‘ไวรัส’ ที่ทำ ‘เด็กกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ’

‘ไวรัส’ ที่ทำ ‘เด็กกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ’

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผย "ไวรัส" ที่ทำให้ "เด็กเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" แต่โอกาสเกิดน้อยส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กเล็ก มากกว่าเด็กโต  ศูนย์จีโนม รพ.รามา ระบุถึงความเสี่ยงเรื่อง “ช่องว่างภูมิคุ้มกันในเด็ก”

จากกรณีที่พ่อแม่เด็กหญิงวัย 3 ขวบ โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียลูกติดเชื้อไวรัส ก่อนทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน จนเสียชีวิต และ”หมอบอกไวรัสอยู่ในอากาศ“ ต่อมา นพ.อนุ ทองแดง นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดชุมพร ระบุว่า ไวรัสชนิดดังกล่าวมีอยู่ทั่วๆ ไป หรือที่เรียกว่า เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีมานานแล้ว เป็นเชื้อไวรัสตัวเก่า ไม่ใช่ตัวใหม่ เชื้อสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ก็จะถูกทำลายไปกับแสงแดด ความร้อน ความแห้ง และสภาพอากาศนั้น

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2568 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา ให้ข้อมูลว่า  ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ แล้ว อาการแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ และหรือสมอง

ไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เป็นอาการแทรกซ้อน พบได้เช่น เอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ตัวที่พบบ่อย ได้แก่ เอนเทอโรไวรัสเอ 71(enterovirus-A71),คอกซากี( Coxsackie) B,ไวรัสเอคโค(Echo virus ) ซึ่งไวรัสในกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมากนับเป็นร้อยชนิด จะจัดรวมไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และอาจมีอาการแทรกซ้อนทางสมอง และหัวใจได้ แต่โอกาสที่จะเกิดน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กเล็ก มากกว่าเด็กโต

นอกจากนี้ยังมีไวรัสที่ทำให้เกิดโรคที่รู้จักกันดีทั่วไป ก็อาจจะเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจหรือสมองได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคหัด สุกใส เป็นต้น ก็มีโอกาสเกิดได้แต่โอกาสนั้นอาจจะเป็นหนึ่งในหมื่น ในแสนของผู้ป่วย

เด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี โอกาสเกิด 1ใน 100

สำหรับ เอนเทอโรไวรัส เอ 71( EV-A71) การเกิดสมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ้าเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี ถ้าติดเชื้อจะมีโอกาสเกิด 1ใน 100  แต่ถ้าเด็กต่ำกว่า 3 ปีจะมีโอกาสเกิด 1 ใน 300 และโอกาสจะเกิดน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น ส่วนไวรัสอื่นๆ โอกาสเกิด จะเป็น 1 ใน10,000 หรือ 1 ใน แสนของผู้ติดเชื้อ

อาการที่สำคัญ จะมีอาการเบื้องต้นเหมือนกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น เป็นไข้ เพลีย ไม่กินอาหาร และต่อมาจะอ่อนแรง หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ เพราะเริ่มมีอาการของหัวใจวาย

โรคนี้มีความรุนแรง แต่ก็พบได้ตั้งแต่มีอาการน้อย อาการมาก จนถึงเสียชีวิตได้ในระยะเวลารวดเร็ว แต่ในภาพรวมทั้งหมดแล้ว ไม่ได้พบบ่อย ซึ่งการติดเชื้อตัวเดียวกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องมีอาการ การเกิดอาการขึ้นอยู่กับบุคคลซึ่งมีปัจจัยต่างๆ มาเกี่ยวข้อง และมีปัจจัยที่เรายังไม่รู้อีก

แนวทางการรักษา ในปัจจุบันมีเครื่องมือ เครื่องใช้ในการช่วยพยุงหัวใจ รวมทั้งยา ประคับประคองรอให้การอักเสบลดลง ส่วนการให้ยาที่จะไปต้านไวรัส หรือปฏิกิริยาการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักจะใช้ภูมิต้านทานรวมชนิดฉีดเข้าเส้น

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร การป้องกันดีที่สุดก็คงเป็น การดูแลสุขภาพอนามัย ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เรื่องของความสะอาด ล้างมือ รับประทานอาหารที่สุก ใหม่ และสะอาด ใส่หน้ากากอนามัย มือไปที่ชุมชนคนหนาแน่น หรือโรงพยาบาล

