บัตรทอง 30 บาท เพิ่ม 10 สิทธิประโยชน์ งบฯรายหัวแตะ4,000บาทปีแรก

บัตรทอง 30 บาท  เพิ่ม 10 สิทธิประโยชน์ งบฯรายหัวแตะ4,000บาทปีแรก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบงบฯบัตรทอง 30 บาทปี69 วงเงินรวมกว่า 2.72 ล้านบาท งบฯรายหัวเกิน 4,000 บาทปีแรก จัดสรรงบ 2.1 หมื่นล้านบาท หนุนนโยบายสุขภาพของรัฐบาล 26 รายการ เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ 10 รายการ

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) กล่าวว่า  ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ปี 2569  และให้ สปสช. เสนอต่อ ครม.  ต่อไป วงเงินงบประมาณ272,583.32 ล้านบาทแยกเป็น

งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 204,174.99 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4,298.24 บาทต่อประชากรต่อปี เพื่อดูแลประชากร 47.50 ล้านคน

งบค่าบริการนอกงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 68,408.32 ล้านบาท

เมื่อหักเงินเดือนภาครัฐในระบบปกติจำนวน 71,446.45 ล้านบาท จะเหลือเป็นงบประมาณที่ให้ สปสช. บริหารจำนวน 201,136.87 ล้านบาท 

ทั้งนี้ งบประมาณที่นำเสนอในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณ 2568 ได้เพิ่มขึ้นจำนวน 36,196.80 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.51% โดยงบเหมาจ่ายรายหัวจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 442.16 บาท    
 

ในส่วนงบค่าบริการนอกงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 68,408.32 ล้านบาท ได้ขอเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมาจำนวน 13,862.97 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.42 % เพื่อใช้สำหรับรายการ

  • ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 4,574.06 ล้านบาท
  • ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวน 16,074.98 ล้านบาท
  • ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรังจำนวน 1,584.95 ล้านบาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1,490.29 ล้านบาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิและหน่วยนวัตกรรมจำนวน 4,188.96 ล้านบาท  
  • ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพฯ จำนวน 4,110.35 ล้านบาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนจำนวน 6,267.29 ล้านบาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 541.07 ล้านบาท
  • เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการจำนวน 562.23 ล้านบาท
  • ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วไปจำนวน 27,761.92 ล้านบาท
  • และค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDS) จำนวน 1,252.27 ล้านบาท 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบวงเงินสำหรับยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษที่ให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์จัดหาให้ปีงบประมาณ 2569 อาทิ ยาจำเป็น (ยา จ.2 ยา CL ยากำพร้า ยาต้านพิษ) อุปกรณ์และอวัยวะเทียม รากฟันเทียม ชุดประสาทหูเทียม ยาเอชไอวี น้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง วัคซีน และถุงยางอนามัย เป็นต้น รวมเป็นงบประมาณจำนวน 13,617.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น33.2 %จากปีที่ผ่านมา

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2569 รัฐบาลมีนโยบายยกระดับการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ทั้งการต่อยอดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ลดโรคไม่ติดต่อ จัดบริการสุขภาพเชิงรุก บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น จะขับเคลื่อนภายใต้งบประมาณกองทุนบัตรทอง 30 บาท ที่เป็นข้อเสนองบประมาณปี 2569

"ที่ประชุมรับทราบรายงานการการตรวจสอบเอกสารเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ที่หน่วยบริการเบิกไม่ถูกต้องอาจเข้าข่ายเป็นเท็จ เรื่องนี้ ดำเนินการต่อเนื่องจากบอร์ดชุดที่แล้ว ซึ่งปี 2562 มีการตรวจสอบการเบิกจ่ายของคลินิกและหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ซึ่งมีการเบิกเท็จและดำเนินการตามกฎหมายแล้ว บอร์ดชุดเดิม มีมติให้ตรวจสอบของ ปี 2560, 2561, และ 2563 เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากเป็นกติกาเดียวกัน สปสช.ดำเนินการแล้วเสร็จ จึงมารายงานให้บอร์ดทราบ คาดว่าจะมีการเรียกเงินคืน ประมาณ 125 ล้านบาท และได้มอบให้ สปสช.ดำเนินมาตรการทางกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของ สปสช.ต่อไป"นายสมศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การสนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาลภายใต้งบประมาณกองทุนฯ ปี 2569 มีจำนวน 26 รายการ เป็นวงเงินจำนวน 21,058.58 ล้านบาท อาทิ บริการระบบการแพทย์ทางไกลที่เพิ่มเติมการดูแลคนไทยในต่างแดน ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน และตู้ห่วงใย, บริการหน่วยนวัตกรรม 7 ประเภท, บริการสร้างเสริมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) บริการลดการนอนในโรงพยาบาลในผู้ป่วยโรคหอบหืด ศูนย์ให้คำปรึกษาจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วนเลิกบุหรี่ พอกเข่าโดยสมุนไพร การดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวในชุมชนให้มี Caregiver การตรวจคัดกรองโรคด้วยตนเอง ทั้งโรคพยาธิใบไม้ตับ เอชไอวี และเอชพีวี, วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กหญิงชนิด 9 สายพันธุ์ ตลอดจนบริการสุขภาพกลุ่มคนข้ามเพศ เป็นต้น 
 
ปี 2569 จะมีสิทธิประโยชน์ใหม่ 10 รายการ รวมวงเงิน 1,276.54 ล้านบาท ได้แก่

  • สายด่วนเลิกเหล้า
  • สายด่วนท้องไม่พร้อม/สายด่วนวัยรุ่น
  • ธนาคารนมแม่
  • วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบในเด็ก (PCV)
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี
  • การตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน
  • การตรวจคัดกรอง Autistic disorder ด้วยเครื่องมือ TDAS
  • ชุดตรวจ Microalburnin ในปัสสาวะเพื่อตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกช้อนจากเบาหวาน
  • การดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ให้เข้าสู่เบาหวานระยะสงบ
  • และบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อเสนองบฯบัตรทอง 30 บาทปี 2569ที่บอร์ดสปสช.เห็นชอบ เป็นปีแรกที่งบฯเหมาจ่ายรายหัวมากกว่า 4,000 ต่อประชากรต่อปี โดยปี 2568
อยู่ที่ 3,856.08 บาทต่อประชากรต่อปี