3 ข้อต้องเช็ค ปรับ Mindset รับตลาดผันผวน
แม้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยจะยังคึกคัก โดยดัชนี SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบสองปีที่ 1,705 จุด และช่วยพยุงพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนหลายๆ ท่านไปได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่การลงทุนต่างประเทศที่น่าจะมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยสำหรับนักลงทุนหลายๆ ท่าน ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงท้ายสัปดาห์ก่อนตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2022 ปรับตัวแตะระดับร้อยละ 7.5 (YoY) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และสร้างความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งหลายคนพูดถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC)
ในครั้งหน้าว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ในครั้งเดียว ซึ่งไม่ได้เห็นมานานกว่า 15 ปี รวมถึงมองว่าในปีนี้อาจจะขึ้นดอกเบี้ยมาถึงร้อยละ 1.25 เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับแนวโน้มในช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้ดัชนีสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น S&P500 และ NASDAQ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากดูท่าทีจะยืนอยู่ได้ในช่วงต้นสัปดาห์ ซึ่งนับจากนี้ไปจนถึงการประชุม FOMC ในครั้งหน้า (16-17 มี.ค.) ความอึมครึมในตลาดการเงินก็น่ายังมีอยู่ ซึ่งหากดัชนีปรับตัวลดลงไปอีก อาจทำให้ภาพรวมดูแย่ลง และอาจกลายเป็นขาลงไปเลย หลังจากในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนยังมองว่าเป็นช่วงของการปรับฐานใหญ่เท่านั้น ส่วนการจะทำอย่างไรต่อไปนั้น อยากลองชวนทบทวนประเด็นสำคัญ 3 ข้อสำหรับตลาดรอบนี้กันครับ
- หุ้นปรับฐานเป็นเรื่องปรกติในระดับนี้เป็นเรื่องปกติหรือไม่
ประเด็นแรกกับวลีคลาสสิกที่ว่า “ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง” ซึ่งสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นการปรับฐานไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด โดยปัจจุบันดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแล้วร้อยละ 7.3 นับตั้งแต่ต้นปี (จนถึงวันศุกร์ที่ 11 ก.พ. 22) ส่วนดัชนี NASDAQ Composite ปรับลดลงร้อยละ 11.9 โดยจากรูปเราจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีตลาดสามารถปรับฐานได้ในช่วงร้อยละ 5 ถึง 15 เป็นปรกติ และอาจปรับลดลงไปถึงร้อยละ 30 ขึ้นไปในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น วิกฤติฟองสบู่หุ้นไอที (Dot.com Bubble) ในปี 2000 หรือปัญหาสินเชื่อ Subprime ในปี 2008
ที่มา: Facset, S&P500, JP Asset Management
โดยความผันผวนขาลงมักจะทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเริ่มสั่นคลอนกับเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว โดยเราต้องอย่าลืมว่าการลงทุนในหุ้นนั้นเป็นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในลักษณะการเป็นเจ้าของกิจการร่วม ซึ่งในบางครั้ง หรืออาจจะหลายๆ ครั้งการลงทุนก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดคิดไว้นัก นักลงทุนลงทุนในหุ้นเพื่อคาดหวังรายได้ที่จะได้ในอนาคตทั้งในรูปของราคาหรือเงินปันผล โดยราคาที่เต็มใจจะจ่ายก็จะถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลากหลาย และปัจจัยหลากหลายเหล่านั้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ตาม
- แรงเทขายเกิดจากอะไร และจะทำให้แนวโน้มเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ในรอบนี้ปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นหาใช่ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติแต่อย่างใด แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างโดยเฉพาะในกรณีที่ FED ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างมากจริงๆ จนทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ในกรณีก็ดูจะมีความเป็นไปได้น้อยในภาวะปัจจุบัน
แรงเทขายในปัจจุบันหลักๆ คาดว่าน่าจะเกิดจากการที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับหุ้นในสองช่องทาง ได้แก่ (1) อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้มูลค่าประเมินของหุ้นลดลง (Valuation) โดยปัจจุบันนักลงทุนคาดว่าดอกเบี้ยอาจจะ ซึ่งเร็วกว่าและสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตจากการลงทุนลดลง และ (2) ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงในอนาคต และอาจส่งผลต่อแนวโน้มผลประกอบการในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากข้อมูลในอดีตความผันผวนอาจจะเกิดขึ้นบ้างในช่วงเวลาของการเปลี่ยนถ่ายนโยบายจากผ่อนคลายเป็นเข้มงวด แต่หลังจากนักลงทุนรับรู้และปรับประมาณการ สะท้อนจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 6 ครั้งล่าสุด โดยเฉลี่ยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 13 โดยประมาณ เนื่องจากส่วนใหญ่การขึ้นดอกเบี้ยมักจะอยู่ในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น ซึ่งโดยรวมรอบนี้ก็น่าจะเข้าข่ายในกรณีนี้เช่นกัน แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างร้อนแรงในปีที่แล้ว แต่แนวโน้มในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับศักยภาพของเศรษฐกิจ
- เราลงทุนเพื่อเป้าหมายอะไร ในระยะเวลาเท่าไร
หากเข้าใจว่าการปรับฐานของตลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปรกติ และยังคงเชื่อในแนวโน้มเศรษฐกิจ ปัจจัยที่ต้องพิจารณคือเรื่องของเป้าหมายการลงทุน เป้าหมายของเราเปลี่ยนไปจากเดิมไหม? โดยธรรมชาติตลาดหุ้นจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจในระยะยาว เรายังมาสามารถอดทนรอ หรือมองเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวกว่าช่วงสั้นได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรกับการลงทุนของเราและรอให้ฟื้นกลับคืนมา แต่การปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานะการณ์คือสิ่งที่ควรทำอย่างมาก ซึ่งน่าจะมีหลากหลายบทวิเคราะห์ได้มีการพูดถึงการลงทุนภายใต้เงินเฟ้อสูง การลงทุนภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น สินทรัพย์ที่ทำได้ดีในช่วงเงินเฟ้อ กลยุทธ์การเลือกกองทุนในปี 2022 กันไปเยอะแล้ว ซึ่งนักลงทุนอาจจะหาอ่านกันได้ไม่อยาก
สุดท้ายนี้ ตอบคำถามเรื่องการล้างพอร์ต การลดสัดส่วน เราก็คงต้องกลับมาถามตัวเราเองกลับประเด็นข้างต้นครับ ว่าเรามองอย่างไร และเราควรกังวลกับแนวโน้มปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่หากเราประเมินสถานการณ์ภาพรวมได้ถูกต้อง อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้เราตัดสินใจถูกภายในภาวะที่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ในปัจจุบันครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด