ผลกระทบของ Digital Bank ต่ออุตสาหกรรมการเงินไทย
"digital bank" เมืองไทยท้ายที่สุดเชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วต้องมีการจัดตั้งขึ้นแน่นอน เพื่อให้ไทยยังคงสามารถอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงโลกการเงินได้ เห็นได้ชัดเจนไทยกำลังอยู่ในทิศทางดำเนินการที่ถูกต้องในโลกที่มีความอ่อนไหวต่อแนวโน้มและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่
เมื่อกล่าวถึง Digital Banking และ Digital Bank ทุกท่านน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีและเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในความจริงแล้ว 2 คำนี้มีความหมายที่แตกต่างกัน Digital Banking คือรูปแบบของการใช้บริการธนาคารในการทำธุรกรรมกับธนาคาร โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องมาธนาคาร เช่น การให้บริการทางโทรศัพท์ (Call Center) การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางตู้เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต (Internet Banking) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) เป็นต้น และมีการใช้บริการอย่างเป็นประจำอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้มีการใช้บริการ Digital Banking มากขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญ แต่ถ้ากล่าวถึงใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารดิจิทัล (Digital Bank License) หรือทุกท่านอาจเคยได้ยินในชื่อของ Virtual Bank หรือ Neo Bank ทุกท่านคงเกิดความสงสัยว่าแล้วสิ่งนี้ต่างจาก Digital Banking ที่ทุกท่านรู้จักกันอย่างไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับความหมายที่แท้จริงของธนาคารดิจิทัล
ธนาคารดิจิทัลเป็นธนาคารที่จะให้บริการธนาคารในรูปแบบการทำธุรกรรมทางออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) เท่านั้น โดยธนาคารในรูปแบบนี้จะไม่มีการจัดตั้งสาขาเพื่อให้บริการผ่านทางสาขา และอาจมีเพียงสำนักงานใหญ่เพื่อใช้ในการดำเนินงานของธนาคารเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดแตกต่างที่สำคัญกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ที่มีการให้บริการในทั้ง 2 รูปแบบ คือการให้บริการที่สาขาของธนาคาร และการให้บริการผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยลูกค้าจะสามารถเลือกช่องทางใช้บริการได้ตามสะดวก ทั้งนี้ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของธนาคารดิจิทัลคือ ธนาคารดิจิทัลจะสามารถนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าทั้งในส่วนของเงินฝากและเงินกู้ รวมทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการที่ต่ำกว่า และมีการบริการที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า และมีความยืดหยุ่นในการให้บริการที่มากกว่า
นอกจากนี้ หากได้วิเคราะห์ในเชิงลึกแล้ว ธนาคารดิจิทัลจะสามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการบริการด้านการเงิน ดังนี้
· เพิ่มการเข้าถึงการให้บริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคารเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสาขาของธนาคารได้ อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไม่มีสาขาของธนาคารไปจัดตั้งเพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน หรือเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ส่งผลให้ไม่สามารถได้รับบริการทางการเงินได้
· ผู้ใช้บริการในกลุ่มของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก SMEs นั้นถือเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็มีอุปสรรคที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารได้ครอบคลุมเท่าที่ควร เช่น การกู้เงินจากธนาคาร เนื่องจากการมีหลักประกันหรือสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น
· เพิ่มระดับของการแข่งขันในภาคการธนาคาร และนำไปสู่การเติบโตที่ดีของระบบนิเวศทางการเงินของประเทศ เนื่องจากจะสร้างแรงกดดันต่อผู้ให้บริการหลักในภาคการเงินในปัจจุบัน ให้ปรับปรุงคุณภาพการบริการที่ดีขึ้น รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น
ตามข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 มีผู้ให้บริการในรูปแบบของธนาคารดิจิทัล ประมาณ 249 รายทั่วโลก โดยถ้าพิจารณาถึงประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิค จะพบว่าในประเทศต่างๆ มีจำนวนผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัล ดังนี้
· เกาหลีใต้ มีจำนวน 2 แห่งที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และอีก 1 แห่งที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2564
· ฮ่องกง มี 8 แห่งที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563
· ไต้หวัน มีจำนวน 2 แห่งนั้นได้เปิดให้บริการไปแล้วในปี พ.ศ. 2564 และอีก 1 แห่งที่จะเปิดให้บริการในช่วงต้นปี พ.ศ. 2565
· สิงคโปร์ ได้มีการอนุมัติใบอนุญาตไปแล้ว 4 แห่ง โดยคาดว่าจะมีการเปิดให้บริการในช่วงต้นปีพ.ศ. 2565 ตามแผนการจะมีการอนุมัติใบอนุญาตเพิ่มอีก 1 แห่ง
· มาเลเซีย ตามแผนการจะมีการอนุมัติในอนุญาตจำนวน 5 แห่ง โดยมีผู้ยื่นใบสมัครจำนวน 29 แห่ง โดยคาดว่าจะมีการประกาศผลในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2565
สำหรับประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการศึกษาและพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะมี การออกหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารดิจิทัลที่ชัดเจน โดยจะเห็นได้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการดำเนินการในการสร้างโครงสร้างทางกฎหมายสำหรับ Digital Currencies และ Tokens และ การแลกเปลี่ยนทางดิจิทัลที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน KYC/AML และมีการเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยด้านไอทีที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงมีการผลักดัน digital ID ภายใต้ NDID platform เพื่อใช้ยืนยันตัวตนสำหรับการทำธุรกรรมในภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และภาครัฐ
ดังนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในทิศทางการดำเนินการที่ถูกต้องในโลกที่มีความอ่อนไหวต่อแนวโน้มและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ และมีความพร้อมต่อการเปิดให้บริการธนาคารดิจิทัล ในท้ายที่สุดนี้เราเชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วธนาคารดิจิทัลจะต้องมีการจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอนเพื่อให้ประเทศไทยยังคงสามารถอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินได้ต่อไป