ปภ.ช.ลดภัยแผ่นดินไหวเหลือ 'ระดับกลาง' แต่ยังติดตามจนกว่าจะปกติ

บกปภ.ช.สั่งลดระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 2 แต่ยังตามสถานการณ์-ความคืบหน้าให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ประสานสนับสนุนต่อเนื่อง จนกว่าจะปกติ
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2568 เวลา 09.30 น. ที่ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณสุข (ปภ.) จัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาภัยจาก"แผ่นดินไหว" โดยเมื่อคืนนี้ได้มีการประกาศลดระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) โดยจะเป็นนอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในผู้สั่งการควบคุมและบัญชาการในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม บกปภ.ช. ยังคงติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานการปฎิบัติงานเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวบนบกบริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ได้รับความเสียหาย
รัฐบาลได้มีการประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยกรณีแผ่นดินไหว เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาแห่งชาติเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยปัจจุบันกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ประเมินสถานการณ์แล้ว เห็นว่าสถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว
รวมถึงผลกระทบและความเสียหายที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ ได้รับการแก้ไข ทั้งในด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและเส้นทางคมนาคม รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว จึงได้ประกาศลดระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้สั่งการควบคุมและบัญชาการ เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ 2564 - 2570 อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะยังคงมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมประสานการปฎิบัติงานเพื่อให้การสนับสนุนพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
สำหรับวันนี้ จากการติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มี Aftershock บนรอยเลื่อนสะกายโดยรวมกว่า 200 ครั้ง แต่อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย ส่วนสภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงเช้าวันนี้มีฝนตกเล็กน้อย และช่วงบ่ายอาจมีฝนตกเพิ่มขึ้น และจะมีฝนตกในพื้นที่ ภายใน 2 - 3 วันนี้
ในส่วนของการดำเนินการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือประชาชนของกรุงเทพมหานคร ด้านสภาพการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน (31 มี.ค. 68) ได้มีการแจ้งปิดเส้นทางจราจร จำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ถนนประชาราฎร์สาย 1 ซอย 14 - แยกบางโพ จุดที่ 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทั้งขาเข้าและขาออก จุดที่ 3 ถนนกำแพงเพชร 4 ตลอดทั้งเส้น ซึ่งในจุดที่ 2 และ 3 เป็นการปิดเส้นทางเพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถเข้าพื้นที่ในการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
ส่วนการตรวจสอบอาคารบ้านเรือนประชาชนในกรุงเทพมหานคร จากข้อมูล วันที่ 30 มี.ค. 68 ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนสะสม จำนวน 355 แห่ง แยกเป็น สีแดง 2 อาคาร สีเหลือง 68 อาคาร สีเขียว 217 อาคาร และรอรายงาน 68 อาคาร พร้อมขอความร่วมมือนิติบุคคลสำรวจภาพรวมอาคารและพื้นที่ส่วนกลางของอาคาร หากพบรอยร้าวให้ดำเนินการแจ้งข้อมูล ผ่าน Traffy Fondue
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังคงเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว 1 แห่ง ที่ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง โดยสามารถรองรับประชาชนได้ 70 คน มีผู้เข้าพักชั่วคราว 22 คน ทางด้านการค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้เสียชีวิตที่ติดค้างใต้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างถล่มนั้น เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง ถึงแม้ปัจจุบันเวลาจะผ่านไป 72 ชั่วโมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ีทุกคนยังคงดำเนินการค้นหากันต่อไป
ด้านการตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นอาคารของหน่วยงานภาครัฐ ได้มีการดำเนินการตรวจสอบแล้ว 38 หน่วยงาน 124 อาคาร สามารถเข้าใช้งานได้ตามปกติ 117 อาคาร อาคารที่มีความเสียหายปานกลางแต่ยังสามารถใช้งานได้ 7 อาคาร กลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารที่มีทางเชื่อม อาคารสูง คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า อาคารของภาคเอกชน ซึ่งเป็นอาคารที่มีการตรวจสอบประจำทุกปี ซึ่งเจ้าของอาคารได้ประสานให้ผู้ตรวจสอบเข้าตรวจสอบอาคารที่ที่ใช้ตรวจสอบเป็นประจำทุกปีให้ดำเนินการตรวจสอบ หากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอสามารถประสานมายังกรมโยธาธิการและผังเมืองได้
ส่วนที่อาคารในต่างจังหวัด กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แจ้งให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในส่วนกลาง สำหรับความคืบหน้าในการรื้อถอนเครนบริเวณทางด่วนด่านดินแดง ได้ดำเนินการการเคลียร์เครนบางส่วนออกจากจุดเกิดแล้ว เพื่อเปิดเส้นทางให้ประชาชนใช้บริการทางด่วนได้ตามปกติเมื่อเวลา 05.00 น. แและจะมีการประชุมเพื่อดำเนินการรื้อถอนในส่วนที่เหลือต่อไป
นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เน้นย้ำให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สิน โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจความเสียหายและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครบถ้วนทุกมิติ เพื่อการช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสิทธิตามหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจน ตลอดจนให้หน่วยงานและจังหวัดรายงานการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และหากพื้นที่ต้องการการสนับสนุนการปฎิบัติให้ความช่วยเหลือ ขอให้แจ้งมาที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และจะดำเนินการประสานเพื่อให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังต่อไป
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังในทุกพื้นที่ที่ประสบภัย รวมถึงติดตามสถานการณ์และประสานการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด หากประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ผ่านไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM