เมื่อนิวยอร์กปรับกฎหมายป้องกันทุจริตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2566 สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งรัฐนิวยอร์ก ได้เปิดเผยการเสนอร่างกฎหมาย Crypto Regulation, Protection, Transparency and Oversight Act (CRPTO) เพื่อเพิ่มบทบาทในการป้องกันการฉ้อโกงจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในนิวยอร์ก
พร้อมทั้งให้หน่วยงานภาครัฐอย่าง New York State Department of Financial Services (NYDFS) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน มีอำนาจให้ใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสและเพื่อคุ้มครองนักลงทุน
สาเหตุการปรับกฎหมาย
ในเอกสารที่เผยแพร่โดยสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งรัฐนิวยอร์ก ระบุว่า ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในนิวยอร์กเติบโตอย่างรวดเร็ว และตรวจพบว่านักลงทุนจำนวนมากสูญเงินลงทุนในรูปของการลดลงจากมูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซี
ประกอบกับการโดนฉ้อโกง การสร้างราคา (market manipulation) การดำเนินธุรกิจที่คลุมเครือ คิดเป็นเงินรวมกว่าแสนล้านดอลลาร์
หนึ่งในสาเหตุ คือ การขาดกฎหมายที่ตรวจสอบและควบคุมธุรกิจนี้อย่างจริงจังในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทใหม่ที่มีความเสี่ยงเฉพาะตัวในลักษณะที่แตกต่างจากบริการทางการเงินในอดีต จึงจำเป็นที่ต้องปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำกับดูแลธุรกิจและปกป้องเงินของนักลงทุน ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับบริการทางการเงินประเภทอื่น
ลด Conflicts of Interest ของธุรกิจคริปโทฯ
อีกหนึ่งในเหตุผลของการที่รัฐเข้ามาควบคุมมากขึ้น คือการศึกษาของสำนักงานอัยการ พบว่า มีการทำธุรกิจในลักษณะ “ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดกัน” ที่เป็นผลเสียต่อนักลงทุนและเป็นปัจจัยลบต่อการส่งเสริม
การแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดคริปโทฯ เช่น กรณีบริษัท Terraform Labs ผู้สร้างเหรียญ Luna ซึ่งเป็นโทเคนที่มีคุณสมบัติเป็น DeFi และ Governance Token ของแพลตฟอร์ม Terra
ผู้ใช้งานสามารถนำเหรียญดังกล่าวไปสร้าง Stablecoin ที่ใช้ในการ Stake เพื่อทำธุรกรรมบน Terra Chain และในขณะเดียวกันบริษัทก็ได้สร้างแพลตฟอร์ม Anchor สำหรับฝากหรือออมเหรียญที่ให้บริการบน Terra chain
ซึ่งมีออฟชันทั้งการให้กู้ยืมและการค้ำประกันเหรียญ Luna โดยในทางปฏิบัติได้ออกข้อกำหนดหลายรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนแบบจูงใจในการลงทุน Luna หรือ Anchor
จากตัวอย่างข้างต้น การดำเนินธุรกิจในลักษณะดังกล่าวโดยบริษัทเดียวกัน จึงอาจก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสได้โดยง่าย ทั้งยังตรวจพบการกำหนดมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีความแน่นอน ผันผวน และง่ายต่อกันปั่นราคา หรือสร้างอุปสงค์เทียม อันเป็นผลเสียต่อตลาดและนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เสนอแก้ไขกฎหมายเดิม
ในหลักการตามข้อเสนอของสำนักงายอัยการ การแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่
- แก้ไขกฎหมายธุรกิจ ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล
- แก้ไขกฎหมายการให้บริการทางการเงิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มอำนาจให้ NYDES ในการกำกับดูแล และออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โบรเกอร์ ตลาดซื้อขาย ผู้ให้คำแนะนำการลงทุน และผู้เสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล
- กฎหมายภาษี เพื่อกำหนดให้การชำระราคาหรือเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดทำรายงานตามกฎหมาย
เพิ่มหมวด “สินทรัพย์ดิจิทัล” ในกฎหมายธุรกิจ
ข้อเสนอที่สำคัญในการแก้กฎหมายครั้งนี้ คือการเพิ่มหลักการเรื่อง “สินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นหมวดเฉพาะในกฎหมายธุรกิจ ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ การป้องกันการฉ้อโกงหรือการทุจริตที่ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลาง
การสร้างระบบขึ้นทะเบียน/การให้ใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และบทลงโทษผู้กระทำความผิด โดยมีจุดมุ่งหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน
ในหมวดการเพิ่มเติมกฎหมายธุรกิจ มีข้อกำหนดหลายบางประการที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ข้อห้ามในการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่รับอนุญาต (Unauthorized transfer) ซึ่งหากฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวจะมีความผิดตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดข้อห้ามต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น ห้ามประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบอื่นนอกจากที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนี้
(กฎหมายฉบับนี้เสนอให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ 4 ประเภท broker, issuer, marketplace และ investment adviser กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายฉบับนี้ จะต้องเปิดเผยเอกสารต่อสาธารณชน
โดยต้องระบุว่าได้ทำตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้ว และผู้ประกอบธุรกิจทุกรายจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย
ที่สำคัญกฎหมายยังกำหนดห้ามอ้างอิงราคาสินทรัพย์ดิจิทัลใด กับ Stablecoin หรือมีการกล่าวอ้างว่าสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดมีคุณสมบัติเทียบเท่า stablecoin เว้นเสียแต่จะมีการอ้างอิงในอัตราส่วน 1:1 กับ ดอลลาร์หรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ตามที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ หากมีการออกเหรียญในลักษณะดังกล่าว จะต้องมีการคงสินทรัพย์ที่อ้างอิงนั้นไว้ตลอด ซึ่งหากฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวจะถือเป็นการประกอบธุรกิจโดยไม่ชอบตามกฎหมายฉบับนี้
แก้กฎหมายภาษีให้ธุรกิจต้องรายงานข้อมูล
กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการในนิวยอร์ก และได้รับการชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนเกินกว่า 5,000 ดอลลาร์ จากผู้ชำระราคาที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ต้องรายงานธุรกรรมดังกล่าว รวมถึงระบุตัวผู้จ่ายให้ภาครัฐทราบตามข้อกำหนดของกฎหมายภาษีด้วย
ท้ายที่สุด ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการแห่งรัฐนิวยอร์ก ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งในสหรัฐ ที่เสนอหลักการหลายประการในการกำกับธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าสนใจ