เมื่อพบผู้ป่วย ก็จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงสาเหตุของตัวไวรัสให้ได้ เพื่อมาตรการในการป้องกันได้อย่างถูกวิธี ทางศูนย์ที่ทำวิจัยอยู่ ยินดีที่จะรับตรวจให้ โดยสิ่งส่งตรวจที่สำคัญก็คงจะเป็นการป้ายจากคอหรือจมูกส่วนลึก เลือด และอุจจาระ เพื่อหาไวรัสที่น่าจะเป็นสาเหตุ

โรคนี้พบได้ทั่วโลก ไม่ได้มีการระบาด พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไปก็ไม่ต้องวิตกกังวลเกินเหตุ ดูแลในมาตรการเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด ให้วัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดในเด็ก ก็น่าจะเพียงพออยู่แล้ว

 

ช่องว่างภูมิคุ้มกันในเด็ก

นอกจากนี้ ในแง่ของการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเด็กนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้รูปแบบการแพร่ระบาดตามฤดูกาลของโรคไวรัสในเด็กเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมาตรการป้องกันแบบไม่ใช้ยา เช่น การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่างทางสังคม และการปิดโรงเรียน มาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อรูปแบบการแพร่เชื้อไวรัส

“ทำให้เกิดช่องว่างภูมิคุ้มกัน และการระบาดที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในเด็กหลังการระบาดใหญ่”

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์  คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า  การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแพร่ระบาดพบว่าไวรัสอาร์เอสวี(RSV) และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปกติระบาดในฤดูหนาว กลับมาแพร่กระจายอย่างผิดปกติหลังการผ่อนคลายมาตรการ สายพันธุ์ยามากาตะ(Yamagata) ของไข้หวัดใหญ่ B หายไปอย่างสมบูรณ์ และไวรัสเอนเทอโรที่ไม่ใช่โปลิโอมีวงจรการระบาดที่เปลี่ยนไป

รวมถึง การระบาดของไวรัส hMPV ในจีนหลังการระบาดของโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงผลกระทบของมาตรการป้องกันไวรัสต่อรูปแบบการแพร่เชื้อ ไวรัสชนิดนี้ ซึ่งมักทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก พบการระบาดครั้งใหญ่หลังจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

เด็กเสี่ยงต่อโรคที่ป้องกันได้เพิ่มขึ้น

ช่องว่างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเนื่องจากมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้เด็กขาดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสบางชนิด การหยุดชะงักของการฉีดวัคซีน ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อโรคที่ป้องกันได้เพิ่มขึ้น เช่น หัด และโปลิโอ เด็กโตและทารกอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากขาดภูมิคุ้มกันจากการสัมผัสไวรัส

การเปลี่ยนแปลงตามอายุของผู้ติดเชื้อพบว่าเด็กโตอาจติดเชื้อที่เคยพบในเด็กเล็กมากขึ้น ทารกแรกเกิดอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นเนื่องจากขาดภูมิคุ้มกันจากแม่ การเจ็บป่วยจากไวรัส เช่น RSV อาจลดความรุนแรงในเด็กโต แต่เพิ่มในทารกที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจากแม่
ความเสี่ยง และแนวโน้มในอนาคต การระบาดใหญ่ที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลอาจเกิดขึ้นอีก การเปลี่ยนแปลงของไวรัสอาจนำไปสู่การวิวัฒนาการใหม่ๆ ที่ทำให้การแพร่ระบาดไม่สามารถคาดการณ์ได้ การผสมผสานของไวรัสก่อโรคโควิด-19 กับไวรัสอื่นๆ อาจมีผลต่อความรุนแรง และการแพร่เชื้อ

แนวทางการเตรียมพร้อม

การเฝ้าระวัง และติดตามเชื้อควรมีการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง เพื่อจับสัญญาณการระบาดล่วงหน้า ควบคู่กับการศึกษาภูมิคุ้มกันของประชากรเพื่อตรวจสอบความอ่อนแอ และเตรียมรับมือ

การเตรียมระบบสุขภาพต้องเตรียมทรัพยากรเพื่อรองรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และส่งเสริมการฉีดวัคซีนในเด็กเพื่อลดช่องว่างภูมิคุ้มกัน

การวิจัย และพัฒนาควรมุ่งศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่าง SARS-CoV-2 กับไวรัสประจำถิ่น และติดตามวิวัฒนาการทางพันธุกรรมของไวรัสเพื่อคาดการณ์ และป้องกันการแพร่ระบาด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์