หนี้ครัวเรือนเพิ่ม! ระเบิดลูกต่อไป...ฉุดภาคค้าปลีก

หนี้ครัวเรือนเพิ่ม!  ระเบิดลูกต่อไป...ฉุดภาคค้าปลีก

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2564 กำลังซื้อผู้บริโภคเติบโตต่ำกว่าที่ควรเป็น!! ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก บ่งบอกถึงการบริโภคที่ถดถอยอย่างมีนัย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ฉุดรั้งการบริโภคให้ถดถอย ก็คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น

หนี้ครัวเรือนเพิ่ม! กำลังซื้อทรุดฉุดค้าปลีก

ในปี 2563-2664 ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก กระทบเศรษฐกิจไทยและส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงตาม นอกจากนี้ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 ก็มีสัดส่วนเพียง 16% ของ 1.9 ล้านล้านในปี 2562 แม้ฟื้นตัวขึ้นมาบางส่วน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ได้สร้างผลกระทบเพียงระยะสั้นต่อตลาดค้าปลีกเท่านั้น ในระยะกลาง ปริมาณยอดขายจากร้านค้าปลีกอาจได้รับผลกระทบเชิงลบ จากสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงต่อ GDP คาดอยู่ที่ 88-91% ภายในสิ้นปี 2565 คิดเป็น 8-10% (Percentage Points) สูงกว่าปี 2562 และสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2546 และคิดเป็นระดับสูงสุดในเอเชีย!!

"หนี้ครัวเรือน" เกิดจากอะไร?

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2564 สูงถึง 89.3% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 80.0% เมื่อต้นปี 2563 ประมาณการว่าหนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มสูงถึง 91% ต่อ GDP ในปี 2565

หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของวัตถุประสงค์การกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของหนี้ครัวเรือน พบว่า อันดับแรก กู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้สินเดิม (26%) อันดับสอง ใช้สอยส่วนตัว (24%) อันดับสาม ใช้จ่ายด้านอื่นๆ (13%) ซึ่งแตกต่างจากการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านและรถยนต์

ปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนมีรายรับไม่พอรายจ่าย ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายไม่จำเป็น และส่วนใหญ่มาจากภาระหนี้ที่สูง

ผลการศึกษาพบว่า การท่องเที่ยวเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่ครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาควรลด!

โดยต้องลดลงถึง 83% จากปริมาณการใช้จ่ายปัจจุบัน เพื่อให้ครัวเรือนมีรายรับเพียงพอกับรายจ่าย รองลงมา คือ หมวดเสื้อผ้า ครัวเรือนควรลดการใช้จ่ายถึง 73% ส่วนค่าอาหารนอกบ้านและของใช้ส่วนบุคคลก็ควรลดลง 58% และ 54% ตามลำดับ 

ยังมีรายจ่ายอื่นๆ ที่ควรปรับลดการใช้จ่ายเพื่อสร้างวินัยและลดความเสี่ยงทางการเงินในครัวเรือน เช่น ค่าเหล้า ค่าหวย ควรลดลง "ครึ่งหนึ่ง" จากที่ใช้จ่ายในปัจจุบัน หากครัวเรือนปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและนำเงินที่เหลือไปชำระหนี้ (ลดภาระหนี้) เพื่อลดเงินต้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็จะสร้างฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นได้ กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาและความอดทนอดกลั้นแต่สามารถทำได้

หนี้ครัวเรือนจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะหนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในฝั่ง "ผู้กู้" พบว่าผู้กู้ที่มีหนี้และมีหนี้เสียเยอะเป็นผู้กู้อายุน้อย เกษตรกรก็สะสมหนี้จนแก่ ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งเห็นว่าผู้กู้มีการกู้หลายบัญชีมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับคุณภาพหนี้ที่ด้อยลง เห็นหนี้ที่กระจุกตัวอาจมีความเสี่ยงเชิงระบบได้

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

1.เพิ่มรายได้ของครัวเรือน รัฐบาลควรสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น ให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคการผลิตต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของภาคครัวเรือน อุปสงค์ มวลรวมจะเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้ภาคการผลิตมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพิงสถาบันอื่นๆ จากภายนอก เศรษฐกิจของประเทศก็จะมีการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยลง และกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น เพราะตราบใดที่ครัวเรือนยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องก่อหนี้เพื่อนำไปใช้จ่าย ในภาพใหญ่คงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานไทยเก่งขึ้น มีทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด

2.ปลดหนี้เดิม ในช่วงที่ผ่านมา หลายหน่วยงานริเริ่มมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ทยอยปรับตัวและหลุดพ้นจากปัญหาหนี้ที่ประสบอยู่ โดย ธปท. ได้ผลักดันหลายโครงการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนสอดคล้องกับรายได้ที่เปลี่ยนไป

ด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มข้าราชการครูที่ประสบปัญหาหนี้สินสูง สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มออกแบบมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกร อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเร่งเดินหน้าต่อไปเพื่อทำให้หลายมาตรการที่ออกมาเกิดผลดีในวงกว้าง

3.สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินด้วยการให้มีบัญชีครัวเรือน เพื่อไม่ให้เกิดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่เกินตัว มีความตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการลงทุน รู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง บัญชีครัวเรือนเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องของการรู้จักตนเอง สำคัญและเป็นวิถีชีวิต ถ้าครอบครัวหนึ่งทำบัญชีครัวเรือนอย่างดี เอาบัญชีครัวเรือนมาดูจะรู้ว่าครัวเรือนนี้ดำรงชีวิตอย่างไร จนหรือรวย สุขภาพครอบครัวเป็นอย่างไร

การแก้ไขวิกฤตินี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ การแก้ไขด้านรายได้ต้องทำควบคู่ไปกับการลดหนี้ ถ้าหนี้ลด แต่รายได้ไม่เพิ่ม สุดท้ายจะกลับไปเป็นหนี้อีก ดังนั้น การปรับขีดความสามารถทางการผลิตที่แข่งขันได้ในอนาคต จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการสร้างรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการ 

รัฐบาลต้องมองปัญหาหนี้และรายได้ให้ทะลุ รีบลงมือปฏิบัติก่อนที่สายเกินไป