ความท้าทายในการกำกับโทเคนดิจิทัล | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
บทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงโทเคนดิจิทัล รวมถึงความท้าทายในการกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลแบบพร้อมใช้
ความแตกต่างระหว่างคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล
ตามหลักการของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล มีลักษณะและวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่ต่างกัน กล่าวคือ ในขณะที่คริปโทเคอร์เรนซีมีลักษณะการใช้งานที่มุ่งเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ แต่โทเคนดิจิทัลมีวัตถุประสงค์ในการบันทึกเพื่อกำหนดสิทธิในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ Investment token ที่สร้างขึ้นเพื่อบันทึกและกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน และ Utility Token ที่สร้างขึ้นเพื่อบันทึกและกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ โดย Utility Token นี้เองที่ถูกแบ่งออกเป็น “แบบไม่พร้อมใช้” และ “พร้อมใช้”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในต่างประเทศมักเรียกรวมสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่างๆ ว่า Crypto-assets และการกำกับดูแลจะพิจารณาจาก Crypto-asset activities ซึ่งพิจารณาจากลักษณะและรูปแบบในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ (ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายในส่วนต่อไป)
การกำกับดูแลภายใต้กฎหมายปัจจุบัน
สำหรับไทย คริปโทเคอร์เรนซีไม่มีคุณสมบัติเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.เงินตรา และภาครัฐไม่สนับสนุนให้นำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
โดยได้มีการออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการ เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ
ดังนั้น ในปัจจุบัน การกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซี คือ การกำกับตัวกลางในการซื้อขาย หรือผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในตลาดรองเป็นหลัก เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
สำหรับโทเคนดิจิทัล ได้มีการกำกับเฉพาะการเสนอขาย Investment Token และ Utility Token แบบไม่พร้อมใช้เท่านั้น โดยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อยู่ภายใต้กำกับจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า กฎหมายปัจจุบันไม่ได้กำกับโทเคนดิจิทัลแบบพร้อมใช้
หลักการกำกับดูแลที่ดี
หลักการ “Same activity, Same risk, Same regulation” ได้ถูกหยิบยกมาใช้เป็นเกณฑ์พื้นฐานในการกำกับดูแลในสถานการณ์ที่มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจมีการให้บริการที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ต่างจาก traditional finance ในแบบเดิม
เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบหรือช่องทางการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการนั้น จะต้องถูกกำกับดูแลไม่ต่างจากการให้บริการในรูปแบบเดิม และผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทเดียวกันจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลในแบบเดียวกัน
ซึ่งในทางปฏิบัติ การพิจารณา Same risk คือ การพิจารณาลักษณะของกิจกรรมที่ทำเป็นที่ตั้ง (Activity-based approach) โดยเกณฑ์การกำกับดูแลจะต้องกำกับรูปแบบกิจกรรมที่คล้ายกันให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน (Same regulation) เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด
สำหรับไทย แนวนโยบายในการย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ เช่น Investment token และ Utility token ไม่พร้อมใช้ ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเดียวกันกับการออกหลักทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์นั้นมีความชัดเจน และภาครัฐอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเหมาะสม
เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งสองประเภทดังกล่าว ในทางปฏิบัติมีลักษณะไม่ต่างจากการระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนมีความคาดหวังในการได้รับผลตอบแทนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
หรืออาจมีการออกโทเคนดิจิทัลที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์จากสินค้าหรือบริการไว้ในอนาคต โดยผู้ถือครองจะยังไม่สามารถใช้ หรือได้ประโยชน์ตามที่ผู้เสนอขายเสนอได้กำหนดไว้ในวันที่เสนอขายครั้งแรกได้
ความท้าทายในการกำกับดูแล : โทเคนดิจิทัลแบบพร้อมใช้
อย่างไรก็ดี “โทเคนดิจิทัลแบบพร้อมใช้” คือ อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงรูปแบบของกิจกรรมเป็นสำคัญ กล่าวคือ หากโทเคนดิจิทัลแบบพร้อมใช้ มีการลักษณะเพื่อการใช้ประโยชน์แบบพร้อมใช้ โดยมีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจงและพร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์
เช่น บัตรกำนัล คูปอง หรือใบรับรองที่ออกในรูปแบบดิจิทัลที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองและพร้อมใช้งานได้ทันที หรือ NFT ที่มีการให้สิทธิในงานศิลปะแขนงต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัล และมีการกำหนดสิทธิเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ถือครอง NFT เหรียญนั้น
ดังนั้น การออกโทเคนดิจิทัลเหล่านี้จึงมี ลักษณะคล้ายกับ finished products มากกว่าเป็น Financial Products เนื่องจาก ไม่ต้องรอให้ผู้ออกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แล้วเสร็จก่อน
ส่งผลให้เหรียญมีสภาพพร้อมใช้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ใดในอนาคต จึงไม่ควรต้องถูกกำกับด้วย financial regulation และไม่ต้องขออนุญาตในการเสนอขาย อย่างเช่นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มหลักทรัพย์
อย่างไรก็ดี โทเคนดิจิทัลพร้อมใช้ในปัจจุบันมีการพัฒนาที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบ DLT รายหนึ่งอาจมีการออกเหรียญที่กำหนดสิทธิในรูปแบบต่างๆ หรือกำหนดให้เหรียญสามารถใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการเฉพาะที่อยู่บนแพลตฟอร์มของผู้ตนได้
ตัวอย่างเช่น อาจเป็นเหรียญที่กำหนด Reward schemes ให้กับลูกค้า หรือใช้เพื่อเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม กรณีเช่นนี้กิจกรรมดังกล่าวควรต้องถูกกำกับหรือไม่?
ในความเห็นของผู้เขียน เพื่อตอบคำถามในข้างต้น แนวทางที่ใช้ในการพิจารณา ควรเริ่มจากการพิจารณาว่า กิจกรรมเช่นว่านั้นมีวัตถุประสงค์ในแบบ financial purpose หรือไม่ คือมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุน ลงทุน หรือเพื่อการชำระราคาหรือไม่ ซึ่งอาจต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ ประกอบกัน
เช่น หากการออกเหรียญมีวัตถุประสงค์เพื่อตรึงมูลค่าของเหรียญโดยการอ้างอิงกับสกุลเงิน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อกำหนดและคงมูลค่าของเหรียญตาม asset ที่อ้างอิงนั้น ในกรณีนี้ ผู้ออกอาจมีวัตถุประสงค์ให้เหรียญมีลักษณะเป็น e-money token ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับการเป็นสื่อกลางในการชำระราคา (Means of Payment)
อันควรถูกกำกับในลักษณะเดียวกันกับผู้ให้บริการระบบชำระเงินในปัจจุบัน ทั้งนี้ อาจต้องพิจารณาถึงขอบเขตการให้บริการว่าเป็นการให้บริการเฉพาะบนแพลตฟอร์มของตน หรือมีการให้บริการที่หลากหลายประกอบด้วย
โดยสรุป ควรพิจารณาว่าการออกเหรียญดังกล่าวมีลักษณะคล้ายผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทใด และผลิตภัณฑ์เช่นว่านั้นกำกับโดยหน่วยงานและกฎเกณฑ์ใด เหรียญดังกล่าวที่ออกมานั้น ก็ต้องถูกกำกับในลักษณะที่ไม่แตกต่างตามหลัก “Same activity, Same risk, Same regulation” ที่ได้กล่าวมาข้างต้น