หุ้นคุณภาพดีที่มีแบรนด์ สร้างผลตอบแทนระยะยาวสู้เงินเฟ้อ
หากกล่าวถึง “แบรนด์” หลายท่านอาจจะนึกถึงภาพสินค้าประเภท Luxury อย่าง กระเป๋า หรือ รถยนต์ แต่แท้จริงแล้วคำว่า “แบรนด์” ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสินค้าประเภท Luxury เท่านั้น
แต่ยังอยู่ในสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน และ “แบรนด์” ไม่ได้เป็นเพียงแค่สโลแกนหรือโลโก้ แต่เป็นองค์ประกอบในการเล่าเรื่อง สร้างเอกลักษณ์ สะท้อนความคิดรวบยอดของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าหรือบริษัทนั้นๆ โดยแบรนด์จัดเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ที่ถึงแม้จะจับต้องไม่ได้
แต่ถือได้ว่ามีมูลค่าต่อบริษัทอย่างมหาศาล และอาจจะมีมูลค่าที่สูงกว่าเครื่องจักรที่ทันสมัย ดังจะเห็นได้จากงบดุลของบริษัท Coca-Cola ในปี 2021 ที่บริษัทมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 33% ของสินทรัพย์รวมตีค่ามาจากความนิยม (GOODWILL) และเครื่องหมายการค้า (Trademark) ซึ่ง Coca-Cola ถือว่าเป็นบริษัทหนึ่งในพอร์ตการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนสไตล์ Value Investor ชื่อดังระดับโลกที่มีการลงทุนมาอย่างยาวนาน
บริษัทที่มีแบรนด์จะช่วยสร้างความแตกต่างของสินค้าออกจากคู่แข่ง เมื่อผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์สินค้าจะช่วยทำให้บริษัทเหล่านี้มีอำนาจในการตั้งราคามากกว่าบริษัทที่ไม่มีแบรนด์ เช่น กาแฟ Starbuck กระเป๋า Hermes ที่นอกจากจะมีอำนาจในการตั้งราคาสินค้าแล้วนั้น ยังมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ผลิต และช่วยสร้างความประหยัดต่อขนาด ( Economic of Scale )
เปรียบเสมือนป้อมปราการทางเศรษฐศาสตร์ และเมื่อมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กลุ่มลูกค้าเดิมก็พร้อมที่จะซื้อสินค้าจากความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัทและยังช่วยแนะนำกลุ่มลูกค้ารายใหม่เข้ามาซื้อสินค้า ซึ่งช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวอีกด้วย โดยบริษัทที่มีแบรนด์เหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในสินค้า Luxury เท่านั้น แต่สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทสินค้า เช่น
1.กลุ่มเทคโนโลยี เช่น Microsoft, Abobe บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีแบรนด์แข็งแกร่งนั้นจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเปลี่ยนไปใช้ Platform อื่นได้ยาก หรือเรียกว่ามี ต้นทุนในการเปลี่ยนย้ายที่สูง (Switching Cost) นอกจากนี้ หากดูสินค้าของบริษัท Apple ที่นอกจากผู้บริโภคจะมีต้นทุนในการย้ายสูงแล้วนั้น ยังก่อให้เกิดพลังของเครือข่าย (Network Effect) ด้วย โดยเมื่อผู้บริโภคใช้ IPhone อยู่แล้ว ก็มักที่จะตัดสินใจซื้อ IPad หรือ Apple Watch มากกว่าที่จะไปซื้อยี่ห้ออื่น
2.กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Staple) เช่น Nestle, P&G, Reckitt Benckiser ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สามารถปรับขึ้นราคาในช่วงที่ต้นทุนวัตถุดิบ หรือ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นได้
3.กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) เช่น ผู้ผลิตสินค้ากระเป๋าเครื่องหนัง เสื้อผ้า ไวน์และแชมเปญ อย่าง LVMH, Hermes และอุปกรณ์กีฬาอย่าง Nike, Lululemon ไปจนถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อย่าง Tesla
4.กลุ่มการแพทย์ (Healthcare) ซึ่งจะประกอบสิทธิบัตรในการผลิตยา ดังจะเห็นได้จากกลุ่มพัฒนายาประเภทเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและระยะเวลาในการวิจัยตัวยา ซึ่งมีความยากและต้นทุนในการผลิตที่สูง เช่น ยารักษาโรคเบาหวานของ Sanofi เป็นต้น
ทิศทางการเติบโตของแบรนด์ในอนาคตอาจจะมีความแตกต่างจากการสร้างแบรนด์ในอดีต โดย Lombard Odier ผู้ให้บริการ Private Banker จากสวิตเซอร์แลนด์ได้ประเมินว่า การเติบโตของแบรนด์จะต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ
1) Go Sustainability คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ขยะผลิตภัณฑ์หรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ 2) Go Asia จากการเติบโตของชนชั้นกลางในเอเชียโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีการบริโภคสินค้าประเภท Luxury เป็นอันดับ 1 คิดเป็นกว่า 35% ของตลาดและคาดว่าจะเติบโตแตะ 40% ในปี 2025 3) Go Digital พัฒนาห่วงโซ่อุปทานของ E-commerce และ Fintech ที่ช่วยยกระดับความสะดวกในการซื้อสินค้า
การคัดเลือกบริษัทที่มีแบรนด์จะถูกกล่าวถึงในหลักการลงทุนแบบ Moat หรือการแข่งขันแบบยั่งยืน โดยความได้เปรียบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของความสามารถในการตั้งราคา ความสามารถในการแข่งขัน การประหยัดต่อขนาด และพลังของเครือข่าย จะช่วยทำให้บริษัทที่มีแบรนด์สามารถสร้างผลตอบแทน (Return On Invested Capital : ROIC) ได้มากกว่าต้นทุนทางการเงินของบริษัทในระยะยาว (Weight Average Cost of Capital :WACC) หรือกล่าวได้ว่าความแข็งแกร่งของแบรนด์จะสะท้อนไปยังผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและทนทานต่อสภาวะตลาดขาลง
บริษัทที่มีแบรนด์เหล่านี้สามารถสร้างการเติบโตในระดับสูงในระยะยาว มีความสม่ำเสมอในการสร้างผลกำไร มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลไปยังความผันผวนของผลกำไรและราคาที่ต่ำ อีกทั้งยังสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และเนื่องจากสภาวะตลาดในปัจจุบันดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่เร็วกว่ากำหนด จนทำให้ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจจากระดับ Earning Yield Gap หรือส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนระหว่างตลาดหุ้นและพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่ 3.4% ซึ่งใกล้เคียงกับการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2018 ทำให้มองว่าเป็นจังหวะในการเข้าลงทุนในบริษัทกลุ่มที่มีแบรนด์เหล่านี้ โดยจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตเงินเฟ้อและสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี