ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax)

ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax)

กลางสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศจะนำเรื่องการเก็บภาษีความมั่งคั่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนองบประมาณ 5.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายว่า จะมีการเก็บภาษีจากกำไรที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น (unrealized capital gain / profit) ซึ่งหลายคนสงสัยว่า ยุติธรรมหรือไม่

 นักวิจารณ์หลายคนรีบออกมาดักคอรัฐบาลอเมริกันว่า เรื่องภาษีความมั่งคั่ง เป็นเรื่องที่ฟังดูโก้และถูกใจประชาชนมากในเวลาหาเสียง แต่พอถึงเวลาทำจริง มักจะทำไม่ได้ (เพราะคนออกกฎหมายล้วนแต่เข้าข่ายต้องเสียภาษีนี้กันทั้งนั้น)

            

แต่ไม่ว่าสหรัฐจะออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีความมั่งคั่งได้หรือไม่ ดิฉันคิดว่าประเทศไทยเราก็ต้องศึกษาและเริ่มคิดเรื่องนี้เช่นกัน เพราะตามที่ดิฉันเคยเขียนไปแล้วว่า วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด -19 นอกจากจะทำให้ภาครัฐทั่วโลก สูญเสียงบประมาณไปเพื่อซื้อวัคซีน เพื่อซื้อหา เพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค

ในการเยียวยาประชาชนและเยียวยาพร้อมทั้งฟื้นฟูภาคธุรกิจแล้ว  การจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐ ยังหดหายไปด้วย โดยเฉพาะภาษีเงินได้ (เพราะคนตกงาน ธุรกิจหดหาย) ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีสรรพสามิต (เพราะทุกคนและทุกองค์กร ซื้อของน้อยลง เศรษฐกิจหดตัว)ฯลฯ ดังนั้น ในอนาคต รัฐของทุกประเทศ ต้องพยายามหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม

ภาษีความมั่งคั่ง จึงเป็นทางเลือกข้อเสนอที่ทุกประเทศที่ยังไม่ได้จัดเก็บหรือจัดเก็บในอัตราน้อย กำลังศึกษาอยู่อย่างขะมักเขม้นค่ะ

 กล่าวถึงสหรัฐอเมริกาก่อน สหรัฐอเมริกาเรียกว่า ภาษีเงินได้ขั้นต่ำของเศรษฐีพันล้าน” (Billionaire minimum income tax) คาดว่าคุณกฤษฎาอาจจะนำรายละเอียดมาเสนอเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า หากมีความคืบหน้าหลังจากการหารือนะคะ

แต่ ณ ปัจจุบัน มีการเสนอให้เก็บภาษีในอัตราขั้นต่ำ 20% สำหรับครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3,300 ล้านบาท) โดยคำนวณความมั่งคั่งด้วยมูลค่าตลาด และเรียกเก็บภาษีเป็นรายปี ซึ่งรูปแบบนี้จะคล้ายกับประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส

ข่าวแจ้งว่ามหาเศรษฐีชาวอเมริกันเสียภาษีในอัตราที่แท้จริงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะใช้วิธีกู้เงินมาลงทุนโดยเอาสินทรัพย์เป็นหลักประกัน และอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายก็ต่ำมากๆ เมื่อได้กำไรมาหักดอกเบี้ยแล้วก็ยังเหลือเยอ

คนอเมริกันอาจจะเคยชินกับภาษีอสังหาริมทรัพย์ หรือภาษีที่เก็บจากรายได้กรณีมีกำไรจากการลงทุน แต่ไม่เคยชินกับภาษีที่เรียกเก็บบนกำไรจากมูลค่าการลงทุนที่ถืออยู่โดยที่ยังไม่ได้ขาย คือเป็นเพียงกำไรที่คำนวณได้ว่า หากขาย ณ จุดนั้นๆ จะมีมูลค่าเท่าใด

เช่นเดียวกับการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมค่ะ นอกจากนี้ยังจะเก็บจากของสะสมมูลค่าสูง เช่น งานศิลปะ ตามข่าวไม่ได้แจ้งว่า เพชร พลอย หรือเครื่องประดับของสุภาพสตรี ต้องนำมาคำนวณเป็นฐานเพื่อเสียภาษีหรือไม่

คาดว่าหากมีการบังคับเรียกเก็บภาษีนี้ รัฐจะได้ภาษีเพิ่ม 215,000 ถึง 360,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7.2 ถึง 12.0 ล้านล้านบาท) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

หากมาดูประเทศที่มีการเก็บภาษีความมั่งคั่งนี้แล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเริ่มเก็บมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยถือหลักการว่า สินทรัพย์ทุกประเภทอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีความมั่งคั่งหมด ทั้งเงินฝาก หุ้นทั้งในบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาด

และบริษัทส่วนตัว อสังหาริมทรัพย์ งานศิลปะ เครื่องประดับมีค่า รถยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ มียกเว้นให้สำหรับอุปกรณ์ของใช้และเครื่องไฟฟ้าในบ้าน และเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุงาน โดยเสียภาษีในอัตรา 0.5-0.8% ขึ้นอยู่กับรัฐค่ะ

ในประเทศฝรั่งเศส เรียกภาษีนี้ว่า ISF เริ่มเก็บในปี 1989 โดยเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า 0.5 ถึง 1.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน โดยชำระเป็นรายปีเป็นรายปี มีผู้เข้าข่ายเสียภาษีนี้350,000 ครัวเรือน 

ต่อมาในปี 2018 เมื่อประธานาธิบดีมาครงเข้ามาดำรงตำแหน่ง ก็เห็นว่าครอบคลุมเป็นวงกว้างเกินไป ไม่จูงใจให้คนมั่งคั่งเป็นประชากรฝรั่งเศส จึงมีการปรับข้อกำหนด ทำให้ปัจจุบันนี้มีเพียง 100,000 ครัวเรือนในฝรั่งเศสที่เข้าข่ายต้องชำระภาษีประเภทนี้ค่ะ

สหราชอาณาจักรเป็นประเภทที่มีการทำการศึกษาเชิงรุกมากที่สุด หลังจากเกิดวิกฤติโควิด -19 ก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา คือ The Wealth Tax Commission ทำการศึกษาเสร็จและมีข้อเสนอแนะ ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจจึงขอนำมาสรุปดังนี้ ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลได้จาก www.ukwealth.tax มีทั้งรายงานฉบับเต็ม และบทสรุปผู้บริหาร

ผู้ศึกษาเสนอว่า สหราชอาณาจักรควรจะจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งแบบครั้งเดียว เพื่อให้ได้รายได้มากด้วยวิธีที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ ยากที่จะหลีกเลี่ยง และได้ผลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่มากเกินไป

โดยเสนอให้เก็บจากประชากรทั้งหมด และเก็บบนสินทรัพย์ทุกประเภท เช่นเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์ โดยใช้ราคาตลาดของสินทรัพย์นั้นๆ และยอมให้ทยอยจ่ายภาษี ในอัตรา 5% ของมูลค่าสินทรัพย์ส่วนที่เกิน 500,000 ปอนด์ต่อคน (ประมาณ 22 ล้านบาท) โดยเสนอระยะเวลาจ่ายเป็น 5 ปี ปีละ 1%

ดังนั้น สามีภรรยา ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านปอนด์ หรือต่ำกว่า 44 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีความมั่งคั่ง

ผู้ศึกษาคาดว่า หากเก็บในส่วนที่เกิน 500,000 ปอนด์ต่อคน ในช่วง 5 ปี รัฐจะมีรายได้เพิ่ม 260,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 11.44 ล้านล้านบาท) และหากเริ่มเก็บที่ความมั่งคั่งสูงกว่า 2 ล้านปอนด์ต่อคน (ประมาณ 88 ล้านบาท) รัฐจะมีรายได้เพิ่ม 80,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3.52 ล้านล้านบาท) ในช่วง 5 ปี

ซึ่งหากไม่เก็บภาษีความมั่งคั่ง ทางเลือกอื่นเพื่อที่จะให้ได้รายได้ใกล้เคียงกันใน 5 ปี คือ เพิ่มอัตราภาษีเงินได้ขั้นต้น จาก 20% เป็น 29% หรือ เพิ่มอัตราภาษีเงินได้ทุกประเภทอย่างน้อย 6% หรือ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 20% เป็น 26% หรือ เพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคล 5%และเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 4%

ในขณะที่ประเทศไทย จะพับการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นไปก่อน  จบข่าวค่ะ