ฮู-หน่วยงานสาธารณสุขจีน ยังไม่มีการยืนยันการระบาดของ 'เชื้อไวรัส hMPV'

ฮู-หน่วยงานสาธารณสุขจีน ยังไม่มีการยืนยันการระบาดของ 'เชื้อไวรัส hMPV'

กรมควบคุมโรค เผยไวรัส hMPV ไม่ใช่โรคใหม่ จากการเฝ้าระวังยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย ปี 67 พบราว 6%   ประสานข้อมูลจีนเบื้องต้น แจ้งว่ายังไม่มีการยืนยันการแพร่ระบาดของเชื้อ hMPV จากหน่วยงานสาธารณสุขของจีน-องค์การอนามัยโลก (WHO)

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2567 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการเผยแพร่ข่าวบนสื่อออนไลน์กรณีพบการระบาดของเชื้อ hMPV ระบาดหนักในหลายมณฑล ของประเทศจีนว่า กรมควบคุมโรค มอบหมายให้จุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR-NFP) ประจำประเทศไทย ประสานติดตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศจีน      

"เบื้องต้นได้รับรายงานจากจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR-NFP) ประจำประเทศจีนว่ายังไม่มีการยืนยันการแพร่ระบาดของเชื้อ hMPV จากหน่วยงานสาธารณสุขของจีนหรือองค์การอนามัยโลก (WHO)"นพ.ภาณุมาศกล่าว    

นพ.ภาณุมาศ กล่าวอีกว่า ไวรัส hMPV (Human metapneumovirus) หรือ ฮิวแมน เมตานิวโมไวรัส เป็นไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโควิด 19 สามารถพบผู้ป่วยได้ประปรายตลอดทั้งปี มักพบผู้ป่วยในช่วงฤดูฝนและเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจมีแนวโน้มแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

hMPV เป็นเชื้อชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากการไอ หรือจาม การสัมผัสใกล้ชิด หรือ การสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสและนำมือมาสัมผัสเยื่อบุ เช่น เยื่อบุปาก จมูก หรือตา

กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง   เช่น โรคหอบหืด หรือ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง

โดยทั่วไปผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัส RSV และไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ และคัดจมูก บางรายอาจพบภาวะปอดอักเสบ หรือกระตุ้นให้มีอาการ หอบหืดกำเริบเฉียบพลันได้ ดังนั้น หากมีอาการป่วย 1 – 2 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาการ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อสาเหตุและรับการรักษาตามอาการ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับโรคนี้การป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นประเด็นสำคัญ

ด้านนพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมากองระบาดวิทยาร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่ายที่จัดตั้งเป็นหน่วยเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย ดำเนินโครงการเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยทางเดินหายใจส่งตรวจหาเชื้อก่อโรคด้วยวิธี PCR ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567 พบว่า เชื้อที่ตรวจพบสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • เชื้อ SARS-CoV-2 จำนวน 87 ราย  14.26% 
  •  Rhinovirus  78 ราย  12.79%
  • Haemophilus Influenzae 56 ราย  9.18%
  • Respiratory syncytial viruses (RSV) 45 ราย  7.38%
  •  และ Human metapneumovirus (hMPV) 42 ราย  6.89% 

กลุ่มอายุที่ตรวจพบเชื้อ hMPV สูงสุดคืออายุต่ำกว่า 5 ปี 35.71% รองลงมาคือ อายุ 50 – 59 ปี  16.67% และอายุ 30 – 39 ปี 11.90% ตามลำดับ จากการส่งตรวจในโครงการฯ เห็นได้ว่าสัดส่วนการตรวจพบเชื้อชนิดนี้ยังน้อยกว่าเชื้ออื่น ซึ่งเชื้อ hMPV สามารถตรวจพบได้ตลอดทั้งปี พบมากในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องจนถึงฤดูหนาว แต่ยังไม่พบรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 
 กรมควบคุมโรคขอแนะนำให้ประชาชนอย่าตระหนกจากการรับข่าว เนื่องจากข้อมูลที่เผยแพร่นั้น มีทั้งข้อมูลจริง และข้อมูลเท็จ ขอให้ติดตาม และเชื่อถือข้อมูลจากหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ สามารถใช้แนวทาง การป้องกันโรคได้เช่นเดียวกับโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ดังนี้

1. ล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทดแทน

2.หลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก

3.สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด

4.หากมีอาการป่วยให้หยุดพักที่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

และสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ  ภายในช่วง 1 สัปดาห์ ให้สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ คัดจมูก    มีไข้ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422