6 โรค PM2.5 ปี 67 ป่วยกว่า 1 ล้าน ราว 38 ล้านคนจมฝุ่น
ฝุ่นPM2.5 ทำอายุเฉลี่ยของคนไทยลดลง 1.78 ปี คนไทย 38 ล้านคนอยู่ในพื้นที่จมฝุ่นPM2.5 เป็นกลุ่มเปราะบาง 15 ล้านคน เกิดค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพราว 3,000 ล้านบาท ปี 67 ป่วย 6 โรคกว่า 1 ล้านคน สธ.สั่งเตรียมพร้อม 4 มาตรการ ขอให้พิจารณากลุ่มเปราะบาง work from home
ข้อมูล ณ เวลา 07.00 น. วันที่ 9 ม.ค.2567 มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) 50 จังหวัด แยกเป็น สีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 39 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี เชียงราย น่าน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร หนองคาย เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ยโสธร นครราชสีมา และบุรีรัมย์
สีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ 11 จังหวัด เป็นสีแดง 5 จังหวัด คือ นครปฐม สมุทรปราการ ระยอง สมุทรสงคราม ราชบุรี และสีแดงเข้มมีค่าPM2.5 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ติดต่อกัน 2 วันขึ้นไป 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สระบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก นนทบุรี และกรุงเทพ
คาดPM2.5เกินมาตรฐานถึง 15 ม.ค.
คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแนวโน้มเกินมาตรฐาน ไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค.2568 เนื่องจากการระบายอากาศต่ำทําให้มีสภาพอากาศปิด รวมทั้ง พบจุดความร้อนทั้งในประเทศและต่างประเทศสูงขึ้น ฝุ่นละอองจึงมีแนวโน้มสะสมมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
สถานการณ์มลพิษอากาศของประเทศไทย ประชากร 38 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในจำนวนนี้ 15 ล้านคนหรือ 1 ใน 5 เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็ก ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพ PM2.5 ทำให้ค่าอายุเฉลี่ยของคนไทยลดลง 1.78 ปี
3,000 ล้าน ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพจาก PM2.5
กรมอนามัย ระบุถึงค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข เป็นค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอาศ 2,000-3,000 ล้านบาท โดยกว่า 75 % เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งค่ารักษาของโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เช่น หอบหืด 2,752 บาทต่อครั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 16,000 บาท และมะเร็งปอด 141,100-197,600 บาท ขณะที่การใช้มุ้งสู้ฝุ่นในกลุ่มติดเตียง จะสามารถลดการเข้ารักษาในรพ.ได้มากกว่า 1,800 ล้านบาท
ปี 67 ป่วยกว่า 1 ล้านคน
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสส.)ทั่วประเทศ กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2568ว่า ข้อมูลกรมควบคุมโรค ในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 – 31 ธ.ค.2567 สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ใน 6โรค 1,048,015 ราย แยกเป็น
- ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 226,423 ราย
- โรคตาอักเสบ 357,104 ราย
- โรคผิวหนังอักเสบ 442,073 ราย
- โรคหืด 18,336 ราย
- หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 4,051 ราย
- การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ28 ราย
สธ.สั่งการ 4 มาตรการ
รมว.สธ.ได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการตามมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4 มาตรการ ตามระดับความรุนแรงของค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ได้แก่
1.สร้างความรอบรู้ให้ประชาชน โดยติดตามสถานการณ์และประชาสัมพันธ์เชิงรุก เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนผ่านระบบดิจิทัล เช่น Platform หมอพร้อม, SMART อสม. ครอบคลุมทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
2.การลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจาก PM 2.5 จัดทำห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการและพื้นที่เสี่ยง และสนับสนุน มุ้งสู้ฝุ่น"รวมถึงพิจารณา Work From Home สำหรับกลุ่มเปราะบางเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
3.จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยขยายเครือข่ายบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม ทั้งคลินิกมลพิษทางอากาศ คลินิกเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษาคลินิกมลพิษออนไลน์ จัดระบบนัดหมายคลินิกมลพิษระบบผ่านหมอพร้อม และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่/ทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบาง เช่น ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียนประจำ เป็นต้น
และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ หากสถานการณ์รุนแรง ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในทุกระดับ และส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ใช้ พรบ.การสาธารณสุข ควบคุมฝุ่นละออง
ห้องปลอดฝุ่น 4,700 ห้อง
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีห้องปลอดฝุ่นแล้วจำนวน 4,700 ห้องใน 56 จังหวัด แบ่งเป็นสถานบริการของสธ. 3,009 ห้อง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียน 858 ห้อง อาคารสำนักงาน 457 ห้อง และร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ 376 ห้อง ส่วนมุ้งสู้ฝุ่นที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านมีการกระจายใน 34 จังหวัดรวม 1,338 ชุด โดยจะมีการสนับสนุนหน้ากากอนามัยและมุ้งสู้ฝุ่นที่จุดเสี่ยงและหน่วยบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม
สำหรับการเฝ้าระวังโรคจากการรับสัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะดำเนินการผ่านระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นย้ำให้ลงรหัสโรค ICD-10 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 กรณีมีอาการป่วยใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง , กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด , กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคผื่นลมพิษ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
นอกจากนี้ จะดำเนินการคัดกรองสุขภาพเชิงรุกและรวบรวมข้อมูลผู้รับบริการในร้านขายยาเมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.และคัดกรองเชิงรับในหน่วยบริการเมื่อค่าฝุ่นมากกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม.ด้วย โดยกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจากสถานพยาบาลโดยวิธี API Digital Disease Surveillance ภาพรวมประเทศร่วมกับกองระบาดวิทยาและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)