จับตาประเทศใดจะเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัลของโลก?

จับตาประเทศใดจะเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัลของโลก?

จากพัฒนาการและการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่มากขึ้น ทำให้แต่ละประเทศมีนโยบายและแผนดำเนินการรับมือกับสินทรัพย์ดิจิทัลในหลากหลายมิติ ซึ่งมีทั้งประเทศที่มีนโยบายเชิงสนับสนุน

โดยมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์สำหรับลงทุนประเภทหนึ่งและเล็งเห็นโอกาสของประเทศ และมีทั้งประเทศที่มีนโยบายในเชิงปิดกั้น โดยมองว่า สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน

สำหรับภาคธุรกิจ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ได้กลายมาเป็น 1 ในกลยุทธ์ที่หลายองค์กรทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในขณะนี้ โดยผลสำรวจมุมมองของผู้บริหารด้านการเงินเกี่ยวกับบล็อคเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล จาก Deloitte พบว่า

  • 81% เห็นว่าเทคโนโลยีบล็อคเชนสามารถปรับใช้ได้ในวงกว้างรวมถึงสามารถนำไปใช้ในกระแสหลัก
  • 80% เห็นว่าคู่ค้าทางธุรกิจ ซัพพลายเออร์ ลูกค้า หรือคู่แข่งของพวกเขา กำลังหารือหรือพัฒนาเกี่ยวกับบล็อคเชน สินทรัพย์ดิจิทัล หรือสกุลเงินดิจิทัล เพื่อนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่ทางธุรกิจ
  • 78% เห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมของตนมาก หรือค่อนข้างมาก ในอีก 24 เดือนข้างหน้า
  • 73% เห็นว่าองค์กรของตนจะสูญเสียโอกาสในการได้เปรียบในการแข่งขันหากไม่นำบล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้

จากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อสนับสนุนว่าทำไมหลายประเทศจึงอยากจะตั้งตนเป็น “Digital Asset Hub” หรือศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล ของโลก เพื่อดึงดูดนักลงทุน องค์กร และแรงงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศในระยะยาว

      สิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าจับตามอง โดยสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับจาก Coincub เมื่อสิ้นปี 2021 ให้เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับคริปโทมากที่สุดในโลก ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ ระบบเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น สภาพแวดล้อมทางกฎหมายในเชิงบวก และอัตราการยอมรับสกุลเงินดิจิทัลในระดับที่สูง ซึ่งล่าสุด Cointelegraph ได้รวบรวมปัจจัยสนับสนุนของสิงคโปร์ เช่น

1. ภาษีคริปโทเป็นศูนย์ การเทรดคริปโทในสิงคโปร์ไม่มีการเก็บ Capital Gain (เพราะสิงคโปร์ไม่เก็บภาษี Capital Gain อยู่แล้ว) และได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ GST จากการขายหรือจ่ายด้วยคริปโทเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020

        2. อัตราผู้ถือครองสกุลเงินดิจิทัล จากผลสำรวจของ Independent Reserve พบว่า 43% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวสิงคโปร์ถือครองสกุลเงินดิจิทัล ในขณะที่อัตราการถือของของประเทศอื่น ๆ ในผลสำรวจนี้คือ 11.3% สำหรับชาวแอฟริกาใต้ 10.5% สำหรับชาวสหรัฐอเมริกา และ 9.8% สำหรับชาวสวีเดน

        3. สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง สิงคโปร์เป็นหนึ่งใน 87 ประเทศที่ได้นำร่องโครงการสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายในการรองรับสกุลเงินที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถกระจายสกุลเงินดิจิทัลร่วมกับพันธมิตรได้

      4. ส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชน รัฐบาลสิงคโปร์มีการสนับสนุนกองทุนและศูนย์บ่มเพาะเร่งรัด เพื่อเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาบล็อกเชนให้ถูกนำไปใช้ในทวีปเอเชียโดยเฉพาะ เช่น Tribe ที่ปัจจุบันได้ให้ทุนสนับสนุนแก่สตาร์ทอัพมากกว่า 30 แห่ง ด้วยมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

พัฒนาการของเทคโนโลยีบล็อกเชนในสิงคโปร์ยังครอบคลุมตั้งแต่รัฐวิสาหกิจไปจนถึงเอกชน เช่น OpenCerts แพลตฟอร์มสำหรับลงทะเบียนของภาครัฐ ซึ่งอนุญาตให้นายจ้างตรวจสอบใบรับรองการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงของสิงคโปร์ และ HealthCerts ซึ่งเป็นชุดของมาตรฐานดิจิทัลที่ใช้ในการออกผลการทดสอบ COVID-19

รวมไปถึง การใช้บล็อคเชนขององค์กรเอกชนขนาดใหญ่ เช่น Senoko Energy บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ได้ร่วมมือกับ Electrify ซึ่งเป็นตลาดค้าปลีกไฟฟ้า เปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานแบบ peer-to-peer – SolarShare และยังมีอีกหลายธุรกิจที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์รวมของกลุ่มการค้าด้านคริปโทและบล็อกเชนต่าง ๆ เช่น Association of Cryptocurrency Enterprises and Start-ups Singapore (ACCESS) และ Blockchain Association of Singapore

อีกประเทศที่มีนโยบายด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในเชิงบวกคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยศูนย์กลางการค้าโลกของดูไบหรือ DWTCA ได้ประกาศแล้วว่าจะเป็นโซนที่ครอบคลุมและกำกับดูแลสำหรับ “สินทรัพย์เสมือน” รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบการ และแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทอีกด้วย โดยทางหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์และสินค้าของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์หรือ SCA มีมาตรการดังนี้

1. กฎหมายการซื้อขายภายในเขตปลอดภาษีอากร DWTCA ได้ลงนามในข้อตกลง Pro-crypto กับ SCA เพื่อร่างกฎหมายให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและการดำเนินการทางการเงินที่เกี่ยวข้องภายในเขตปลอดอากรของ DWTCA เพื่อดึงดูดนักเทรดทั้งในและต่างประเทศ

2. สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำกับดูแลพื่อให้ประชาชนเข้าถึงคริปโทเข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยประกาศบังคับใช้มาตรฐานที่เข้มงวดในการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงการต่อต้านการฟอกเงิน การต่อต้านเงินสนับสนุนการก่อการร้าย และติดตามเส้นทางของกรณีธุรกรรมข้ามพรมแดนอย่างเข้มงวด

3. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม NFT และกำหนดนโยบายที่สนับสนุน “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” ควบคู่ไปกับการปรับตัวเข้าสู่กระแสการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโท

4. การสนับสนุนสตาร์ทอัพ ด้วยการสร้าง Silicon Oasis Founders (SOF) ที่ช่วยสนับสนุนและหานักลงทุนให้กับสตาร์ทอัพ รวมถึงสนับสนุนธุรกิจที่ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง

เราจะเห็นได้ว่านโยบายและการดำเนินการของทั้งสองประเทศดังกล่าว มุ่งเน้นไปในทิศทางที่เป็นการ “สร้างโอกาส” จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทั้งด้านธุรกิจ การเงิน และเทคโนโลยีระดับสูง แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทย ที่วันนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าองค์ประกอบของประเทศไม่ว่าจะเป็นสภาวะแวดล้อม ทรัพยากร แรงงาน และศักยภาพขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ นั้นมีความได้เปรียบอย่างมาก ขาดแต่เพียงนโยบายในเชิงสนับสนุนจากภาครัฐที่มีวิสัยทัศน์และปฏิบัติได้จริงหรือไม่