ฉีดวัคซีนให้พอร์ตลงทุน ป้องกันสายพันธุ์ Omicron
หลังจากที่โลกเอาชนะโควิดสายพันธุ์ Delta พลิกฟื้นวิถีการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาดำเนินใกล้เป็นปกติ ธนาคารกลางหลายประเทศสบายใจที่จะถอนมาตรการพิเศษๆ ที่นำมาใช้ประคับประคองเศรษฐกิจตั้งแต่ปีแล้ว
แต่แล้ว...ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน ไวรัสโควิด 19 ก็ได้กลายพันธุ์ครั้งสำคัญ โดยครั้งนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและตั้งชื่อว่า สายพันธุ์ Omicron พบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาใต้
ข้อมูลที่น่ากังวล คือ Omicron มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ ทำให้ “อาจมีความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็ว” รวมทั้ง “อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน” ได้อีกด้วย
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ยากที่จะประเมินได้ในตอนนี้ เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์ยังมีจำกัด สมมติฐานเบื้องต้นคือ คาดว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงน้อยกว่าระลอกก่อน เพราะประเทศขนาดใหญ่หลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง เริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด
ทำให้ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการ Lock down แบบเต็มรูปแบบ อาจใช้เพียงระงับการเดินทางจากกลุ่มประเทศเสี่ยงสูงเท่านั้น คงมีเพียงกลุ่มประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำและกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขึ้นกับการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า
กรณีร้ายแรงที่สุดคือ Omicron สามารถแพร่ระบาดรุนแรงและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น วัคซีน ยา และแนวทางการรักษาปัจจุบันไม่สามารถป้องกันและรักษาได้ ทำให้โลกต้องกลับไปอยู่กับมาตรการ Lock down ที่เข้มงวด เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยจะพุ่งขึ้นจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณะสุข และที่แย่กว่ารอบก่อนคือ รัฐบาลและธนาคารกลางมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว
ขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์และเงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าหมาย ส่วนคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่เป็นปัญหาอยู่จะยิ่งถูกซ้ำเติม ผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีก
ในทางกลับกัน ในกรณีที่ดีที่สุด คือ Omicron ไม่น่ากลัวอย่างกังวล ตลาดหุ้นก็จะสามารถกลับขึ้นสู่จุดเดิมได้ โดยจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ตลาดหุ้นพลิกฟื้นผลการทดลองวัคซีนและยารักษา ล่าสุดหลายๆ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนระบุว่าจะสามารถกระจายวัคซีนใหม่ได้ในช่วงต้นปีหน้า
จากนี้จนถึงวันที่ข้อมูลทางการแพทย์ชัดเจนขึ้น ตลาดหุ้นย่อมผันผวนตามข่าวรายวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อ ความคืบหน้าการทดลองวัคซีน รวมถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดจากรัฐบาลทั่วโลก ระหว่างนี้ นักลงทุนควรสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่พอร์ต ผ่าน 3 กลยุทธ์ ดังนี้
- กระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ต ไม่ใช่เพียงแค่สินทรัพย์แบบดั้งเดิมอย่างหุ้น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชนเท่านั้น แต่รวมไปถึงสินทรัพย์ที่ซับซ้อนขึ้นด้วย เช่น Inflation linked bonds หรือตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยแปรผันตามเงินเฟ้อ ซึ่งจะได้ประโยชน์ในช่วงที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ตลอดจนการลงทุนในดัชนีความผันผวนหรือ VIX Index ที่นอกจากจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันไม่ให้มูลค่าพอร์ตผันผวนสูงแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลตอบแทนในยามที่ความผันผวนปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- ลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้จะต้องล็อคเงินลงทุนเป็นเวลานานถึงราว 7-9 ปี แต่สามารถช่วยลดความผันผวนจากการที่ราคาสินทรัพย์ขึ้นๆ ลงๆ ตามความตระหนกตกใจของตลาดที่แปรผันตามข่าวรายวันได้ เพราะราคาสินทรัพย์นอกตลาดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจที่ไปลงทุนจริงๆ
- หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงแบบ Knock-In Knock-Out หรือ KIKO ที่จะให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยรายเดือนอย่างสม่ำเสมอในสภาวะที่หุ้นปรับขึ้นไม่มาก และไม่ปรับตัวลดลงแรงมาก ซึ่งเหมาะกับช่วงนี้ที่ตลาดหุ้นจะผันผวนในกรอบตามข่าวรายวัน โดยนักลงทุนสามารถเลือกหุ้นอ้างอิงได้ทั้งตะกร้าหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศที่พื้นฐานดี และสามารถเลือกกำหนดราคาของหุ้นอ้างอิงในกรอบล่างให้ต่ำลงเพื่อลดโอกาสการสูญเสียเงินต้น
ระหว่างที่ยังไม่แน่ชัดว่าวัคซีนที่มีอยู่จะสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลใหม่ได้หรือไม่ สิ่งที่นักลงทุนทำได้คือการฉีดวัคซีนให้พอร์ตลงทุนผ่าน 3 กลยุทธ์ข้างต้น เพราะการรักษามูลค่าของพอร์ตไม่ให้ผันผวนไปตามความตื่นตระหนกของตลาดตามข่าวระยะสั้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างขุมทรัพย์การลงทุนในระยะยาว