'3 เมกะเทรนด์' เชื่อมสุขภาพ โอกาสเศรษฐกิจ ธุรกิจรุ่งทุกยุค

'3 เมกะเทรนด์' เชื่อมสุขภาพ โอกาสเศรษฐกิจ ธุรกิจรุ่งทุกยุค

อย.เผย 3 เมกะเทรนด์ปี 2025 ไม่ตกสมัย ยุคไหนๆก็เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ มูลค่าผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ลดลง ไทยเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง-ผลิตเครื่องมือแพทย์ แนวโน้มตลาดเพิ่มขึ้น คาดอีก 5 ปีขยับเท่าตัว

KEY

POINTS

  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เผย 3 เมกะเทรนด์ปี 2025 ไม่ตกสมัย ยุคไหนๆก็เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ โชว์มูลค่าผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ลดลง แม้แต่ละปีอาจจะดูยังห่างจากจีดีพีประเทศ
  • ไทยเดินหน้าอุตสาหกรรม S-Curve ส่วนของอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง และเครื่องมือแพทย์ขั้นสูง แนวโน้มตลาดเพิ่มขึ้น คาดอีก 5 ปีขยับเท่าตัว
  • ทิศทางพัฒนาเครื่องมือแพทย์ใหม่ซับซ้อนมากขึ้นทั้งกลไกและซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ เช่น โรโบติกส์ เอไอ จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ New S-Curve  อย.จัดแมชชิง(matching)ผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ แนะนำจนสามารถขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า ไม่ว่าจะยุคหรือการเปลี่ยนแปลงใด เรื่องHealth เป็นส่วนหนึ่งเสมอในโอกาสที่จะเกิดผลต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ อย่างการพยากรณ์เมกะเทรนด์ในปี 2025 เรื่อง Health ,Wellness และWell- being ก็เป็นเรื่องเด่นเรื่องหนึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพในแง่ของผลิตภัณฑ์สุขภาพ

\'3 เมกะเทรนด์\' เชื่อมสุขภาพ โอกาสเศรษฐกิจ ธุรกิจรุ่งทุกยุค

มูลค่าผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ลดลง

ทั้งนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทย แม้แต่ละปีอาจจะดูยังห่างจากจีดีพีประเทศ แต่ทุกผลิตภัณฑ์ที่อย.ดูแลมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ลดลง 

  • ปี 2561 มูลค่า 1,296,671 ล้านบาท
  •  ปี  2562 มูลค่า 1,308,082 ล้านบาท
  •  ปี 2563 มูลค่า 1,337,140 ล้านบาท
  • ปี  2564 มูลค่า 1,362,142 ล้านบาท
  • ปี  2565 มูลค่า 1,472,321 ล้านบาท
  • และปี  2566 มูลค่า  1,374,890 ล้านบาท

เมื่อแยกเป็นรายผลิตภัณฑ์ ในปี  2561 พบว่า  อาหารมากที่สุด มูลค่าราว 985,341 ล้านบาท  ยา/ผลิตภัณฑ์สมุนไพร/วัตถุเสพติด/เครื่องมือแพทย์ มูลค่า165,483 ล้านบาท วัตถุอันตราย  114,137 ล้านบาท และเครื่องสำอาง 31,710 ล้านบาท 
ส่วนปี  2566 พบว่า  อาหารมากที่สุด มูลค่า  1,009,897 ล้านบาท  ยา/ผลิตภัณฑ์สมุนไพร/วัตถุเสพติด/เครื่องมือแพทย์ มูลค่า 220,974 ล้านบาท วัตถุอันตราย  106,005 ล้านบาท และเครื่องสำอาง 37,014 ล้านบาท 
\'3 เมกะเทรนด์\' เชื่อมสุขภาพ โอกาสเศรษฐกิจ ธุรกิจรุ่งทุกยุค

พัฒนาเครื่องมือแพทย์ซับซ้อน เพิ่มมูลค่า

นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า แนวโน้มมูลค่าการตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMPs ในตลาดโลกสูงขึ้นทุกปี  โดยคาดว่าปี 2032 มูลค่าตลาดจะเติบโตถึง 35.59 พันล้านดอลลาร์ รวมถึง คาดว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจาก 2.4 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เป็น 5.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2026

ขณะที่ในประเทศไทยจำนวนสถานประกอบการในอุตสาหกรรม S-Curve ส่วนของอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ก็มีเพิ่มขึ้นจากปี 2555 จำนวน 1,083 แห่ง เป็น  2,022 แห่งในปี 2565
\'3 เมกะเทรนด์\' เชื่อมสุขภาพ โอกาสเศรษฐกิจ ธุรกิจรุ่งทุกยุค

สำหรับเครื่องมือแพทย์ ทิศทางจะมีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ใหม่ซับซ้อนมากขึ้นทั้งกลไกและซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ เช่น โรโบติกส์ เอไอ จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ New S-Curve ทั้งนี้ การนำเข้าและส่งออกเครื่องมือแพทย์ของประเทศในปี  2566 มีมูลค่าการนำเข้า 90,000 ล้านบาท  มูลค่าการส่งออก 1.18 แสนล้านบาท 

“จะเห็นว่าที่ผลิตในประเทศแล้วส่งออกมูลค่าอาจจะมาก ขณะที่นำเข้าอาจจะไม่มากเท่า แต่ก็ใกล้เคียงกัน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ซับซ้อน ขณะที่เครื่องมือแพทย์ที่ซับซ้อน ราคาแพง เป็นการนำเข้าเกือบทั้งหมด”นพ.สุรโชคกล่าว

แมชชิงผู้วิจัย-ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ขั้นสูง

นพ.สุรโชค กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์ขั้นสูง อย.มีความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยต่างๆและผู้ประกอบการในการที่จะแมชชิง(matching)ระหว่างผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ โดยอย.จะเข้าไปแนะนำผู้ผลิตตั้งแต่ต้นว่าจะต้องผลิตอย่างไร จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับอย.ได้

ทั้งนี้ หากจะมีการส่งออกไปต่างประเทศจะต้องไปยื่นขึ้นทะเบียนในประเทศปลายทางใหม่ แต่ด้วยการขึ้นทะเบียนกับอย.ไทยเป็นมาตรฐานสากล ดังนั้น เอกสารที่ใช้ยื่นขึ้นทะเบียนกับอย.ก็สามารถเตรียมไปใช้ในต่างประเทศได้ 

“อย.จะส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้วิจัยในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานให้ทุนต่างๆ ก็เน้นเรื่องเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและมูลค่าสูงมากขึ้น เช่น ผลิตที่ฝังในตัวคนไข้ กระดูกเทียม รากฟันเทียม ที่มีมูลค่าสูงและไทยก็มีการนำเข้า หากสามารถผลิตได้เอง จะลดการนำเข้า ลดค่าใช้จ่าย และถ้าทำได้ก็จะส่งผลให้แนวโน้มของประเทศไทยสามารถส่งออกเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น”นพ.สุรโชคกล่าว 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เคยนำกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์เข้าหารือร่วมกับผู้บริหารอย. กรณีกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก โดยมีการแนะนำการเปลี่ยนผ่าน (Part Transformation) จากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve)