ภาพรวมเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ และแนวโน้มตลาดการเงินในปีหน้า

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ และแนวโน้มตลาดการเงินในปีหน้า

หลังจากเผชิญกับการแพร่ระบาดที่สร้างแรงกดดันให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี โดยเศรษฐกิจมีทั้งช่วงที่แย่ในปี 2020 และฟื้นตัวกลับมาได้ดีในปี 2021

ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อน ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาฟื้นตัวในภายหลัง แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีแรงกดดันในบางภูมิภาคอีกครั้งนำโดยยุโรป แต่ภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้าน่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นอีก

 โดยหากมองไปในปี 2022 วัฏจักรเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง แม้อาจจะชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2021 ในขณะที่ความเสี่ยงที่ชัดเจนเป็นเรื่องของเงินเฟ้อ และเรื่องของนโยบายที่อาจจะผ่อนคลายน้อยลง แม้จะมีกลไลและผล กระทบในขนาดที่แตกต่างกันไป แต่เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในหลายๆ ภูมิภาคก็เป็นแรงกดดันที่เราไม่สามารถมองข้ามไปได้ในปีหน้า เพราะจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน รวมถึงนโยบายการเงินด้วย

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าภาพรวมยังน่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเป็นไปได้มากที่จะขยายตัวน้อยกว่าปีนี้ โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองตัวเลขการขยายตัวของ GDP ในปีหน้าไว้ที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปีนี้ที่ร้อยละ 5.9 เศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรปยังน่าจะขยายตัวได้ดี เสริมด้วยญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและน่าจะขยายตัวได้ดีในปีหน้า

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังน่าจะมีแนวโน้มสดใส ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมของการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าน่าจะยังไปได้ดี แม้ในภาพกว้างผู้คนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด แต่พบว่าอัตราการออมของครัวเรือนสูงขึ้น
 

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐฯ ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าต่างๆ น่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานน่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว และอาจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น นโยบายการเงินที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า

แต่ก็มาจากฐานที่ต่ำทำให้ผลกระทบน่าจะมีจำกัด หากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงท่าทีที่มั่นคงต่อนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่อง โดยรวมนักวิเคราะห์ยังคงมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 22 พ.ย.) เติบโตในระดับร้อยละ 3.9 น้อยกว่าปีนี้ที่น่าจะจบที่ 5.5

 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ส่วนยุโรปคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับ 5.1 ในปีนี้ ส่วนญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับ 2.1 ในปีนี้ จะเห็นได้ว่าในกลุ่ม G-3 นั้นเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาญชะลอตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นมา ท่ามกลางความเสี่ยงรุมเร้าหลายประการ เช่น ความพยายามของภาครัฐฯ ในการจัดระเบียบเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจะกระทบภาพรวม แต่ในภาพรวมหากปัญหาเฉพาะครั้งที่เกิดขึ้นดังกล่าวลดผลกระทบลงในปีหน้า เศรษฐกิจจีนก็น่าจะขยายตัวได้ในระดับที่ใกล้เคียงศักยภาพ โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปีนี้ที่ 8.0

ในส่วนของเงินเฟ้อที่นับเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับวัฏจักรเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่สามารถทำให้เกิดผลลบหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนอำนาจซื้อของครัวเรือน และเรื่องของค่าแรงค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอาจกดดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (The Wage-Price Spiral Effect) และทำให้เราต้องจับตาดูแนวโน้มกันอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตามหากพิจารณาที่มาที่ไปของเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นในปัจจุบันอันเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ฐานราคาที่ต่ำในปีที่แล้ว (2) ความต้องการที่ค้างอยู่ (Pent-up Demand) และ (3) ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ก็คาดว่าสถานะการณ์น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น

แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะยังมีอยู่แต่น่าจะค่อยๆ ลดลง และไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ กระนั้นก็ตามหากเงินเฟ้อยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อาจจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน ที่แม้สุดท้ายแล้วธนาคารกลางๆ จะมองเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาชั่วคราว แต่การคาดการของตลาดการเงินที่แตกต่างออกไปก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดความผันผวน และความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินได้

อีกประเด็นที่ต้องจับตามองได้แก่ เรื่องของความเสี่ยงที่เรียกว่า “Fiscal Cliff” กล่าวคือมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐฯ ที่โดยรวมจะน้อยลงในปีหน้าเมื่อเทียบกับปี 2021 โดยต้องจับตาดูพัฒนาการของตลาดแรงงานที่น่าจะทำให้รายได้ของแรงงานกลับมาฟื้นตัวชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากมาตรการของรัฐฯ ได้ โดยตราบใดที่ภาคแรงงานยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปรกติมากขึ้น ความกังวลต่อการพึ่งพาภาครัฐฯ ในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจก็จะน้อยลง

ภาพรวมของตลาดการเงินและการลงทุนเองก็ยังน่าจะไปได้ดี แต่ความเสี่ยงโดยรวมน่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ ทำให้การลงทุนจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยในกลุ่มตราสารหนี้ยังคงต้องจับตาดูแนวโน้มดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่อาจกดดันผลตอบแทนจากการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้รวมถึงหุ้นกู้เอกชน ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการเงินที่น่าจะลดความแน่นอนลง ในขณะที่หุ้นอาจจะยังอยู่ในภาวะ Bull Market เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังดีอยู่ แต่ผลตอบแทนอาจจะไม่สวยหรูเหมือนปี 2021 จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ซึ่งเราคงต้องค่อยๆ ดูประเด็นต่างๆ ข้างต้นกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินสถานการณ์และภาพรวมของการลงทุนของเรากันต่อไปครับ