงอย่างไรก็ดีกว่าการไม่ลงทุนเลยแน่นอน