จบหรือยังกับความผันผวนจากแนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

จบหรือยังกับความผันผวนจากแนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในสัปดาห์ก่อน (26-27 ม.ค. 22) ที่นักลงทุนเฝ้ารอ โดยคาดหวังว่าท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีความชัดเจนมากขึ้น และช่วยลดความผันผวนในตลาดการเงินลงบ้าง

ซึ่งภายหลังการประชุมก็ดูเหมือนว่าตลาดการเงินและนักลงทุนจะลดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและช่วงเวลาของการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) และเห็นตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่การฟื้นตัวจะเป็นเพียงชั่วคราวหรือไม่นั้น หรือดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นมากแค่ไหน วันนี้ลองมาสำรวจมุมมองทางด้านปัจจัยพื้นฐานกันครับ

ล่าสุด ปัจจุบันตลาดการเงินคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมดอย่างน้อย 4 ครั้งและเป็นไปได้มากว่าจะมีถึง 5 ครั้งภายในสิ้นปี 2022 (สะท้อนจากราคา Fed Fund Future 1 เดือน ข้อมูลจาก Bloomberg ณ สิ้น 28 ม.ค. 22) เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ในการประชุม FOMC ครั้งถัดไป (16-17 มี.ค. 22) ในขณะที่สถาบันการเงินหลายๆ แห่งเริ่มปรับประมาณการดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นเช่นกัน เช่น BNP Paribas คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 6 ครั้งในปีนี้ เช่นเดียวกับ Goldman Sachs ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้ง และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น ยังไม่รวมอีกหลายแห่งที่เริ่มมีการคาดการณ์ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

โดยเมื่อใดก็ตามที่นโยบายการเงินมีความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสถานะการณ์ที่ประเมินได้ยาก สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หรือการที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายล่าช้า ย่อมไม่ส่งผลดีต่อตลาดการเงินมากนักโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน

หากพิจารณาความเป็นไปได้ของการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดนั้นก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อย เมื่อเทียบตัวเลขเศรษฐกิจปัจจุบันกับตัวเลขก่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในสองครั้งก่อน (ที่เริ่มขึ้นในปี 2004 ถึงปี 2006 จาก 1.00% ถึง 5.25% และปี 2015 ถึงปี 2018 จาก 0.25% ถึง 2.50%) ในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เศรษฐกิจ (Output Gap) สภาพคล่องของตลาดการเงิน (Financial Condition Index) ต้นทุนทางการเงินและเส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (US Treasury 2-10 Spreads) เงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Personal Consumption Expenditure หรือ PCE, 5Y Inflation Expectation) การจ้างงาน (Employment, Job Opening) และต้นทุนการจ้างงานต่างๆ (Wage Growth, Job Quit Rate)

 โดยตัวเลขเหล่านี้สะท้อนแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ ด้านต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed แม้จะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ต้องคำนึงถึง เช่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในหลายๆ ด้านในแต่ละวัฏจักร แต่หากพิจารณาแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ในปัจจุบัน โอกาสที่ Fed จะดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดขึ้นก็ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่าผ่อนคลายลงจากระดับที่คาดการณ์กันไว้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนไม่สามารถมองข้ามได้เลย ลำพังต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วก็ส่งผลเสียต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่หากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ย นำมาซึ่งความผันผวนในตลาดการเงิน โอกาสที่จะเป็นปีที่ดีของนักลงทุนก็จะลดน้อยลงไป

หรือหากเรามาพิจารณาแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ Fed เปลี่ยนท่าทีเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ก็ยิ่งดูไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในอนาคตอันใกล้ จากเดิมที่มีการพูดถึงว่าเงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงครึ่งปีแรกจากปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่น่าจะทุเลาลง หรือประเด็นเรื่องของราคาพลังงาน แต่ล่าสุดจากดัชนี Global Supply Chain Pressure Index ที่สามารถชี้นำแนวโน้มเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ก็ยังดูท่าทีไม่ชะลอลงแต่อย่างใด ซึ่งประเด็นเรื่องของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Omicron ดูเหมือนว่าจะน้อยกว่าที่คาดกันไว้ในช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ผลกระทบที่แท้จริงก็ยังต้องรอดูกันต่อไป โดยปี 2022 ล่าสุดนักวิเคราะห์ยังมองเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 4.7% และ ดัชนี PCE ที่ 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 3.3% สะท้อนมุมมองได้เป็นอย่างดีว่าเงินเฟ้อน่าจะไม่ลดลงภายในระยะเวลาอันใกล้ในสายตานักวิเคราะห์

จบหรือยังกับความผันผวนจากแนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

สุดท้ายนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับตลาดภาวะตลาดการเงินในปีนี้ จะไปจบลงที่เท่าใด ถึงตอนนี้ก็คงไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่สิ่งที่เราสามารถแน่ใจได้อย่างหนึ่ง คือ เรื่องของความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินจะเป็นปัจจัยสำคัญที่น่าจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงินเป็นช่วงๆ ซึ่งการลงทุนในปีนี้จะละเลยประเด็นดังกล่าวไปไม่ได้เลย เราอาจจะไม่รู้ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นอีกกี่ที แต่สิ่งที่เราทำให้คือต้องพิจารณาการลงทุนต่างๆ อย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความเสี่ยงในด้านนี้อยู่เสมอสำหรับปีนี้ ..... แน่นอนว่าคงเป็นปีที่ไม่ง่าย อย่างน้อยเริ่มต้นปีมาก็ดูค่อนข้างขรุขะ สะท้อนภาพรวมการลงทุนปีนี้ได้เป็นอย่างดีครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด