'วัคซีนไข้หวัดนก' พัฒนา-ผลิตในไทย คืบหน้า 2 แห่ง
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยความคืบหน้า 2 แห่ง พัฒนา-ผลิต “วัคซีนไข้หวัดนก”ในไทย อภ.ใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก-แพทย์ จุฬาฯแพลตฟอร์ม mRNA คาดหมายการระบาดจะไม่เกิดวงกว้างเร็วมากนัก เว้นมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิมมาก แล้วทำให้พฤติกรรมการระบาดเปลี่ยนไป
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์"โรคไข้หวัดนก"ว่า ไข้หวัดนกอัตราการเสียชีวิตสูงมาก ซึ่งประเทศไทยเตรียมความพร้อมภายใต้แผนรับมือการระบาด ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรคเป็นแผนบูรณาการทั้งการเฝ้าระวัง การควบคุมโรค ส่วนเรื่องพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกนั้น องค์การเภสัชกรรม(อภ.) มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกที่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว แต่จำเป็นต้องย้ายการผลิตไปยังโรงงานผลิตที่อ.ทับกวาง จ.สระบุรี จึงจะทำงานวิจัยเพื่อขอขึ้นทะเบียนใหม่กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก
นอกจากนี้ สถาบันฯได้ให้ทุนกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดนกH5N1 โดยใช้แพลตฟอร์มmRNA ตอนนี้กำลังรอผลการทดสอบในสัตว์ทดลองที่เป็นหนู หากได้ผลดีก็ขยับเป็นสัตว์ใหญ่ขึ้น ถ้าให้ผลดีก็จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ต่อไป ซึ่งข้อดีของวัคซีนชนิดmRNA คือ จะตอบสนองได้เร็ว หากมีการระบาดรุนแรงเกิดขึ้น เพราะหากมีการระบาดวงกว้างก็จำเป็นต้องตอบสนองให้ได้รวดเร็ว
“ส่วนใหญ่วัคซีนไข้หวัดจะใช้ต่อคนเพียง 1 เข็ม แต่ถ้าเป็นไข้หวัดนกซึ่งจะเป็นสายพันธุ์เดียวก็จะได้เร็วกกว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการใช้ในปัจจุบันที่ 1 เข็มจะมี 3 สายพันธุ์ หรือ 4 สายพันธุ์ จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นไป แต่ถ้าเป็นการระบาดเฉพาะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือ ไข้หวัดนกที่เป็นสายพันธุ์เดียว ก็จะทำได้เร็ว”นพ.นครกล่าว
สำหรับจำนวนโดสวัคซีนที่เพียงพอนั้น นพ.นคร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับระบาดวิทยา ลักษณะการระบาดของโรค แต่ส่วนใหญ่ตามหลักการจะใช้วัคซีนเพื่อควบคุมการระบาดก่อน หากเป็นกรณีไข้หวัดนก ก็จะใช้ในพื้นที่ที่มีการระบาด ฉีดให้ผู้สัมผัสโรคที่มีความเสี่ยงว่าจะป่วย รวมทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าที่ดูและในพื้นที่การระบาดนั้นๆ
“คาดหมายว่าไข้หวัดนก การระบาดจะไม่เกิดในวงกว้างเร็วมากนัก เว้นเสียแต่ว่า มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิมมาก แล้วทำให้พฤติกรรมการระบาดเปลี่ยนไป แต่เฉพาะพฤติกรรมการระบาดที่รับรู้ในปัจจุบัน(10 ม.ค.2568)โอกาสการระบาดวงกว้างจะมีน้อย ส่วนใหญ่จะเกิดการระบาดเป็นจุดๆ เรียกว่า Outbreak”นพ.นครกล่าว
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า การเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีนของประเทศไทย ให้มีศักยภาพการผลิตภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะไข้หวัดใหญ่ยังเป็นความเสี่ยงทั้งโลก โอกาสจะเกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ รวมทั้ง ตัวที่เกี่ยวพันกับไข้หวัดนก โอกาสมันมีอยู่เพราะทั่วโลกมีการระบาดในจุดต่างๆประปราย โอกาสที่ไวรัสจะเปลี่ยนสายพันธุ์ก็เกิดขึ้นได้แล้วเกิดเหตุเหมือนคราว ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เมื่อมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ไปมากๆ ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ ระบาดไปในวงกว้าง
ยกตัวอย่าง กรณีโควิด-19 ที่ไม่ได้เป็นเชื้อไวรัสใหม่ที่เราไม่เคยเจอ แต่เป็นเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีการระบาดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเป็นสายพันธุ์ที่คุ้นเคย แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของไวรัสจนกลายพันธุ์ เกิดเป็นก่อโรคโควิด-19เกิดขึ้น ทำนองเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ ที่ปัจจุบันก็มีการระบาด แต่ไม่รุนแรงเพราะคุ้นเคยกับเชื้อ กระทั่งหากเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ พฤติกรรม ระบาดได้มากขึ้น ความรุนแรงมากขึ้น ระบาดวงกว้างได้มากขึ้น จะกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขวงกว้างแบบเดียวกับที่ประสบในโรคโควิด
ถามว่าถ้าเกิดไข้หวัดนกในประเทศไทย วัคซีนจะทันใช้หรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าสามารถพัฒนาศักยภาพประเทศไทยได้เร็วแค่ไหน ถ้าคิดจากวันนี้แล้วพรุ่งนี้เกิดการระบาด ก็ตอบว่ายังไม่ทัน หมายถึงว่าไม่ทันใจ ไม่เหมือนกับถ้าไทยสามารถผลิตได้เองจนกระทั่งมั่นใจ เมื่อเกิดการระบาดขึ้นก็จะสามารถผลิตได้ทันเหตุการณ์ได้อยู่ แต่หากไทยไม่มีศักยภาพผลิตได้เองในประเทศ ก็หมายความว่าเราต้องรอซื้อจากต่างประเทศ ก็จะวนสถานการณ์คล้ายกับโควิด-19
“มีความสำคัญมากที่จะพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ได้เอง แล้วต้องพัฒนาให้ได้วิธีการที่เร็วด้วย จึงเป็นที่มาที่สถาบันฯให้ทุนในเรื่องพัฒนาแพลตฟอร์มmRNA ที่จะทำวัคซีนได้เร็ว โดยตามหลักวาการและประสบการณ์ที่ทำวัคซีนในช่วงโควิดระบาด สามารถผลิตได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่าและทำได้ปริมาณมากกว่า”นพ.นครกล่าว
ถามถึงกรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนแพลตฟอร์ม mRNA นพ.นคร กล่าวว่า หากเทียบเคียงกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีการฉีดวัคซีนระดับหมื่นล้านโดส ถ้าเกิดเหตุขึ้นมา 1 ในล้าน ก็แสดงว่าจะต้องมีคนเกิดเหตุประมาณ 10,000 คน รู้สึกเหมือนมาก แต่ในเชิงวัคซีนหากเกิดเหตุการณ์ 1 ใน ล้านถือว่าเป็นตัวเลขที่รับได้ อีกทั้ง หากสามารถพัฒนาให้ใช้ปริมาณโดสที่น้อยลง ผลข้างเคียงก็จะน้อยลงด้วย ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าจำนวนโดสของวัคซีนmRNAจะลดลงได้ และวิธีการฉีด หากเปลี่ยนจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นฉีดเข้าในผิวหนัง จะยิ่งใช้โดสน้อยลง ผลข้างเคียงจะยิ่งน้อยลงไปอีก
“ไม่ว่ายาหรือวัคซีนมีผลข้างเคียงทั้งสิ้น ข้อสำคัญอยู่ตรงที่เราหวังผลในวงกว้างขนาดไหน ถ้าไม่ฉีด ไม่ใช้ อาจจะป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากกว่าที่เห็น ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์มั่นใจว่าวัคซีนmRNA ช่วยลดป่วยลดตายไปเยอะมาก ถ้าไม่ใช้น่าจะมีคนป่วยเสียชีวิตมากกว่านี้อีกมาก ถ้ามาชั่งน้ำหนักกับข้อกังวลใจเรื่องผลข้างเคียง เทียบกันไม่ได้ จากที่ช่วยลดป่วยตายไปมาก”นพ.นครกล่าว