ไขคำตอบ! โอกาส 'HMPV'ผสม 'เชื้อโรคโควิด' เกิดไวรัสลูกผสมใหม่
ศูนย์จีโนม รพ.รามา เผยข้อมูลโอกาสที่ "ไวรัสHMPV" จะรวมตัว "ไวรัสโรคโควิด" เกิดเป็นไวรัสลูกผสมใหม่ ระบุไวรัส 2 ตัวอยู่ต่างตระกูล พร้อมอาการที่เหมือน-แตกต่างกัน
จากกรณีสถานการณ์การระบาดของ HMPV ในจีน ซึ่งโซเชียลมีเดีย เผยแพร่ว่าโรงพยาบาลประสบปัญหาผู้ป่วยมากเกินไป มีผู้ป่วยรอแน่น และสวมหน้ากากอนามัย รัฐบาลเพิ่มการตรวจคัดกรอง และเฝ้าระวังการติดเชื้อ มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ การติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ในช่วงกลางธันวาคม 2567 และเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมสำหรับการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของโรคในฤดูหนาว จนสร้างความกังวลต่อประชาชนว่าจะเกิดการระบาดใหญ่เหมือนโรคโควิด-19 นั้น
3 ข้อ HMPV ไม่ระบาดใหญ่เท่าโควิด
แต่หากลองพิจารณาจากข้อมูล ณ ปัจจุบัน(7 ม.ค.2568) ในการประเมินว่าHMPVจะระบาดใหญ่ทั่วโลกเหมือนกรณีโควิด-19หรือไม่ อาจยกมาได้ 3 เหตุผลที่จะไม่เป็นเช่นนั้น
1.)ไวรัส HMPV ไม่ใช่เชื้อใหม่ มีมานานมากแล้ว แต่เพิ่งจะมาพบในปี ค.ศ. 2000 โดยทีมนักไวรัสวิทยา ที่ Erasmus University เนเธอร์แลนด์ แยกไวรัสนี้ได้จากเด็กเล็ก 2 ราย ที่ป่วยเป็นปอดอักเสบรุนแรง และตรวจไม่พบไวรัสที่เคยรู้จักกันมาก่อน จึงใช้วิธีการทางชีวโมเลกุล ตรวจชิ้นส่วน RNA โดยวิธีการสุ่ม เมื่อเปรียบเทียบพันธุกรรม คล้ายคลึงกับ Avian pneumovirus ในนก แต่เมื่อมาทดสอบกับสัตว์ทดลอง ใช้ไก่งวงแทนนก และลิง พบว่าไก่งวงไม่เป็นโรค แต่ลิงมีน้ำมูกไหล เป็นหวัด จึงรู้ว่าไวรัสตัวนี้ไม่ได้ข้ามมาจากนก
ต่อมาได้มีการเอาน้ำเหลืองที่เก็บไว้มานานกว่า 50 ปี มาตรวจก็พบว่ามีปฏิกิริยาภูมิต้านทานต่อไวรัสตัวนี้แล้วโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ แสดงว่าไวรัสนี้มีมานานมากกว่า 50 ปี
2.)คนเคยติดเชื้อส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อไวรัสไม่ได้เป็นไวรัสอุบัติใหม่ คนส่วนใหญ่เคยติดเชื้อมาแล้ว ภูมิคุ้มกันจากการเคยติดมาแล้ว จะช่วยให้อาการเบาไม่รุนแรง ยกเว้นเด็กเล็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือ ผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี
3.)รู้วิธีการรักษา กรณีของโรคโควิด-19นั้นเป็นเชื้ออุบัติใหม่ ทำให้คนทั้งโลกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ไร้วัคซีน และในช่วงแรกของการระบาดนั้น ก็ยังไม่รู้วิธีการรักษาที่ได้ผล แต่กรณีของไวรัสHMPVนั้น แม้ยังไม่มีวัคซีนเฉพาะ และการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ แต่แพทย์ก็รู้แนวทางการรักษาของโรคนี้
2 ไวรัสตระกูลต่างกัน
ส่วนกรณีที่มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียว่า “ด่วน ตอนนี้ อินเดีย ประกาศฉุกเฉิน ให้เฝ้าระวังคนจีนทุกคน หลังไวรัส HMPV ที่ผสมพันธุ์กับโควิด-19 ระบาดหนัก หลายมณฑลรวมถึงฮ่องกงด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรงยิ่งขึ้นกว่ารอบก่อน”นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเรื่องการติดเชื้อไวรัสเมตานิวโมไวรัสในมนุษย์ (HMPV) กับ SARS-CoV-2 (ไวรัสก่อโรคโควิด-19): ข้อเท็จจริงและประเด็นน่าสนใจว่า ไวรัสเมตานิวโมไวรัสในมนุษย์ (HMPV) และไวรัส SARS-CoV-2 ต่างก็เป็นเชื้อก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สำคัญ ซึ่งแม้จะมีอาการคล้ายคลึงกันบ้าง แต่ทั้ง 2 ไวรัสนี้อยู่ในตระกูลที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง HMPV อยู่ในตระกูล Pneumoviridae ในขณะที่ SARS-CoV-2 เป็นสมาชิกของตระกูล Coronaviridae ด้านล่างนี้เป็นข้อมูลเชิงลึกและประเด็นที่ควรให้ความสนใจ
1. HMPV (Human Metapneumovirus)
- อยู่ในตระกูล Pneumoviridae
- ก่อโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
- อาจทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ และอาการหยุดหายใจชั่วขณะ (Apnea) ในทารกเล็ก
2. SARS-CoV-2
- อยู่ในตระกูล Coronaviridae
- มีโครงสร้างพันธุกรรมแบบ RNA ซึ่งแตกต่างจาก HMPV ค่อนข้างมาก
- สามารถก่อให้เกิดอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงภาวะระบบทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน
โอกาสรวมตัวเกิดไวรัสลูกผสมใหม่
การรวมสารพันธุกรรม (Recombination) ในแง่ทฤษฎี มีโอกาสที่ไวรัสต่างชนิดอาจแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกันได้ แต่เมื่อไวรัสอยู่กันคนละตระกูล โอกาสที่จะรวมกันและเกิดไวรัสลูกผสมใหม่ยังค่อนข้างต่ำ มากไปกว่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยหรือหลักฐานบ่งชี้ว่า HMPV และ SARS-CoV-2 ได้รวมจีโนมจนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่
1 คนติด 2 ไวรัสได้
การติดเชื้อร่วม (Co-infection) แม้ไม่มีหลักฐานเรื่องการรวมสารพันธุกรรม แต่มักพบการติดเชื้อร่วมกันระหว่างไวรัสระบบทางเดินหายใจหลายชนิดในผู้ป่วยคนเดียวกัน ตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อเกิดการระบาดของโรคซาร์ส (SARS-CoV) ในปี 2002 มีรายงานผู้ป่วยบางรายติดเชื้อร่วมกับ HMPV โดยพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อร่วมไม่ได้หมายความว่าตัวไวรัสจะหลอมรวมสารพันธุกรรมเข้าสู่กัน
อาการที่คล้ายและแตกต่าง
1. อาการที่คล้ายกัน
- ไข้
- ไอ
- น้ำมูกไหล
- เจ็บคอ
- อ่อนเพลีย
- หายใจลำบากในบางกรณี
2. อาการที่แตกต่าง
- HMPV มักพบอาการรุนแรงในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ เช่น เสียงหวีดขณะหายใจ และอาจถึงขั้นหยุดหายใจชั่วขณะในเด็กเล็ก
- SARS-CoV-2 พบได้ในทุกวัย อาจมีอาการเฉพาะ เช่น สูญเสียการได้กลิ่นและรับรส มีผื่นตามผิวหนัง หรืออาการในระบบทางเดินอาหารในบางราย
การรักษาและพัฒนาวัคซีน
- HMPV ยังไม่มีวัคซีนเฉพาะ และการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ
- SARS-CoV-2 มีการพัฒนาวัคซีนหลายชนิดและยาต้านไวรัสที่ผ่านการอนุมัติสำหรับใช้งาน ความคืบหน้าของวัคซีนแบบผสม (รวมแอนติเจนของหลายไวรัสในวัคซีนเดียว) ยังคงอยู่ใน
ยังไร้หลักฐานรวมจีโนมเกิดไวรัสลูกผสมใหม่
ศูนย์จีโนมฯ รามาฯ ให้ข้อสรุปว่า ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่ยืนยันว่า SARS-CoV-2 และ HMPV ได้รวมจีโนมกันเป็นไวรัสลูกผสมใหม่ แม้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อร่วมกันในผู้ป่วยคนเดียวกันได้ก็ตาม ด้วยความแตกต่างทางพันธุกรรมที่ชัดเจน การวางแผนรับมือและการเฝ้าระวังจึงควรให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะของไวรัสแต่ละชนิด ส่วนการพัฒนาวัคซีนหรือแนวทางรักษาแบบผสานยังอยู่ในกระบวนการวิจัยและอาจเป็นความหวังของการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจหลายชนิดพร้อมกันในอนาคต