กรมควบคุมโรคเผย ทั่วโลกกังวล 'ไข้หวัดนก'ระบาด

กรมควบคุมโรคเผย ทั่วโลกกังวล 'ไข้หวัดนก'ระบาด

กรมควบคุมโรค เผยนานาชาติกังวลสัญญาณ “ไข้หวัดนก”ระบาด ฮูยกระดับ  ขณะที่ไทยเตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวัง-ยารักษา-วัคซีน อภ.เตรียมเปิดสายการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก มี.ค.นี้ เบื้องต้น 2 แสนโดส ศักยภาพสูงสุด 5 แสนโดส

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค  ให้สัมภาษณ์ว่า  องค์การอนามัยโลก และนานาชาติ มีความเป็นห่วงเรื่อง โรคไข้หวัดนก กับ อหิวาตกโรค มากที่สุด กรณีไข้หวัดนก ตัวเชื้อไม่ได้มากับสัตว์ปีกอย่างเดียว แต่มาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้ด้วย เช่น ที่สหรัฐอเมริกาที่พบ ผู้ติดเชื้อจากโคนม ซึ่งคนที่เดินทางกลับจากอเมริกาเข้ามายังประเทศไทย นอกจากจะซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกแล้ว ต้องซักประวัติการไปที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต่างๆด้วยหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยเฝ้าระวังมากขึ้น

ขณะนี้กำลังให้ทีมทำเรื่องการควบคุม ป้องกันโรค  ในส่วนของยารักษาโรค ต้องอัปเดตว่ายังใช้ตัวเดิม คือ โอเซลทามิเวียร์ หรือกลุ่มใด มีการดื้อยาหรือไม่อย่างไร ซึ่งกำลังหารือร่วมกับกรมการแพทย์ เพื่อวางแนวทางการใช้ยารักษา รวมถึงวัคซีนก็ต้องมีการคุยกันกับทางองค์การเภสัชกรรรมด้วย ขณะที่ จุดใหญ่คือต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น มาตรการที่สำคัญคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อย่าไปสัมผัสสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

ถามว่ามีสัญญาณที่จะระบาดขึ้นมากหรือไม่ นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า มีสัญญาณในนานาชาติ และประเทศรอบๆ ข้างประเทศไทย ซึ่งในการระบาดนั้นต่างชาติกลัว และปีนี้องค์การอนามัยโลกมีการยกระดับอหิวาตกโรค กับไข้หวัดนก แต่ก็คิดว่า น่าจะเอาอยู่ทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งไข้หวัดนกอาจจะเหมือนโรคโควิด – 19 ที่ไม่คิดว่าจะเข้ามา สุดท้ายก็เข้ามาก็ได้ ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องกังวล ต้องตื่นตัว และต้องเตรียมตัว  โรคระบาดทุกอย่าง จะระบาดเมื่อไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม

ด้านพญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า อภ.เตรียมเปิดสายการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับป้องกันโรคไข้หวัดนกในเดือนมีนาคม 2568  ซึ่งก่อนหน้านี้อภ.เคยผลิตมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่มีการระบาดจึงไม่ได้มีการผลิต ส่วนที่ยังไม่สามารถผลิตได้ทันทีตอนนี้ เนื่องจากติดการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการว่าจ้างตามสัญญาของทางสหรัฐอเมริกา

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวด้วยว่า  การผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกในเดือนมีนาคมนี้ จะเป็น สายพันธุ์ H5N2 เนื่องจากการติดเชื้อเป็น H5N1 แต่ไม่สามารถฉีดไวรัสตรงๆได้ การฉีดสายพันธุ์ H5N2สามารถป้องกันได้เช่นกัน ใช้เวลา 2 เดือน ประมาณเดือนพฤษภาคม 2568 น่าจะได้ คาดว่าทันสถานการณ์ เพราะช่วงพีคจะประมาณเข้าฤดูฝน เดือนมิถุนายน กรกฎาคม เบื้องต้นจะผลิต 2 แสนโดส แต่มีศักยภาพผลิตได้สูงถึง 5 แสนโดส อยู่ได้6เดือน-2ปี

" แต่หากในอนาคตเกิดการเปลี่ยนสายพันธุ์ระบาดขึ้นมามาก ทางอภ.ก็สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้ เพราะหลักการผลิตเหมือนกัน อีกทั้ง ถึงตอนนั้นทางองค์การอนามัยโลกก็จะส่งสายพันธุ์ให้แต่ละประเทศเพื่อผลิต คล้ายๆตอนช่วงโควิดระบาด” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว