เทคโนโลยีรับมือกับ แผ่นดินไหว ของญี่ปุ่น

หลังการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย (เพลตอินเดีย-ออสเตรเลียกับเพลตยูเรเซียชนกัน เป็นแนวเพลตเดียวกับเกาะสุมาตราทางใต้)
ในประเทศเมียนมาสั่นสะเทือนรุนแรงถึง 7.7 ริกเตอร์ มาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างกว่า 1,000 กิโลเมตร ในระดับที่รับรู้ได้ 3 ริกเตอร์สำหรับคนที่อยู่ชั้นล่าง แต่เขย่าแนวราบช้าๆ และค่อนข้างนาน (long period ground motion)
ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ใกล้สวนจตุจักรที่กำลังก่อสร้างอยู่ถล่มลงมา กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการก่อสร้างและรับมือกับภัยพิบัติของไทยจากนี้ไป
ประเทศญี่ปุ่นมีประสบการณ์เผชิญภัยพิบัติแผ่นดินไหวมาอย่างยาวนาน จากงานเสวนา “จากประวัติศาสตร์สู่อนาคต : มองความสัมพันธ์ 100 ปีไทย-ญี่ปุ่นผ่านเทคโนโลยีและสังคม” จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา
ยังพูดคุยกันว่าแม้สหรัฐอเมริกาและจีนอาจดูนำหน้าญี่ปุ่น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเอไอนั้น แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้หายไปไหน แม้ปัจจุบันญี่ปุ่นอาจจะไม่ใช่ผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือสินค้าผลิตราคาถูกที่เกิดจากระบบการผลิตแบบโมดูลาร์ที่จีนได้เปรียบอยู่ก็ตาม
แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากมาย ไม่ว่าจะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ การประหยัดพลังงาน การลดคาร์บอนและมาตรการสิ่งแวดล้อม การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการรับมือกับสังคมสูงวัยระดับสุดยอด
ญี่ปุ่นมีนวัตกรรม อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ และระบบที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูง สั่งสมประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน พร้อมแลกเปลี่ยนให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ตามที่ประกาศใน White Paper on International Economy and Trade ตั้งแต่ปี 2554
ผู้เชี่ยวชาญการรับมือกับแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น สรุป 5 ประเภทเทคโนโลยีหลัก ได้แก่
1) วิศวกรรมต้านแผ่นดินไหว
ในสาขาวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรม มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการออกแบบการสร้างถนนหลวง สะพานขนาดใหญ่ และอาคารสูงหลายชั้น สะสมองค์ความรู้การก่อสร้างโครงสร้างประเภทนี้ในพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวมากมาย โดยรับประกันความปลอดภัยจากการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวว่าอาคารจะไม่ถล่มลงมา
2) การติดตั้งเครื่องวัดการสั่นสะเทือนและการแจ้งเตือนภัยสึนามิ
ในบริเวณพื้นที่ที่จัดเป็น “แถบภัยพิบัติ” โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยารับผิดชอบการดูแลสถานีตรวจวัดการสั่นสะเทือนที่มีประมาณ 600 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแจ้งการเกิดแผ่นดินไหวและเตือนภัยสึนามิอย่างรวดเร็ว เชื่อมต่อกับระบบการสื่อสารทางโทรศัพท์และดาวเทียม
นอกจากนี้ หน่วยงานป้องกันอัคคีภัยก็ติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในแต่ละเขตเทศบาลทั่วประเทศ ขณะที่หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ติดตั้งเครือข่ายสังเกตการณ์ K-NET ประกอบด้วยเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือน 1,000 เครื่องครอบคลุมทั่วประเทศเช่นกัน
3) ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวล่วงหน้า หรือ ยูเรดัส (UrEDAS)
เป็นระบบรับมือกับแผ่นดินไหวแบบเรียลไทม์ที่ได้รับความสนใจในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้ ซึ่งรถไฟ JR ได้ติดตั้งไว้ในรถไฟชินคันเซน
เนื่องจากรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงจะหยุดทันทีไม่ได้ จึงต้องการตรวจจับการสั่นสะเทือนใกล้แหล่งกำเนิดก่อนที่คลื่นจะมาถึงทางรถไฟ และรีบแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดการสั่นสะเทือนใหญ่
ระบบนี้สามารถประมาณขนาดของแผ่นดินไหวและตำแหน่งของแหล่งกำเนิดจากการสังเกต P-wave (การสั่นแบบแนวตั้ง) และส่งสัญญาณเพื่อเตรียมตัวก่อนที่ S-wave (การสั่นแบบขวาง) จะมาถึง เพื่อทำให้รถไฟชะลอลงหรือหยุดลง
ทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็วิจัยและพัฒนาระบบการเตือนภัยที่เรียกว่า NOWCAST ซึ่งทำงานคล้ายกับยูเรดัส เพื่อคาดการณ์คลื่นแผ่นดินไหวล่วงหน้าเช่นกัน
4) ภาพถ่ายดาวเทียมประเมินความเสียหาย หรือ วิทยาศาสตร์ป้องกันภัยพิบัติจากอวกาศ
ความเสียหายจากแผ่นดินไหวในเมืองจะกระจายเป็นวงกว้างและหลากหลาย ต้องมีระบบประเมินความเสียหายที่แท้จริงในพื้นที่ที่ประสบภัยโดยเร็วที่สุดภายในไม่กี่ชั่วโมง เพื่อประเมินความเสี่ยง ภาวะฉุกเฉิน และการประกาศการเกิดภัย ซึ่งสำคัญยิ่งต่อการวางแผนฉุกเฉิน การฟื้นฟูชั่วคราว และการเคลมประกันภัย
ระบบ GIS (Geographic Information System)
ได้รับความนิยมอย่างมาก รวมทั้งการใช้เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน บอลลูน ระบบเซนเซอร์ (ได้แก่ กล้องและเซนเซอร์ออปติก) รวมทั้งเรดาร์ที่ใช้ห้วงคลื่นไมโครเวฟ (SAR) ก็ใช้งานมากขึ้นในปัจจุบัน
5) เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) เสมือนจริงจำลองสถานการณ์ ขยายตัวไปในหลากหลายสาขา
เช่น โปรแกรมจำลองการบิน จำลองการขับขี่ การควบคุมหุ่นยนต์จากระยะไกล การฝึกอบรมทางการแพทย์หรือการทำศัลยกรรมขนาดเล็ก รวมถึงการออกแบบพื้นที่สถาปัตยกรรม ข้อดีของ VR สามารถจำลองประสบการณ์ที่ยากจะพบในโลกแห่งความเป็นจริงได้
หรือสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้ง่ายเพื่อทดสอบพารามิเตอร์ต่างๆ รวมทั้งวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ในเวลาเกิดภัยพิบัติ มีการใช้กราฟิกคอมพิวเตอร์ (CG) พัฒนาโปรแกรมจำลองการเลือกเส้นทางหลบหนี จากประสบการณ์จริงของผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติ
ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ VR กับการศึกษาและการฝึกอบรมคนทั่วไปให้มี “ประสบการณ์แผ่นดินไหวเสมือนจริง” จำลองการป้องกันภัยพิบัติได้ในระดับหนึ่ง
ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งในไทยเองก็มีหลายหน่วยงานศึกษาและวิจัยกันอยู่
จากเหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่ได้จบแค่การวิจารณ์การก่อสร้างอาคารสูงของไทย ที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ต้านแผ่นดินไหวแม้ในระหว่างการก่อสร้าง หรือการโยนความผิดไปให้ Made in China หรือความชะล่าใจของการสร้างสระว่ายน้ำบนชั้นดาดฟ้าของคอนโดสูงเท่านั้น
แต่หวังว่าจะนำไปสู่การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ของคนไทยเอง รวมทั้งการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังต่อไปในอนาคต เพราะภัยพิบัติแผ่นดินไหวอยู่กับคนไทยนับตั้งแต่วันนี้แล้ว.